รู้ไหม ? ไทยไม่มีตัวเลข LGBTQIN+ ส่งผลนโยบายไม่ชัดเจน

ภาคีฯ เสนอสำนักงานสถิติแห่งชาติ เร่งสำรวจประชากรกลุ่มเฉพาะเป็นข้อมูลรับมือสังคมสูงวัยเปราะบาง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมโครงการการศึกษาสถานการณ์สุขภาวะทางเพศ สุขภาพจิต และความสัมพันธ์ของกลุ่มประชากรสูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ในประเทศไทย เชิญพรรคการเมือง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาฐานข้อมูล ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสังคมสูงวัยที่มีสุขภาวะ

ภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า กลุ่ม LGBTIQN+  เป็นประชากรที่ สสส. ให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะคนกลุ่มนี้มีความซ้อนทับในมิติสุขภาวะหลายแง่มุม มักถูกสังคมมองข้าม ทำให้ สสส. ต้องการรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสานพลังภาคีเครือข่ายที่มีผู้เชี่ยวชาญ ขับเคลื่อนโครงการฯ ที่จะสำรวจความทุกข์ยาก อุปสรรค และการก้าวข้ามปัญหา เพื่อนำมาประเมินข้อมูลสุขภาวะ เช่น ร่างกาย จิตใจ ชีวิตความเป็นอยู่ รูปลักษณ์ ความสัมพันธ์ การตีตราและการถูกเลือกปฏิบัติ เพื่อนำฐานข้อมูลมาพัฒนา และออกแบบการดูแล LGBTIQN+ ทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิ สวัสดิการ สร้างหลักประกันชีวิตและสุขภาพที่เป็นธรรม ให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมสูงวัยได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยที่ทุกคนยอมรับความแตกต่างของกันและกัน

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ผู้สูงอายุกลุ่ม LGBTIQN+  ประสบปัญหาสุขภาวะที่แตกต่างจากผู้สูงอายุทั่วไป เพราะสังคมในสมัยก่อนอาจยังไม่ยอมรับเรื่องเพศวิถีที่ไม่ตรงกับเพศสภาพเท่าปัจจุบัน จึงเกิดปัญหาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และทางเลือกในการประกอบอาชีพ  ส่งผลต่อรายได้ที่ไม่เอื้อในการใช้ชีวิต ขณะที่ผู้สูงอายุที่ได้ทำการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพตามเพศวิถี เมื่ออายุมากขึ้น พบว่าอาจเจอปัญหาสุขภาพหากไม่มีการดูแลที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการฯ นี้ขึ้น เพื่อสะท้อนสถานการณ์ผู้สูงอายุ LGBTIQN+  โดยได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จุฬาลงกรณ์ฯ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนานโยบาย ฯลฯ  นำมาสู่การออกแบบกระบวนการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ และขับเคลื่อนนโยบายเพื่อผู้สูงอายุ LGBTIQN+ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ด้านนักวิชาการด้านผู้สูงอายุ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมสูงวัย เป็นเรื่องที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่กำลังเข้าสู่อายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้สูงอายุที่ย้ายถิ่นฐาน ผู้สูงอายุที่ต้องการได้รับการพึ่งพิงจากครอบครัวหรือรัฐสวัสดิการ เพราะเจ็บป่วย พิการ ทุพพลภาพ แต่อีกกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญ คือ ผู้สูงอายุ LGBTIQN+  คนกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลแบบเป็นพิเศษ พบปัญหาใหญ่ 3 ประเด็น

1.ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ไม่มีเงินเก็บ ฐานะยากจน

2.ถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม ไม่มีงานทำ ถูกกดทับเพราะเป็นคนข้ามเพศ

3.ระบบสวัสดิการไม่ครอบคลุม ไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตตามเพศวิถี มีข้อเสนอว่ารัฐต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่แก้ปัญหาตรงจุด และทำได้ระยะยาว ต้องคำนึงถึง

4. ความแตกต่าง คือ ความชุกของปัญหา ที่มาที่ไป ความรุนแรง และวิถีชีวิต

นอกจากนี้ เสนอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพิ่มประเด็นคำถามสำรวจผู้สูงอายุที่เป็น LGBTIQN+  เพื่อนำข้อมูลมาแก้ปัญหาเรื่องพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เช่น จัดตั้งหน่วยงานที่มีฝ่ายดูแลผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บ แต่ไม่มีลูกหลาน ช่วยดูแลทรัพย์สินในบั้นปลายชีวิต เพื่อบริหารให้มีเงินเพียงพอหลังเกษียณ หรือส่งเสริมการจ้างงานให้กลุ่มเปราะบาง มีรายได้ดูแลตัวเอง ไม่ถูกเลือกปฏิบัติจากเพศสภาพที่ไม่ตรงกับเพศวิถี

หากอ้างอิงจาก LGBT Capital 2020 ไทยมีสัดส่วนผู้สูงอายุที่มีความหลากหลายทางเพศ ถึง 1.2 ล้านคน โดยในต่างประเทศพบปัญหาสำคัญในกลุ่มนี้ คือ มีแนวโน้มจะมีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคติดต่อ และโรคเรื้อรัง รวมทั้งมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ดี เช่น ดื่มสุรา สูบบุหรี่ มากกว่าผู้สูงอายุทั่วไป รวมถึงปัจจัยที่ไม่ได้รับการเกื้อหนุนดูแลจากครอบครัว ถูกกีดกันและการคุกคาม แม้จะเข้าไปในสถานดูแลแล้วก็ตาม ซึ่งถือเป็นความท้าทายในการเตรียมความพร้อมเพื่อดูแลประชากรสูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ พื้นที่หลังจากนี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active