ภาคประชาชน เสนอพรรคการเมือง เดินหน้านโยบายสร้างสิทธิทางเพศที่เท่าเทียม

8 พรรคการเมือง รับ 5 ข้อเสนอภาคีเครือข่ายด้านสิทธิ ​สุขภาพ และความหลากหลายทางเพศ สร้างสิทธิทางเพศเท่าเทียม ปรับปรุงระบบบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ ขจัดปัญหาความรุนแรง

วันนี้ (28 เม.ย. 66) ภาคีเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิ และสุขภาพทางเพศ และอนามัยเจริญพันธุ์ ภาคีองค์กรด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ด้านการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง และสิทธิมนุษยชน จัดกิจกรรม “สุขภาพเพศ สิทธิพลเมือง เคลื่อนด้วยการเมือง : “เรื่องเพศพรรคต้องพูด” โดยเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายได้มาเสนอสิ่งที่อยากให้ทางฝั่งพรรคการเมืองได้รับรู้ และนำกลับไปปรับใช้กับนโยบายของพรรค โดยมีเครือข่าย 5 กลุ่มเข้าร่วม ได้แก่ เครือข่ายพนักงานบริการทางเพศ เครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบาย แผนสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กลุ่มทำทาง และมูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี ในส่วนของพรรคการเมืองมีมาเข้าร่วม 8 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย เพื่อชาติ ไทยสร้างไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ เสมอภาค เสรีรวมไทย และสามัญชน

โดยแต่ละเครือข่ายได้นำเสนอประเด็นที่สำคัญ ดังต่อไปนี้ ประเด็นสิทธิของพนักงานบริการทางเพศ นำเสนอโดย ชัชลาวัณย์ เมืองจันทร์ ตัวแทนเครือข่ายพนักงานบริการทางเพศ มีข้อเสนอ คือ

1.) แก้ไข หรือ ยกเลิกกฎหมาย พรบ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539  เพื่อให้พนักงานบริการทางเพศได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ไม่ถูกบันทึกชื่ออยู่ในประวัติอาชญากรรมซึ่งส่งผลเป็นอย่างมากต่อการถูกเลือกปฏิบัติในการประกอบอาชีพในอนาคต และเพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ และเข้าถึงสิทธิตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกับประชาชนคนอื่น

2.) ดำเนินการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้รวมสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสุขภาพของหน่วยงานอื่น ๆ เป็นมาตรฐานเดียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพของประเทศ และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพของพนักงานบริการทางเพศ

3.) ผลักดันให้มีการดำเนินการปรับปรุงบริการสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ให้ละเอียดอ่อนต่อผู้รับบริการที่เป็นพนักงานบริการทางเพศ โดยคำนึงถึงช่วงเวลาการให้บริการที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต และอาชีพของพนักงานบริการทางเพศ และจัดให้มีการให้ข้อมูล รวมถึงการจัดบริการด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และการ ป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในรูปแบบที่หลากหลายให้พนักงานบริการสามารถเลือกรับบริการที่เหมาะสมกับเพศภาวะ เพศวิถี ตลอดจนวิถีชีวิต การทำงานของแต่ละคนได้ ยกเลิกมาตรการบังคับพนักงานบริการให้ตรวจหาเอชไอวีโดยไม่เต็มใจ และรักษาความลับของผู้ที่สมัครใจตรวจหาเอชไอวีอย่างเคร่งครัด

4.) ผลักดันให้มีการจัดทำหลักสูตรสุขศึกษา เพศวิถีศึกษา สุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ การป้องกันเอชไอวี และสิทธิมนุษยชนสำหรับพนักงานบริการทางเพศ และ LGBTIQN+ ที่เป็นคนพิการ  โดยจัดทำสื่อที่ให้มีรูปแบบที่เหมาะสม ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และเข้าถึง

ประเด็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของกลุ่ม LGBTIQN+ นำเสนอโดย ศิริศักดิ์ ไชยเทศ และ อาทิตยา อาษา ตัวแทนเครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบาย เสนอให้ปรับปรุงระบบบริการด้านสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ของประเทศ ให้มีการจัดบริการสุขภาพอนามัย เจริญพันธุ์ โดยคำนึงถึงเพศวิถีที่หลากหลาย และความต้องการของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น  การจัดทำข้อมูล การให้ข้อมูล และการให้การปรึกษาในเรื่องวิธีการ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการคุมกำเนิด การป้องกันเอชไอวี และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

