#สมรสเท่าเทียม ส่อวุ่น 4 ฉบับต่างหลักการ แต่ต้องรวมกัน

‘ภาคีสีรุ้ง’ ดีใจผ่านวาระแรก แต่รอจับตาท่าที กมธ. ยืนยันแก้ ป.พ.พ. สมรสเท่านั้น ‘นักกฎหมาย’ คาดใช้เวลานาน กว่าจะผ่านสภาฯ เหตุกฎหมายรายละเอียดแตกต่างกัน

หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ได้พิจารณาร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม และร่างกฎหมายคู่ชีวิต โดยมีการลงมติให้ผ่านในวาระแรกไปแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความหวังของผู้ที่เรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียมในการใช้ชีวิตคู่โดยไม่จำกัดเพศ แต่ในกระบวนการทางกฎหมายแล้ว ยังมีเส้นทางอีกยาวไกลที่ต้องจับตา ในขณะที่เครือข่ายภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม ยังยืนยันในหลักการว่า ต้องเป็นการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) เพื่อให้บุคคลทุกคนสมรสกันได้เท่านั้น รายการ Active Talk เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 2565) จึงจัดเวทีพูดคุย เพื่อมองอนาคตของกฎหมายนี้ว่าจะเดินต่อไปอย่างไร

‘ภาคีสีรุ้ง’ ดีใจ แต่ยังไม่มั่นใจ ชวนจับตาวาระอื่นต่อ

พรหมศร วีระธรรมจารี ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม เปิดเผยว่า ตนและภาคีเครือข่าย ดีใจเป็นอย่างมาก ที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมผ่านวาระแรกแล้ว เพราะที่ผ่านมาภาคประชาสังคมทำงานอย่างหนักเพื่อสื่อสารความเข้าใจ และศึกษาข้อมูลจากต่างประเทศเพื่อผลักดันกฎหมายให้ครอบคลุมสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศให้มากที่สุด

“ดีใจมาก เหมือนตอนนี้เราลงเสาเข็มไปแล้ว ตอนแรกเราไม่คิดว่าจะผ่าน หรือถ้าจะผ่านน่าจะแค่กฎหมายคู่ชีวิต เราวางแผนไว้แล้วว่าจะทำอะไรต่อไป แต่พอผ่านมาได้ จิตใจของเราที่ทำงานกันมาอย่างหนักก็มีกำลังใจมากขึ้น แต่กว่าจะบังคับใช้ได้ ยังไม่มีอะไรแน่นอนครั้งต่อไปอาจจะไม่ผ่านก็ได้ อยากให้ประชาชนทุกคนติดตามดู ว่าวาระต่อไปจะเป็นอย่างไร…”

พรหมศร กล่าวว่า ครั้งนี้อาจเป็นการรักษาสเถียรภาพ หรือเป็นเรื่องที่ ส.ส. ต้องรักษาฐานเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ ยิ่งเป็นการพิจารณาโดยใช้กฎหมายคู่ชีวิตเป็นร่างหลักแล้ว ถ้าเกิดมีการปัดตกกฎหมายสมรสเท่าเทียมไป เท่ากับวาระแรกไม่มีความหมาย โดยภาคีเครือข่ายทุกคนยังยืนว่าการออกกฎหมายคู่ชีวิตออกมาเป็นเหมือนการแบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคม

“กฎหมายใด ๆ ก็ตามที่แบ่งแยกออกมา คือ การแบ่งค่าความเป็นคนออกจากกันด้วย ทำให้กลุ่มเพศหลากหลาย เป็นพลเมืองชั้น 2 ที่พวกเราต้องเรียกร้องสมรสเท่าเทียม เพื่อที่จะทำให้ค่าของคนเท่ากัน ต้องแก้กฎหมายให้ใช้ได้กับคนทุกเพศวิถี นี่เป็นกระดุมเม็ดแรก ของการสร้างความเท่าเทียมของเพศหลากหลายในสังคมไทย”

