ไกล่เกลี่ยไม่แก้ปัญหา ‘คุกคามทางเพศ’ แนะ ทำงานเชิงรุกแก้ไขเชิงโครงสร้าง

ภาคีเครือข่าย ฯ พบ ปัญหาการคุกคามทางเพศในสังคมไทยถูกซุกอยู่ใต้พรม แม้สังคมจะมีการรับรู้มากขึ้นแต่ยังพบ กฎระเบียบของรัฐ คือความท้าทายงานด้านนี้ แนะ รัฐทำงานเชิงรุกยึดผู้ถูกกระทำเป็นศูนย์กลาง และต้องแก้ไขในเชิงโครงสร้าง 

ปัญหาการคุกคามทางเพศมีอยู่ในทุกพื้นที่ ทุกบริบทของสังคมไทย แต่ที่ผ่านมาสิ่งเหล่านี้ถูกซุกอยู่ใต้พรม  โดยก่อนหน้านี้เรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศถูกพูดกันมาหลายเวที แต่พบว่าปัญหายังคงเกิดขึ้นในพื้นที่ต่าง ๆ ขณะเดียวกันมีความพยายามสร้างกลไก ​ลดปัญหาการคุกคามทางเพศ สามรถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ 

เครือข่ายเสริมสร้างความเข้มแข็ง Gender Studies and Justice ในประเทศไทย ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย  จัดกิจกรรม Gender Studies Series Talk ครั้งที่ 5 หัวข้อ “สร้างพื้นที่ปลอดภัยจากการคุกคามทางเพศ” เพื่อสะท้อนสถานการณ์การคุกคามทางเพศในประเทศไทยในปัจจุบัน และการทำงานของเคือข่ายที่ทำงานเกี่ยวข้อง พร้อมระดมความคิดเห็นเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ธารารัตน์ ปัญญา  เครือข่ายการยุติการคุกคามทางเพศในขบวนการประชาธิปไตย และเป็นทนายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องคดีที่เกี่ยวกับเหตุแห่งความรุนแรงทางเพศการ กล่าวว่า การออกมาพูดถึงประสบการณ์การคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้น พบว่าหลังจากกระแส #Metoo เมื่อปี 2017 ที่ผู้เสียหายที่เคยถูกคุกคามทางเพศมีความกล้าหาญที่จะออกมาพูด ออกมาสื่อสารเรื่องของตัวเองผ่านสื่อสาธารณะสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จนถึงวันนี้บรรยากาศเริ่มแตกต่างออกไป คนกล้าหาญที่จะพูดมากขึ้น สามารถที่จะแบ่งปันเรื่องราวตัวเองได้ โดยไม่รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายหรือน่าอาย ทำให้เห็นว่าคนในสังคมคิดว่าเรื่องนี้ควรแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน 

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพูดถึงมากขึ้นก็จริงแต่ปัญหายังไม่ได้ถูกแก้ไข ยกตัวอย่างปัญหาการคุกคามทางเพศที่เกิดขึ้นภายในขบวนการประชาธิปไตย หลังจากเกิดเหตุการณ์มีคนออกมาพูด แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้ถูกเพิ่มเข้าไปในการถกเถียงเพื่อแก้ปัญหา 

อีกทั้งพบว่า พบการคุกคามทางเพศในขบวนการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยมานานแล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีระบบสนับสนุนที่สามารถรองรับให้ความช่วยเหลือเยียวยาได้อย่างเป็นระบบ  ที่จะแนะนำว่าต้องทำอย่างไรเวลาเกิดเหตุ อย่างกรณีที่ต้องดำเนินคดีต้องทำอย่างไร เมื่อมีเคสเกิดขึ้นผู้ใหญ่มักไม่หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ  กลายเป็นผู้ถูกกระทำต้องดำเนินการเอง 

“พอเป็นแบบนี้นุ่นเอง (ธารารัตน์) กับเพื่อนที่ทำงานในขบวนการประชาธิปไตยเห็นปัญหา จึงมองว่าควรและจำเป็นจะต้องมีกลุ่มและเครือข่ายที่ทำงานออกแบบระบบ และกลไกที่จะรับเรื่องร้องเรียนเคสการคุกคามทางเพศ เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุน เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนที่เข้ามา”

สอดคล้องกับ จอมเทียน จันสมรัก เฟมินิสต์นักเขียนและนักกิจกรรมและผู้ก่อตั้งกลุ่ม Break The Silence TH  ทำงานประเด็นเรื่องความรุนแรงทางเพศ  กล่าวว่า การคุกคามทางเพศถูกพูดขึ้นมาแล้วใน สังคมออนไลน์ แต่ในโลกความเป็นจริงยังไม่ใช่เรื่องที่พูดถึงได้ง่ายในตอนนี้ 

“ถึงแม้เราพูดกันได้แต่ถามว่ามีกลไกการแก้ปัญหาพัฒนาไหม มองว่าไม่ได้รู้สึกว่าพัฒนาไปขนาดนั้น บางจุดที่พัฒนาเพราะว่ามีกลุ่มคนที่อยากทำเรื่องนี้เริ่มฟอร์มตัวมากขึ้นหลังปี 2019 มีการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่พูดถึงเรื่องนี้กันเยอะขึ้นมาก ก็สามารถอุดช่องว่างได้ แต่ในเชิงระบบโครงสร้างจริง ๆ จะมีมหาวิทยาลัยสักกี่แห่งที่มีโครงสร้างเรื่องนี้มา และถ้าพูดถึงระบบของรัฐในการนำเสนอเชิงนโยบายที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่านโยบายสำหรับความปลอดภัยของผู้หญิง หรือความปลอดภับเนื่องจากเหตุแห่งเพศ มันยังไม่คม คนที่ทำงานในภาครัฐยังไม่เห็นความสำคัญมากพออย่างที่เราเห็น” 

รุอร พรหมประสิทธิ์ นักศึกษาปีที่ 4 และคณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและเข้าใจทางเพศ คณะสังคมวิทยา และมนุษยวิทยามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าในส่วนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยเฉพาะคณะสังคมศาสตร์กลุ่มทำงานด้านนี้ชัดเจน เมื่อมีคนที่รู้สึกถูกคุกคามเขาจะเข้ามาปรึกษา เราไม่ได้ออกความเห็น แต่พยายามจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน  ทั้งนี้กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยพบว่า คนรับรู้ และพูดถึงเรื่องการคุกคามทางเพศมากขึ้น 

“ใน 2 เดือนที่แล้ว ม.ธรรมศาสตร์ มีเลือกตั้งใหญ่คือองค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา พบว่าทุกพรรคการเมืองในมหาวิทยาลัยออกนโยบายเกี่ยวกับเรื่องเพศทุกพรรคและมีหลากหลายมาก ทั้งแบบเรื่องผ้าอนามัย ถึงขั้นมีคลินิกสุขภาพเพศก็มีทุกพรรคมีหมดเลย ส่วนตัวมองว่าถ้าอยากรู้ว่าสังคม ณ ตรงนั้นมีอะไรอยู่ และเผชิญอยู่ ให้มองที่นโยบาย  ตั้งแต่อยู่ปี 1 มาไม่เคยเจอนโยบายเรื่องเพศเลย จนปี 4 มากขึ้นทุกปี”

ขณะที่ด้านของสถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย ผศ.ไพบูลย์ เฮงสุวรรณ อาจารย์ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  กล่าวว่า มีความพยายามในการทำข้อมูล และฝังเครื่องมือให้กับผู้หญิง โดยที่ผ่านมาศูนย์สตรีศึกษาสนับสนุนองค์กรผู้หญิงเพื่อเสริมอำนาจผู้หญิงในสังคมไทยให้มีศักยภาพมากขึ้นเพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างเพศ ทำในเรื่องการพัฒนากลุ่มผู้นำสตรีให้มีศักยภาพสามารถที่จะเข้าไปทำงานกับปัญหาเรื่องการคุกคามทางเพศได้ พร้อมกล่าวว่า การคุกคามทางเพศเป็นส่วนหนึ่งในเรื่อง gender based violence ขณะนี้ พบว่า ข้อมูลการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัยไม่มีข้อมูลปรากฏ ไม่มีการศึกษา ไม่มีตัวเลขแสดง ซึ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีปัญหา แต่ปัญหาถูกซุกไว้ใต้พรหม ปัจจุบันได้ทำแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อสำรวจความเห็นนักศึกษาต่อการคุกคามทางเพศ ในมหาวิทยาลัยอย่างไร 

“เราออกแบบสำรวจออนไลน์โพสต์เข้าไปในกลุ่มประชาคม มช. มีสมาชิกในนั้น 99,000 คน ทำมาแล้วประมาณ 4 วัน และตอนนี้กำลังรวบรวมข้อมูล ตอนนี้มี 15 คน ที่เข้ามาทำแบบสอบถาม พบว่า 70 % ที่เคยถูกคุกคามทางเพศ  สอดคล้องกับข้อมูลที่เคยศึกษามาว่า 70-80 % ผู้หญิงที่เป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรีเคยถูกคุกคามทางเพศ”

จุดร่วมของปัญหาการคุกคามทางเพศ คือการถูกปิดเอาไว้ ความเข้าใจเรื่องเพศ และการเข้าถึงการช่วยเหลือและเยียวยาในประเทศไทยยังไม่เอื้อให้ผู้กับผลกระทบมากพอ จึงจำเป็นต้องทำงานเชิงรุกเพื่อให้ผู้ถูกกระทำ รู้สึกปลอดภัย และทำให้คนเหล่านี้เข้าถึง กระบวนการที่จะช่วยเหลือ หรือกระบวนการยุติธรรมได้ 

รุอร กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดและยังแก้ไขไม่ได้ในตอนนี้และหวังว่าจะแก้ไขในอนาคตคือ ปัญหาที่ว่าด้วยโครงสร้างของมหาวิทยาลัยที่มีความปิตาธิปไตยอยู่ค่อนข้างมาก ตั้งแต่กฎระเบียบที่ร่างไว้และไม่ครอบคุม อย่างเรื่อง sexual assault (การข่มขืน) ไม่ครอบคลุม​ ซึ่งโครงสร้างของมหาวิทยาลัยยังไม่เอื้อให้กับการขับเคลื่อนเรื่องนี้มากพอ 

ขณะที่ จอมเทียน กระบวนการในการสนับสนุนผู้เสียหายในในประเทศไทยไม่มีความละเอียดอ่อน ทำให้สัดส่วนของผู้เสียหายที่มาแจ้งความ ที่น้อยอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก  เราสร้างทีมอบรมคนรุ่นใหม่ ทนายหลายคนที่สนใจทำงานด้านนี้ ให้คำนึงถึงความต้องการของผู้เสียหาย ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางจิตใจของผู้เสียหาย ยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง แต่พบความท้าทายหลายอย่างมากโดยเฉพาะกฎระเบียบของรัฐ 

“คาดหวังว่ารัฐ จะระบุหลักการเหล่านี้ระบุลงไปในหลักสูตรของคนที่จะมาทำงานเชิงรุกกับผู้เสียหายทั้งทนายของรัฐ ศาล ตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ คนทุกคนที่อยู่ในระบบและขยายไป ในวงการสาธารณสุขด้วยเพราะว่า เขาก็คือผู้เล่นที่มีบทบาทมากในการสนับสนุนเคส ถึงแม้ว่าตอนนี้คุณจะมองไม่เห็นสักเท่าไร”

นอกจากความท้าทายเรื่องระเบียบของรัฐแล้ว คนที่จะเข้ามาทำงานในขบวนการนี้ในส่วนของภาครัฐยังไม่เพียงพอ งบประมาณไม่เพียงพอ หากจะพูดเรื่องการแก้ปัญหา มองว่าคุณภาพของคนที่ทำงานเชิงรุก กับการสนับสนุนคนทำงานเป็นสองเรื่องที่ต้องคุยกัน

ด้าน ธารารัตน์ มองว่า องค์กรที่ทำงานควรมีการจัดอบรมเรื่องเพศ เพื่อทำให้คนที่ทำงานในองค์กรมีความเข้าใจ อาจไม่ใช่เพียงเรื่องการคุกคามทางเพศเท่านั้น คาดว่าหากคนในองค์กรมีความเข้าใจเรื่องเพศจะนำมาซึ่ง สภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นมิตรกับทุกคน  นอกจากนี้ควรมีการทำงานกับผู้ที่กระทำผิดในเรื่องของการคุกคามทางเพศเพื่อให้เขามีความเข้าใจว่าสิ่งที่ทำนั้นกำลังละเมิดสิทธิของผู้อื่นและเป็นเรื่องที่ผิด 

ด้าน ผศ.ไพบูลย์ เสนอมุมมองว่า ผู้บริหารองค์กร ผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ หรือนักกฎหมายมองปัญหาแล้วต้องเห็นว่า เรื่องการไกล่เกลี่ย ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะจะพบอำนาจเหนือที่ยังดำรงอยู่ในขบวนการนี้ 

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายว่าและควรถูกแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง และผลักเอาหลักการที่ถูกต้อง ที่ควรจะเป็นในการทำงาน ประเด็นเรื่องของการคุกคามทางเพศให้ไปอยู่ในระบบต่าง ไม่ใช่เพียงแค่การตั้งระบบขึ้นมา แต่ไม่ได้ยึดถืออะไรในหลักการปฏิบัติ หากยังเป็นเช่นนี้อยู่ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active