ส่งเสริมการดำเนินงานเพื่อการปรับเปลี่ยนทัศนคติบุคลากรที่ให้บริการด้านสุขภาพทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ ให้มีความละเอียดอ่อนต่ออัตลักษณ์ทางเพศภาวะ และเพศวิถี เพื่อปรับปรุงการให้บริการบนฐานของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ตีตรา และเลือกปฏิบัติต่อบุคลที่มีความหลากหลายทางเพศด้วยอคติส่วนตัว

ประเด็นความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ นำเสนอโดย จิตติมา ภาณุเตชะ และศิระ จันทร์เจือมาศ แผนสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศข้อเสนอ คือ 1.) แก้ไข พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้เป็นไปตามหลักสากลด้านการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย และกำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง 2.) ขจัดปัญหาความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ เป็นนโยบายเร่งด่วนระดับประเทศ และจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ ให้มียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้จริง 3.) พัฒนาให้เกิดระบบปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาความรุนแรงฯ แบบ “สหวิชาชีพ” ซึ่งผู้ปฏิบัติงานได้รับการเสริมศักยภาพ และมีจำนวนเพียงพอ รวมทั้งสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาสังคมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของระบบงานดังกล่าว และ 4.) มีมาตรการเชิงรุกเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงฯ ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหา

ประเด็นสิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย นำเสนอโดย สุดารัตน์ บุญประเสริฐ กลุ่มทำทางข้อเสนอคือ 1.) บังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ให้สถานบริการสาธารณสุขของรัฐต้องให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้สนับสนุนงบประมาณครั้งละ 3,000 บาทอย่างน้อยจังหวัดละหนึ่งแห่ง 2.) บังคับใช้กฎหมายทำแท้งฉบับใหม่ให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องปฏิบัติตาม ในกรณีที่ไม่ให้บริการ จะต้องส่งต่อผู้รับไปยังสถานบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยของรัฐที่รับงบประมาณค่าบริการยุติการตั้งครรภ์จากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอย่างเร็วที่สุด ให้เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการให้การปรึกษาทางเลือกที่จะต้องไม่โน้มน้าวให้ท้องต่อ และไม่ตีตราผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์

3.) สนับสนุน และส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์โดยการใช้ยาผ่านระบบการแพทย์ทางไกล หรือ โทรเวชกรรม เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเข้าถึงยายุติการตั้งครรภ์ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาลหรือคลินิกซึ่งปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ และ 4.) ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ที่ยังคงมีบทลงโทษผู้หญิงที่ทำแท้งในอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ เพราะสิทธิในการทำแท้งปลอดภัยเป็นสิทธิมนุษยชน และบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่จำเป็นที่ทุกรัฐจะต้องจัดให้มีบริการ

ประเด็นเพศภาวะ และเอชไอวี นำเสนอโดย นิภากรณ์ คำตา มูลนิธิผู้หญิงที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี เสนอให้มีการจัดสรรงบประมาณ และผลักดันให้มีการทำงานเรื่องการป้องกันเอชไอวี/เอดส์ในกลุ่มเยาวชนหญิง และผู้หญิง และปรับปรุงการให้บริการด้านเอชไอวีให้มีการคำนึงถึงความเท่าเทียมทางเพศ  ความรุนแรงต่อผู้หญิง เพื่อให้เกิดการบริการที่เป็นมิตร และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ภายหลังรับฟังข้อเสนอจากเครือข่ายทั้ง 5 กลุ่ม พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลของตัวแทนเครือข่าย ว่าสามารถนำไปปรับใช้กับนโยบายได้แน่นอน ประกอบกับแต่ละพรรคการเมืองก็มีนโยบายที่ชูประเด็นทางเพศอยู่แล้ว หลายพรรคเน้นย้ำว่าคำนึงถึงความเสมอภาคและปัญหาสุขภาพทางเพศ และพยายามส่งเสริมให้ทุกเพศมีพื้นที่ในการแสดงสิทธิ

นอกจากนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา โดยเพิ่มวิชา Gender และหลักสิทธิมนุษยชนเข้าไป ก็จะช่วยให้ทุกคนเข้าใจเรื่องเพศที่ถูกต้องมากขึ้น และสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำของตนในการดูแลสุขภาพทางเพศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active