งานวิจัย ชี้ หากไทยเพิ่มการผลิตโปรตีนจากพืช แทนโปรตีนจากสัตว์ได้ 50% ภายในปี 2050 จะเกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงาน ลดพื้นที่การผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนุนเป็นศูนย์กลางผลิตโปรตีนพืชของโลก
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตโปรตีนได้ในระดับชั้นนำของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังเป็นผู้ส่งออกโปรตีนสุทธิเพียงรายเดียวในเอเชีย ทั้งนี้หากกล่าวถึงโปรตีน พบว่า ไม่ได้มีแต่เพียงเนื้อสัตว์เท่านั้น แต่ยังสามารถมาได้จากหลายแหล่งรวมทั้งพืชด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ไทยนำเข้าสัตว์และวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์อยู่มาก ดังนั้นอาจส่งผลกระทบในระยะยาว ทำให้การใช้โปรตีนพืชแทน โปรตีนจากสัตว์ อาจช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้
งานวิจัยเรื่อง “ครัวแห่งอนาคต : ประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีน” จาก Madre Brava และ Asia Research and Engagement ชี้ว่า ไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางโปรตีนในระดับที่ยั่งยืนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากการผลิตโปรตีนจากสัตว์เป็นโปรตีนจากพืชแทน ซึ่งจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างมากซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนเป็นสำคัญ
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย บอกว่า ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิม ความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหาร และชื่อเสียงในฐานะ “ครัวของโลก” ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางโปรตีนที่ยั่งยืนของโลกในอนาคต
ทั้งนี้แนวโน้มสัตว์ และวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ที่ไทยนำเข้าจะมีราคาสูงขึ้น และการผลิตดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย การเปลี่ยนจากการใช้โปรตีนสัตว์ เป็นโปรตีนพืชแทนจะลดการพึ่งพาการนำเข้า ลดการตัดไม้ทำลายป่าและการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
โดยการศึกษานี้จำลองสถานการณ์ 3 แบบ ได้แก่ การดำเนินการตามปกติ, การใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ร้อยละ 30 และ ร้อยละ 50 ภายในปี 2050 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ที่สามารถเกิดขึ้นในด้านสภาพภูมิอากาศ การใช้ที่ดิน และการสร้างงาน
“การเปลี่ยนไปใช้โปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ในประเทศไทย 50% ภายในปี 2050 สามารถนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้าน ได้แก่ การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 ล้านล้านบาทและเพิ่มความพึ่งพาตนเอง การสร้างงานสูงสุด 1.15 ล้านตำแหน่งในอุตสาหกรรมโปรตีนจากพืช การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 35.5 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการลดจำนวนรถยนต์ 8.45 ล้านคันในสหรัฐอเมริกา และการประหยัดพื้นที่การผลิตถึง 21,700 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเทียบเท่ากับจังหวัดนครราชสีมา สรุปแล้ว การสร้างความหลากหลายของแหล่งโปรตีนนี้มีศักยภาพในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในประเทศไทย”
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์
รัฐ – เอกชน กับการเพิ่มโอกาสเข้าถึงโปรตีนจากพืชอย่างยั่งยืน
ผู้อำนวยการ Madre Brava ประเทศไทย ระบุด้วยว่า หากต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารจากพืชแห่งเอเชียได้นั้น จำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมโปรตีนจากพืชแทนโปรตีนจากสัตว์ให้ได้ 50% ภายในปี ค.ศ. 2050 จะนำมาซึ่งประโยชน์หลายด้านที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมของไทย
โดยการสนับสนุนดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้หากมาจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับภาครัฐ มีข้อเสนอให้ดำเนินการ ดังนี้
- สร้างความเท่าเทียมในตลาด : รัฐควรดำเนินนโยบายด้านภาษีเพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการจำหน่ายโปรตีนจากพืช ทำให้อาหารจากพืชเข้าถึงได้ง่าย
- ภาครัฐสนับสนุนการจัดซื้อ : ควรมีการส่งเสริมการจัดเมนูอาหารที่เน้นการใช้พืชในกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐบาล และเพิ่มมูนอาหารจากพืชในโรงอาหารของหน่วยงานรัฐ โรงเรียน และโรงพยาบาลด้วย
- การเปลี่ยนผ่านด้านโปรตีนอย่างเป็นธรรม : มีแนวทางการสนับสนุนทางการเงินและโครงการพัฒนาศักยภาพสำหรับเกษตรกรไทย เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถเปลี่ยนมาผลิตพืชผลสำหรับโปรตีนจากพืชได้
“เราต้องสร้างความหลากหลายในอาหารการกินของเราตอนนี้ พอพูดถึงโปรตีน เราก็จะนึกถึงเนื้อสัตว์ เนื้อปลา แต่จริง ๆ แล้ว โปรตีนมาจากหลายแหล่งได้ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกันได้ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารก็แนะนำว่าให้หาแหล่งโปรตีนจากพืชมาเสริม และโปรตีนจากพืชควรจะเป็นแหล่งโปรตีนหลักในอาหารของเรา ความหลากหลายก็คือ มาจากพืช มาจากสัตว์ รวมกัน ไม่ใช่โปรตีนจากสัตว์อย่างเดียว”
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์
นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังสามารถมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเข้าถึงโปรตีนที่ยั่งยืนสำหรับผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ บริการจัดหาอาหาร และผู้ผลิตอาหาร โดยจากงานวิจัย มีข้อเสนอแนะสำหรับภาคเอกชนแต่ละหน่วยธุรกิจ ดังนี้
- ซูเปอร์มาร์เก็ต : ควรตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มยอดขายโปรตีนที่ยั่งยืน โดยลดราคาผลิตภัณฑ์จากพืชให้เทียบเท่ากับโปรตีนจากสัตว์ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงอาหารสุขภาพ และจัดแสดงผลิตภัณฑ์จากพืชในตำแหน่งที่เด่นชัด พร้อมให้ข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการเตรียมอาหารและคุณค่าทางโภชนาการ
- ผู้ผลิตอาหาร : ควรปรับใช้กลยุทธ์ความหลากหลายของแหล่งโปรตีนในแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและความยั่งยืน โดยลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อปรับปรุงผลิตภัณฑ์โปรตีนทางเลือกให้มีรสชาติและคุณค่าทางโภชนาการสูงขึ้น พร้อมราคาเหมาะสม
- บริษัทให้บริการอาหาร : ควรเพิ่มเมนูที่ทำจากพืชและแสดงให้เห็นควบคู่กับเมนูปกติ โดยควรตั้งราคาเมนูจากพืชให้เทียบเท่ากับเมนูปกติเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคในการเลือกซื้อ
ทั้งนี้เชื่อว่าหากสามารถดำเนินการตามมาตรการเหล่านี้ จะช่วยกระตุ้นการเติบโตของโปรตีนจากพืชในประเทศไทย และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค
“เราอยากจะเห็นอนาคตที่มีโปรตีนจากพืชเป็นทางเลือกให้คนรับประทาน ซึ่งดีต่อสุขภาพ ยั่งยืน หาซื้อง่าย ไม่ต้องเสียสละ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม และอยากให้มีสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่ทุกคนสามารถเป็นหส่วนหนึ่งในการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมได้โดยไม่ลำบากเกินไป”
วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์