ภาคประชาชน จับมือ กทม. จัด “บางกอกไพรด์ 2023” ระยะทาง 1.4 กม.

ยกระดับสู่ชาติแรกในเอเชีย เจ้าภาพ World Pride 2028 พัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ โชว์ศักยภาพสู่สายตาชาวโลก อีกจิ๊กซอว์กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ 

วันนี้ (18 พ.ค.66) เครือข่ายภาคประชาชนในนาม บริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด แถลงข่าวการจับมือกรุงเทพมหานคร พร้อมภาคประชาสังคมและภาคเอกชน จัดงาน “บางกอกไพรด์ 2023 (Bangkok Pride 2023) เพื่อสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยและพื้นที่สร้างสรรค์ทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) โดยในปีนี้จัดใหญ่กว่าที่เคย ภายใต้แนวคิด “Beyond Gender ประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศใดที่คุณอยากก้าวข้าม” ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจของชุมชน LGBTQIAN+ พร้อมทั้งสร้างความตระหนักรู้และเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับความเท่าเทียมในสังคมไทยในทุกมิติ

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งบริษัท นฤมิตไพรด์ จำกัด กล่าวถึงการจัดงาน บางกอกไพรด์2023 ในครั้งนี้ว่า พร้อมเป็นพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ ได้แสดงออกและเรียกร้องสิทธิในด้านต่าง ๆ ที่ควรได้รับ และโชว์ศักยภาพ ความสามารถ ความเข้มแข็งให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาสังคมไทยและสังคมโลกงานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ในการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจให้หมุนเวียนในประเทศ 

อย่างไรก็ตาม การจัดงานบางกอกไพรด์ในปีนี้เราตั้งเป้าหมายในการเข้าร่วมเป็นเครือข่าย rainbow cities network เพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกเพศ และคว้าโอกาสสำคัญในการพากรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพการจัดงาน World Pride ในปี 2028 หากทำได้สำเร็จจะถือว่าเป็นประเทศแรกในเอเชียและเป็นการเปิดประตูความหลากหลายทางเพศให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้

“เราเชื่อว่าบางกอกไพรด์ 2023 จะเป็นมากกว่าพื้นที่ให้ทุกคนได้มาร่วมเฉลิมฉลองเดือนแห่งความภาคภูมิใจกัน แต่ยังสำคัญมากกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาพยนตร์ โดยเฉพาะซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งพวกเรามีส่วนสำคัญอย่างแน่นอน ดังนั้นการไปให้ถึง World Pride ก็เป็นสิ่งที่เราอยากจะเห็น และช่วยตอกย้ำว่าไม่ใช่แค่กรุงเทพฯ แต่ประเทศไทยพร้อมเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุก ๆ คน”

ชุมาพร แต่งเกลี้ยง

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า กรุงเทพพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยในปีนี้ร่วมมือกับนฤมิตไพรด์ทีมผู้จัดบางกอกไพรด์ในการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมการทำกิจกรรมสร้างสรรค์ตลอดเดือน มิ.ย. รวมถึงการพัฒนาสวัสดิการของพนักงานเพศหลากหลายของกรุงเทพมหานคร บริการด้านสาธารณะสุขของกรุงเทพมหานคร คลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย (BKK pride Clinic) เพื่อพัฒนากรุงเทพให้เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกเพศตามนโยบายความหลากหลายของกรุงเทพมหานคร

“ตลอดการทำงานของ กทม. เราได้ขยาย pride Clinic ให้ครอบคลุมและเป็นมิตรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ เรามีพี่น้องที่มีบทบาทในหลายๆ อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งการท่องเที่ยวภาพยนตร์ ดนตรี แต่ที่สำคัญคือ การแพทย์ที่กำลังเติบโต ดังนั้น กทม.ยินดีอย่างยิ่ง ที่จะ Road to World Pride 2028 อย่างแน่นอน”

ศานนท์ หวังสร้างบุญ

งานบางกอกไพรด์ 2023 ยังได้รับการสนับสนุนจากภาคธุรกิจ ในการเป็นสื่อกลางและแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งนับเป็นองค์กรที่มีการขับเคลื่อนหรือมีแนวทางในการสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของพนักงาน LGBTQAIN+ หรือมีเป้าหมายในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ นอกจากพาเหรดไพรด์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 มิ.ย. แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมสำคัญที่ นฤมิตไพรด์ จัดขึ้นในวันที่ 29 พ.ค.66  คือ การจัดแสดงผลงานศิลปะ Road To Bangkok World Pride 2028 ขนาด บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร(BACC) เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการเดินทางสู่การเป็นเจ้าภาพจัดงานระดับโลกอย่าง World Pride

สำหรับกิจกรรมภายในงาน บางกอกไพรด์ 2023 มีกิจกรรมบนเวทีฉลองความหลากหลายทางเพศหรือPride Stage บริเวณหน้าลานเซ็นทรัลเวิลด์ และการเดินขบวนพาเหรดสุดสร้างสรรค์ 6 ขบวน สุดสร้างสรรค์จากแนวคิด “สุขภาวะของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+ well-being)” เพราะการมีสุขภาวะที่ดีสำคัญต่อคุณภาพชีวิต พร้อมนำแนวเพลงต่างๆ มาสร้างสรรค์กับขบวนพาเหรดด้วยความสนุกสนานและปลอดภัย ประกอบด้วย 

ขบวนที่ 1 มาพร้อมประเด็น Gender X พร้อมเพลงแนว POP

ขบวนที่ 2 จัดจ้านด้วยประเด็น My Body my Choice และเพลงแนว HIPHOP

ขบวนที่ 3 เพิ่มสีสันด้วยแนวเพลงหมอลำ บอกเล่าเรื่อง Chosen Family และสมรสเท่าเทียม

ขบวนที่ 4 บอกเล่าถึง Peace& Earth โดยนำเพลง JAZZ BLUE สร้างสรรค์ร่วมกับขบวนพาเหรด

ขบวนที่ 5 สะท้อนไปยังการเข้าถึงสิทธิทางการแพทย์อย่างเท่าเทียม (Equal Rights to Health) นำเสนอผ่านแนวเพลง K-POP T-POP  และ J-POP 

ขบวนที่ 6 มาพร้อมแนวเพลง ROCK ที่จะบอกเล่าถึง I’m Home  โดยมีแนวคิดหลักของขบวนเพื่อการยืนยันถึงสิทธิในการที่มีความปลอดภัยในชีวิตของ LGBTQIAN+

ทีมงาน “บางกอกไพรด์” ยังเชื่อว่าปรากฏการณ์ผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 25,000 คน บนถนนสีรุ้ง ที่สร้างปรากฎการณ์ความสำเร็จถูกพูดถึงและได้รับ Engagement กว่า 300 ล้านครั้ง จากทุกแพลตฟอร์ม ในปี 2565 จะกลับมาอีกครั้ง พร้อมไฮไลท์ธงสีรุ้ง สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ ความยาว 1448 เมตร โดยเป็นตัวเลขที่มีความหมายจากการเรียกร้องเพื่อต้องการให้เกิดการแก้ไขกฏหมายมาตรา 1448 สมรสเท่าเทียม ซึ่งนับว่าเป็นธงสีรุ้งที่ยาวสุดที่ประเทศไทย โดยจะโบกสะบัดใจกลางกรุงเทพ พร้อมส่งต่อการจัดงานไพรด์ทั่วประเทศไทยอีกมากกว่า 22 ครั้ง ใน 12 จังหวัด สร้างประสบการณ์การเดินพาเหรดที่สนุกสนาน เป็นมิตรกับทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงผู้ให้ความใส่ใจสำหรับผู้พิการ

งาน “บางกอกไพรด์2023” ขบวนพาเหรดที่เริ่มตั้งแต่บริเวณแยกปทุมวัน ถนนพระราม 1 ฝั่งสยามพิวรรธน์ จนถึงแยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมด้วยธงสีรุ้งยาวที่สุดในประเทศไทย ที่จะโบกสะบัดเพื่อประกาศชัดถึงความเท่าเทียมกันของผู้มีความหลากหลายทางเพศ พร้อมทั้งไฮไลท์กิจกรรมงานตลอดเส้นทาง ในวันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน 2566 ตั้งแต่เวลา 14:00 –  20:00 น.

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active