‘อาจารย์นิติฯ มธ.’ ชี้วาระกฎหมายคู่ชีวิต คือการชิงดำทางการเมือง

รศ.อานนท์ มาเม้า อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ส่วนตัวสนับสนุนกฎหมายสมรสเท่าเทียม และเรื่องนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ในการเสนอกฎหมาย ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบสถาบันครอบครัวของไทย เพราะที่ผ่านมา อุปสรรคสำคัญ คือ มุมมอง และวิธีคิดของกลุ่มคนที่ไม่เหมือนกัน แม้สังคมไทยจะมีความยอมรับในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมากแล้วก็ตาม แต่การแก้ไขกฎหมายยังเป็นอุปสรรคอยู่

โดยตั้งข้อสังเกตว่า สังคมไทยพยายามผลักดันให้การสมรสเกิดได้กับทุกเพศ แต่ทิศทางการนำเสนอก่อนหน้านี้ไปอยู่ที่ฝ่ายค้านเป็นหลัก ขณะที่ฝ่ายรัฐบาล แม้จะมีนโยบายในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่ไม่ได้มีมาตั้งแต่แรก เมื่อพรรคก้าวไกล นำเสนอร่างกฎหมายแก้ไข ป.พ.พ. ในส่วนการสมรสเข้าสภาฯ แล้วเป็นกระแสให้สังคมพูดถึง หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลก็เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตามเข้ามา ทั้งที่กฎหมายนี้จัดทำมานานแล้ว จึงเป็นการชิงดำกันทางกฎหมายของ 2 กลุ่มความคิด

“กระแสความหลากหลายทางเพศ มันเป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ แต่ตอนนี้ผลักไปในสภาฯ แต่ใครจะเป็นคนชิงดำ เมื่อหัวหอกในการผลักดันเรื่องนี้เป็นฝ่ายค้าน แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดในส่วนของตัวเอง โดยถือว่ากระแสนี้จุดติดในสังคมไทย…”

รศ.อานนท์ อธิบายว่า การสมรส เป็นคำสมมติในทางกฎหมาย เพื่อผูกสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล โดยกฎหมายยอมรับว่าทั้งสองคนเป็นคู่ในการอยู่ร่วมกัน แต่คำว่า คู่ชีวิต เกิดขึ้นมาทีหลัง โดยพัฒนาการของการสมรสในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เริ่มเป็นที่ยอมรับเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว โดยเริ่มจากการเปิดช่องให้สามารถจดทะเบียน ‘คู่ชีวิต’ ได้ ซึ่งจะมีศักดิ์จะต่ำกว่า ‘คู่สมรส’

“แต่ตอนนี้เกือบทุกประเทศที่เคยจดทะเบียนคู่ชีวิต เขาเปลี่ยนตัวเองเป็นคู่สมรสหมดแล้ว เพราะมันเป็นพัฒนาการเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่สถานการณ์ไม่กี่ปีนี้ รัฐบาลยังมีท่าทีให้ใช้ระบบการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงตั้งคำถามว่ารัฐบาลคิดช้าไปหรือไม่…”

รศ.อานนท์ กล่าวว่า ตอนนี้ประเทศไทยสามารถศึกษาตัวอย่างจากหลายประเทศได้ เพราะ บางประเทศก็ใช้วิธีการเปลี่ยนกฎหมายให้ทุกคนสามารถจดทะเบียนสมรสได้เลย อย่างสหรัฐอเมริกา ที่มีคำสังศาลสูงของสหรัฐฯ ที่ชี้ว่าการไม่อนุญาตให้ประชาชนเพศเดียวกันสมรสกันได้ ถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย และยอมรับบุคคลสมรสต่างเพศได้ จึงไม่จำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่ต้น เพราะ กระแสสังคมไปข้างหน้าแล้ว

