ยื่น 6 ข้อเสนอประกาศให้ กทม. เป็นมิตรต่อความหลากหลายทางเพศ

แม้เป็นเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ถูกยกให้เป็นเมืองหลวงของ LGBTIQN+ ขณะที่หลายคนยังถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ย้ำทุกสำนักงานเขตต้องให้บริการประชาชนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ


วันนี้ (3 พ.ค.65) เครือข่ายองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) จำนวน 26 องค์กร ร่วมกันยื่นข้อเสนอประเด็นสิทธิความหลากหลายทางเพศต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 “Vote For Sexual Diversity” “โหวตเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ” โดยระบุว่า ผู้สมัครผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครต้องกำหนดนโยบายและมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนหลากหลายทางเพศดังนี้

  1. ประกาศให้กรุงเทพเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชาชนหลากหลายทางเพศ ในฐานะที่กรุงเทพมหานครถูกยกย่องให้เป็นเมืองสวรรค์ของประชาชนหลากหลายทางเพศ และ ททท.(การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) มีแคมเปญส่งเสริมนักท่องเที่ยวหลากหลายทางเพศให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย บุคลากรของสำนักงานเขตทุกพื้นที่จึงต้องให้บริการประชาชนในทุก ๆ มิติของชีวิตโดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสาธารณะ บริการด้านสุขภาพอนามัย เป็นต้น
     
  2. จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเยาวชน ครอบครัว ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศร่วมกับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร
     
  3. บริหารจัดการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ เช่น พื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง รวมทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และส่งเสริมให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจร่วมดำเนินงานและประเมินผลในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร เช่น สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
     
  4. จัดตั้งบริการสายด่วนให้คำปรึกษาและส่งต่อเฉพาะประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดฉุกเฉิน ถูกกระทำความรุนแรง ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ
     
  5. กำหนดมาตรการทางกฎหมาย กฎระเบียบ ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีโอกาสในการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เช่น การรับสมัครนักเรียน การรับสมัครงาน โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ
     
  6. แสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็น #สมรสเท่าเทียม เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวกับสาธารณะมากขึ้น

หนึ่งในตัวแทนระบุว่า เดิมทีเครือข่ายต้องการเดินทางเพื่อยื่นข้อเสนอถึงมือผู้สมัครในเวทีดีเบต บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งมีหลายองค์กรร่วมจัด แต่เนื่องจากเวทีดังกล่าวถูกยกเลิกกะทันหัน จากสำนักงานเขตปทุมวัน โดยหลังจากนี้จะยื่นข้อเสนอให้กับผู้สมัครทุกหมายเลข เพื่อติดตามวิสัยทัศน์ และการกำหนดนโยบาย ว่าจะครอบคลุม คุ้มครอง ผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือไม่

“เราคาดหวังมากๆ กับการเลือกตั้งครั้งนี้ แม้จะเป็นการเมืองระดับท้องถิ่น แต่ กทม.มีจำนวนผู้มีความหลายทางเพศจำนวนมาก เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ต่างจากชาย หญิง ถึงเวลาแล้วที่ผู้บริหารต้องคืนศักดิ์ศรีให้กับคนกลุ่มนี้ เราจะร่วมกันจับตา เลือกคนจะเข้ามาทำงานที่เข้าใจ และจริงใจกับปัญหานี้จริงๆ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน