เครือข่ายพัฒนาเมือง เตรียมเปิดวงปิกนิกคุยเรื่องเทรนด์พัฒนาพื้นที่สาธารณะ

เครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ร่วมกับ we!park และภาคีเครือข่าย เตรียมจัดกิจกรรม “พัก กะ Park” พาร์คสร้างสุข เพื่อสุขภาวะ เปิดวงปิกนิกคุยเรื่องเทรนด์พัฒนาพื้นที่สาธารณะ และ 9 ข้อค้นพบจากการวิจัยยกระดับพื้นที่สีเขียว

วันนี้ (22 มี.ค.67) โครงการเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ (Healthy Space Alliance : HSA) ร่วมกับกลุ่ม “we!park” และภาคีเครือข่าย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานแถลงข่าว กิจกรรม “พัก กะ Park” พาร์คสร้างสุข เพื่อเมืองสุขภาวะ และ เทรนด์ 9 ข้อค้นพบการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว ณ All Day Fine x Good Cafe

กิจกรรม “พัก กะ Park” พาร์คสร้างสุข เพื่อเมืองสุขภาวะ จะจัดขึ้นในวันที่ 24 และ 31 มีนาคม 2567 ณ อุทยานเบญจสิริ โดยกิจกรรมแบ่งเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่

1) กิจกรรมพักแชร์ – ร่วมพูดคุยเรื่องเทรนด์พัฒนาพื้นที่สาธารณะในรูปแบบวงปิกนิก

2) กิจกรรมพักชม – นิทรรศการ 9 ข้อค้นพบจากการดำเนินงาน และดนตรีในสวน

3) กิจกรรมพักเล่น – กิจกรรมในสวน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ใน 6 ประเด็น

ประภาศรี บุญวิเศษ
ประธานกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส.

ประภาศรี บุญวิเศษ ประธานกรรมการบริหารแผนสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า จากข้อมูลด้านสุขภาพในปี 2566 พบว่า คนไทยมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ 4 ด้าน ได้แก่ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ กินอาหารไม่ถูกหลักโภชนา และการมีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ จนนำมาสู่โรคติดต่อไม่เรื้อรัง (NCDs) และประชาชนบางส่วนยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะอย่างทั่วถึง

“สสส. อยากสร้างพื้นที่สุขภาวะที่คนไทยทุกคนมีโอกาสเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมาจึงสนับสนุนให้เกิดการสร้างพื้นที่สุขภาวะอย่างสวน 15 นาที ที่ร่วมมือกับทางกรุงเทพมหานครและวีพาร์ค กิจกรรมในครั้งนี้จึงสอดรับกับยุทธศาสตร์ของสสส. ที่อยากกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญของการมีพื้นที่ทางสุขภาวะและนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน”

ปาจริยา มหากาญจนะ
ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ 1 สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. 

สอดคล้องกับที่ ปาจริยา มหากาญจนะ ผู้อำนวยการส่วนสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ชี้ว่า ทางกทม. ต้องการกระจายพื้นที่สวนสาธารณะให้ประชาชนได้มากที่สุด การมีนโยบายสร้างสวน 15 นาที ของกทม. ที่ทำให้คนเดินทางไปถึงสวนใกล้บ้านได้ภายในระยะ 1 กิโลเมตร เป็นการเพิ่มโอกาสของประชาชนในการใช้พื้นที่ แต่จะเกิดได้อย่างยั่งยืนนั้น ต้องรับฟังเสียงและความต้องการของประชาชนเพื่อให้มีการออกแบบที่เหมาะสม และประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง

“การสร้างสวนสาธารณะสักแห่ง ไม่ใช่แค่เรื่องการปลูกต้นไม้หรือออกแบบ แต่ต้องคำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ ชุมชนที่มีเด็กเยอะกับชุมชนที่มีคนแก่เยอะ ย่อมมีความต้องการที่ต่างกัน การรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้เป็นสวนที่ตอบโจทย์ประชาชนผู้ใช้อย่างแท้จริง”

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาเกณฑ์การประเมินคุณภาพของสวนที่สร้างเสร็จแล้วแต่ละแห่งด้วยว่าตอบโจทย์ประชาชนแค่ไหน หรือโมเดลแบบไหนที่ทำแล้วสำเร็จเพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่นต่อไป

นิรมล ราศี
ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส.

เช่นเดียวกับ นิรมล ราศี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สำนัก 5) สสส. ให้นิยามของ “พื้นที่สุขภาวะ” คือพื้นที่ที่อยู่รอบตัวเราในแต่ละช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็น บ้าน โรงเรียน ที่ทำงาน รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางหรือเส้นทางที่สัญจรผ่าน พื้นที่นี้ต้องประกอบด้วย ความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งจะรู้ได้ต้องผ่านการทำกระบวนการกับชุมชน

ในขณะที่ตอนนี้ ในเขตต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ ได้มีการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าทั้งจากรัฐและเอกชนเพื่อให้เปิดบริการรวมแล้วกว่า 73 แห่ง และคาดว่าจะเพิ่มมากกว่า 200 แห่งในอนาคต 

ผู้ช่วยศาสตรจารย์เชษฐา ทรัพย์เย็น
ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 

สอดคล้องกับที่ ผู้ช่วยศาสตรจารย์เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ย้ำว่า การจะทำให้สวน 15 นาที กระจายไปทั่วทั้ง 50 เขต ใน กทม.ในเวลาอันรวดเร็วและมีประสิทธิภาพได้นั้น จะใช้กลไกราชการในการขับเคลื่อนอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีการเติมความรู้ให้กับบุคลากรด้วย

ทางมหาวิทยาลัยจึงมีหลักสูตรอบรมบริการวิชาการเรื่องสวน 15 นาที ไปแล้ว 5 ครั้ง (ในอนาคตจะมีอีก 4 ครั้ง) และเมื่อได้ผลิตบุคลากรและอาสาสมัครแล้ว ก็จะมีการจัดอบรมเพื่อขยายผลต่อไปอีก เพราะเชื่อว่า สวน 15 นาทีจะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนเจ้าของพื้นที่ด้วย เช่น บริษัทเอกชนก็สามารถสร้างพื้นที่สีเขียวได้ในที่ทำงาน หรือแม้แต่ในคอนโดมิเนียมก็ตาม

“เราตั้งเป้าหมายให้มีสวน 500 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ ถ้าความฝันนี้เกิดขึ้นจริง กรุงเทพฯ จะเปลี่ยนโฉมหน้าไป ฝุ่นอาจจะน้อยลง และกลายเป็นเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น”

โดยที่ผ่านมา ทางโครงการได้ดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย 3 ด้าน ได้แก่ 1) ปลดล็อกศักยภาพเมือง 2) ยกระดับคุณภาพชีวิตสุขภาวะ 3) ส่งเสริมศักยภาพคน ด้วยการจัดกิจกรรมต่าง ๆ (ด้านการวิจัย กระบวนการมีส่วนร่วม จัดทำพื้นที่ต้นแบบ ฯลฯ) เพื่อส่งเสริมการสร้างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่สีเขียว โดยร่วมงานกับหลายภาคส่วน ทั้งรัฐ เอกชน ภาควิชาชีพ ภาคการศึกษาและภาคประชาสังคมมาโดยตลอด

ยศพล บุญสม
หัวหน้าโครงการวีพาร์คและผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ

ด้าน ยศพล บุญสม หัวหน้าโครงการวีพาร์ค และผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาเมืองและชุมชนสุขภาวะ ได้เล่าถึงข้อค้นพบสำคัญที่ได้จากการเก็บข้อมูลวิจัยเชิงพื้นที่ใน 50 เขตทั่วกรุงเทพฯ ตลอดระยะเวลา 1 ปี จนกลายมาเป็น ข้อค้นพบในการพัฒนาพื้นที่สุขภาวะ”ดังนี้

  1. การพัฒนาสุขภาวะเมือง

วิธีที่จะพัฒนาให้เมืองมีสุขาภาวะที่ดีได้ มีด้วยกัน 6 แบบ ได้แก่ 1) ต้องออกแบบเมืองให้เหมาะสมกับคนอยู่ ทั้งเมืองสำหรับสังคมสูงวัย (Aging Society) เมืองที่เป็นมิตรกับเด็ก (Child-friendly City) และเมืองสำหรับพลเมืองตื่นรู้ (Active Citizen) 2) ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด 3) รัฐและเอกชนต้องมีการลงทุนร่วมกัน 4) สร้างพื้นที่สุขภาวะ 5) สร้างกิจกรรมทางกายเพื่อลดการเป็น NCDs และ 6) ความมั่นคงทางอาหาร

  • การพัฒนาพื้นที่สาธารณะหรือโครงสร้างสีเขียว

การจะเกิดพื้นที่ดังกล่าวได้ สามารถพัฒนาได้ 6 แบบ ได้แก่ 1) สร้างสุขภาวะให้คนในชุมชน 2) มีพื้นที่เชื่อมต่อเมือง เช่น ทางจักรยาน 3) มีพื้นที่วิถีชีวิต ธรรมชาติ และชุมชนริมน้ำ 4) มีพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์ที่ชุมชนมีส่วนร่วมกัน 5) มีแปลงเกษตรสำหรับคนเมือง 6)มีพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพในเมือง และจาก 50 พื้นที่ในการอบรม (Park Coaching) ตอนนี้มีพื้นที่ต้นแบบ 24 พื้นที่แล้ว

  • พัฒนาพื้นที่สาธารณะระดับสวน สู่ ระดับย่าน

ทำโดยเชื่อมโยงพื้นที่ขนาดเล็กแทรกเข้าไปในเมือง จากสวนเล็ก ๆ หลายแหล่ง จะพัฒนาสู่ความเป็นย่าน และกลายเป็นเมืองในที่สุด ที่ผ่านมาทำไปแล้ว 2 ย่าน ได้แก่ หลักสี่ (โครงการหลักสี่ย่านสีเขียว) และอโศก (โครงการสุขอโศก)

  • Incentive Policy หรือ นโยบายกระตุ้นให้พื้นที่เอกชนใกล้บ้านกลายเป็นพื้นที่สาธารณะสีเขียว

 ตอนนี้มีโมเดลที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รัฐ ลงทุนโดยเอกชน พื้นที่เอกชนลงทุนโดยรัฐ หรือพื้นที่เอกชนลงทุนโดยเอกชนเอง พบว่า การมีโมเดลที่หลากหลายทำให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น

  • กระบวนการและเครื่องมือที่ใช้พัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียว

ที่ผ่านมาประสบปัญหาว่าพื้นที่สาธารณะถูกสร้างแล้วแต่กลับไม่มีคนดูแลและไม่ตอบโจทย์ชุมชน ฉะนั้น ต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม ใช้ข้อมูลและออกแบบโปรแกรมการพัฒนาสวนที่เหมาะกับชุมชนแห่งนั้น

  • มีฐานข้อมูล

ทำด้วยการพัฒนาแผนที่ความเร่งด่วนของเมือง เพื่อเข้าใจบริบทและภาพรวมเมืองก่อนการพัฒนาเพื่อวิเคราะห์ว่าที่ไหนเหมาะสมกับการพัฒนาแบบใด

  • หลักสูตรพัฒนาคน

ตอนนี้มีหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่รัฐแล้วโดยความร่วมมือของสมาคมภูมิศาสตร์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราชโดยเชื่อมต่อกับมหาวิทยาลัยในย่าน จากกนั้นจะขยับไปสู่กระบวนการพัฒนาสวน 15 นาที เพื่อให้เกิด ecosystem ในการผลิตบุคลากร เพื่อให้ได้สวนที่ยั่งยืน

  •  โมเดลความร่วมมือ 5 ส่วน

โดยเป็นโมเดลที่ใช้ความร่วมมือจาก 5 ส่วน ได้แก่ เอกชน รัฐ มหาวิทยาลัย วิชาชีพ และภาคประชาสังคม ทุกฝ่ายสามารถลงขันในทรัพยากรที่ตัวเองมีได้ บางส่วนลงทุนเป็นการให้ความรู้ บางส่วนเป็นทีดิน บางส่วนเป็นการลงแรง

  • การขยายผลสู่พื้นที่ต้นแบบ

เพราะพื้นที่สีเขียวจะหยุดแค่การทำแค่ในกทม.เท่านั้น แต่จะต้องขยายไปยังเมืองต่าง ๆ  ทั่วประเทศได้ด้วย

สุดท้ายแล้ว การสร้างพื้นที่สาธารณะสีเขียวหรือพื้นที่สุขภาวะนี้ จำเป็นต้องทำทั้งระบบ (Park Ecosystem) ได้แก่ การสร้างคน การมีที่ดิน มีกระบวนการและชุดเครื่องมือ มีการมีส่วนร่วมของชุมชน และต้องประเมินผล และเมื่อทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง จะเกิดผลสำเร็จ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active