ไม่ต้องการสิทธิประโยชน์มากกว่าใคร โต้หลักศาสนา ไม่ใช้ในสังคมฆาราวาส

ส่วนที่มีการกล่าวว่ากฎหมายคู่ชีวิต ได้ให้สิทธิประโยชน์ของคู่รักเพศเดียวกันมากกว่าที่ร้องขอนั้น พรหมศร ยืนยันว่า กลุ่มผู้มีความหลากหลายไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากกว่าใคร และก่อนออกกฎหมายควรมีการถามความเห็นของผู้ใช้ก่อนว่าต้องการหรือไม่ และสิทธิที่พวกเขาเรียกร้อง เป็นสิทธิในการใช้ชีวิต และการดูแลคนที่ตนรักเท่านั้น โดยยกตัวอย่างกรณีที่ตนไม่สามารถเซ็นยินยอมให้การรักษาให้กับคนรักได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นความตาย

นอกจากนั้น ตามที่มีการอภิปรายจาก นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พรหมศร มองว่า เป็นการยกอ้างด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน เพราะจากการพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้นำทางศาสนา สิ่งที่มักจะได้ยินเสมอ คือ เข้าใจว่าประเทศไทยเป็น ‘รัฐฆราวาส’ ไม่ใช่ ‘ศาสนจักร’ จึงไม่เอาศาสนามาครอบกฎหมายที่ใช้ในประเทศไทย

อีกทั้งใน ป.พ.พ. และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่มีมาตราใดที่กำหนดว่า การจดทะเบียนสมรส ต้องผ่านการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาก่อน สามารถทำได้เลย และมีผลผูกพันทางกฎหมาย ไม่ใช่ผูกพันทางจิตวิญญาณ เราควรแยกรัฐฆราวาส ออกจากรัฐศาสนา และปัจจุบันในไทยไม่ได้นำกฎหมายศาสนามาบังคับใช้ กฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ หากมีข้อกังวลในทางปฏิบัติ จากการพูดคุยหลายศาสนาจะออกมาเป็นคู่มือ เพื่อนำไปเผยแพร่ต่อไป

‘สมรสเท่าเทียม’ ง่ายกว่าการเขียน ‘อนุโลม’ บางมาตรา

รศ.อานนท์ กล่าวว่า คู่สมรสนั้น มีความหมายเหนือกว่าในตัวเอง ในแง่สิทธิและหน้าที่ในระบบครอบครัว ถ้ามีการแก้กฎหมายให้เกิดสมรสเท่าเทียม คนเพศเดียวกัน สิ่งที่ชายหญิงเคยมี คนเพศเดียวกันก็จะมีทั้งหมด แต่หากใช้กฎหมายคู่ชีวิต ต้องมีกฎหมายอื่นมากำหนดเอื้อให้ได้สิทธิเหล่านั้น ซึ่งจากการศึกษามีสิทธิหลายอย่างขาดหายไป เช่น สิทธิในการหมั้นหรือการรับการหมั้น และสิทธิในการรับสิทธิ สวัสดิการ ของคู่ชีวิต

โดยการ ‘อนุโลม’ ตามกฎหมายที่มีในกฎหมายคู่ชีวิตนั้น เรื่องไหน ไม่ได้พูดถึง ก็ไม่สามารถทำได้ เช่น การแสดงเจตนาให้ความยินยอมเพื่อการรักษาแทน จึงทำให้คู่ชีวิตให้ความยินยอมแทนไม่ได้ และอาจเกิดปัญหาที่ไม่สามารถเก็บเล็กผสมน้อยได้ทั้งหมด โดยเฉพาะหลายเรื่องที่เจอในความเป็นจริง แต่ถ้าแก้ให้เป็นคู่สมรส ก็จะไม่เกิดปัญหา ทุกอย่างจะสวมเข้าได้ทันที

นอกจากนั้น รศ.อานนท์ วิเคราะห์ว่า แม้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะกล่าวในสภาฯ ว่ากฎหมายเหล่านี้อาจใช้เวลาพิจารณาไม่เกิน 3 เดือน แต่กฎหมายทั้ง 4 ฉบับแม้จะดำเนินไปพร้อมกัน ก็มีรายละเอียดด้านในที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ค่อยปรากฎมากนักในระบบนิติบัญญัติไทย โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และกลุ่มที่ 2 คือ การแก้ ป.พ.พ.

โดยกลุ่มแรก จะมีทั้งร่างของ ครม. โดยกระทรวงยุติธรรม และร่างของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังมีล็อกสำคัญใน เรื่อง ของบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของคู่ชีวิต ที่ไม่มีการรับรอง อาจมีกระแสขอให้เติม และรับในจุดนี้หรือไม่ เพราะ เด็กที่เกิดมาบนทะเบียนคู่ชีวิต จะเป็นบุตรที่ชอบโดยกฎหมายของใคร

ขณะที่ กลุ่มที่ 2 คือ การแก้ไข ป.พ.พ. ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่สุด เพราะร่างหลักเป็นของ ครม. ที่แก้ประเด็นย่อยเพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้น ในขณะที่ร่างของพรรคก้าวไกล จะเป็นการแก้ ป.พ.พ.ทั้งระบบ โดยเฉพาะ เรื่อง การสมรส ที่เปลี่ยนคำจาก ชาย – หญิง ไปเป็นคำว่า บุคคล จะเห็นว่ามีรายละเอียดที่คัดง้างอยู่ในตัวเอง และจะมีการขับเคี้ยวกันอย่างมากในชั้นกรรมาธิการฯ

ภาคีสีรุ้ง เฝ้ามอง ‘กรรมาธิการฯ’ ชวนสังคมติดตามความคืบหน้า

พรหมศร กล่าวว่า สำหรับรายชื่อคณะกรรมาธิการที่ออกมานั้น พบว่าแบ่งเป็นครึ่งต่อครึ่ง สำหรับพรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล โดยส่วนตัวมีคนที่อยากจับตามองมากที่สุด คือ แทนคุณ จิตอิสระ จากพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากที่ผ่านมายืนยันกับเครือข่ายมาตลอดว่าจะสนับสนุนสมรสเท่าเทียม และที่อยากให้กำลังใจ คือ ชานันท์ ยอดหงษ์ จากพรรคเพื่อไทย ส่วนชื่อที่อยากเฝ้าระวัง คือ อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต อีกฉบับ

“เรายืนยัน ในความเป็นสมรสเท่าเทียมอย่างชัดเจน ที่ต้องแก้ ป.พ.พ. มาตรา 1448 เท่านั้น เพื่อทำให้การสมรสเกิดอย่างเท่าเทียม หากไม่เป็นไปตามนั้น ประชาชนทั้ง 350,000 เสียง รวมถึงผู้ไม่เห็นด้วยจำนวนมาก จะออกมาเต็มท้องถนน เราไม่ยินยอมให้รัฐบาลนี้กดทับสิทธิของเพศหลากหลายมากไปกว่านี้อีกแล้ว…”

พรหมศร ทิ้งท้ายว่า อยากให้สังคมพึงระลึกเสมอว่าคนเพศหลากหลายอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด เพื่อน พี่น้อง ญาติสนิท เราทุกคน เป็นคนเหมือนกัน และไม่ต้องการสิทธิพิเศษมากไปกว่าใคร แต่เป็นสิทธิที่เราถูกริดรอนไปตั้งแต่เกิด ชวนสังคมเฝ้าระวัง และจับตาดูไปพร้อมกัน และเครือข่ายจะมีกิจกรรมแสดงออกอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะได้รับชัยชนะ

ในขณะที่ รศ.อานนท์ คาดการณ์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า กฎหมาย 4 ฉบับ อาจจะไม่มีมติออกมาใช้ในรัฐบาลนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากระยะเวลาของรัฐบาลชุดนี้อาจจะสิ้นสุดภายในปีนี้ และในอีกด้านหนึ่งก็จะไม่มีการ ‘หักด้ามพร้าด้วยเข่า’ ที่จะให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาชี้ แต่จะโยนไปในสนามการเลือกตั้ง ความพยายามในการรักษาจุดยืน ที่จะใช้กฎหมายคู่ชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น อาจเป็นอุปสรรคแน่ๆ สำหรับการเลือกตั้งในครั้งต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้