“พื้นที่ชุ่มน้ำ”สวรรค์ที่หายไปจาก กทม. ชวนทวงคืนธรรมชาติที่สมดุลกับเมือง

หอศิลป์กรุงเทพฯ จัดงานเสวนา สะท้อนมุมคิดความสำคัญของธรรมชาติในเมือง นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมแนะการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงธรรมชาติผ่านการออกแบบพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม

วันนี้ (26 มี.ค. 2565) ฝ่ายการศึกษา หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (Bacc) จัดกิจกรรมการศึกษาเสวนานิทรรศการ urban in progress เมืองเปลี่ยนแปลง หัวข้อ “จะคืน Paradise Lose กลับมาได้อย่างไร” ว่าด้วยความสำคัญของธรรมชาติในเมือง และปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านมุมมองของนักวิชาการ นักสร้างสรรค์ และผู้เชี่ยวชาญต่างๆ

รศ.กิติเชษฐ์ ศรีดิษฐ อ.ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ อธิบายถึง ธรรมชาติวิทยาในกรุงเทพฯ ว่าคือการมีพื้นที่ชุ่มน้ำ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ แหล่งอาศัยของทั้งพืชและสัตว์ เมื่อวิเคราะห์พื้นที่ชุ่มน้ำยังทำให้พบว่าแหล่งน้ำที่เกิดขึ้น คือน้ำที่มาจากดิน และต้นไม้ที่อาศัยจะเป็นตัวรักษาความชุ่มน้ำ ด้วยการดูดซับให้ต้นไม้เติบโต

ภาพความเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำของกรุงเทพฯ ในอดีต สะท้อนผ่านการบันทึกข้อมูลรูปแบบต่างๆ เช่น ภาพวาดฝาผนัง จิตรกรรม งานเขียน แต่ปัจจุบันพื้นที่ธรรมชาติแบบดั้งเดิมหายไปจากกรุงเทพฯ จากกระบวนการความเป็นเมือง เปรียบเหมือนสวรรค์ที่หายไปจากเมืองกรุงฯ แต่เรายังพบพื้นที่ชุ่มน้ำคล้ายๆ กับกรุงเทพฯ ดั้งเดิมอยู่ในพื้นที่อื่นๆ เช่น สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ยังมีป่าชายเลน ความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ จึงจำเป็นต้องรักษาไว้

อย่างที่หลายประเทศพยายามรักษาธรรมชาติดั้งเดิม เช่น ประเทศเซอร์เบีย กรมชลประทานไม่มีโครงการสร้างเขื่อนกั้นคลองมากนัก จึงทำให้พื้นที่ยังคงเดิม หรือที่ประเทศอังกฤษ บริเวณแม่น้ำเทมส์ หากไม่มีเหตุจำเป็นก็จะไม่สร้างกำแพงกั้นน้ำ ทำให้ตามริมฝั่งแม่น้ำยังคงมีหย่อมป่าอยู่ในเขตเมือง และยังมีการรักษาป่าโอ๊คโบราณใกล้กับกรุงลอนดอนด้วย

“ป่าน้ำท่วมของประเทศอื่นๆ เค้าจะมีการเก็บพื้นที่เอาไว้อย่างดี เพราะมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตจำนวนมาก แต่คนไทยมักจะบอกว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมและต้องเข้าไปจัดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งป่าเสื่อมโทรมไม่มีในโลกนี้ การมีพื้นที่ว่างและมีต้นไม้ขึ้นตามธรรมชาติ มันคือการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ไม่ใช่เสื่อมโทรม พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากก็ไม่ใช่ มันคือพื้นที่ท่วมปกติแต่คนเข้าไปอยู่ในพื้นที่ซ้ำซากไม่ออกมา ดังนั้นสังคมจึงต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจความเป็นธรรมชาติ เพื่อไม่ไปทำลายธรรมชาติ เพราะมันเท่ากับทำลายพวกเราเอง… กรุงเทพฯ ที่เรียกว่าบางกอก ก็มาจากชื่อต้นมะกอกน้ำที่เคยมีในกรุงเทพฯ จำนวนมาก แต่ทุกวันนี้กลายเป็นสิ่งหายากแล้ว”

รศ.กิติเชษฐ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เช่น นโยบายการลดภาษีที่ดินรกร้าง ด้วยการใช้ประโยชน์อื่นๆ ในบางพื้นที่กลับกลายเป็นการทำลายพื้นที่ธรรมชาติดังเดิม เพราะประชาชนกลัวว่าถ้าปล่อยเป็นป่าจะเท่ากับเสียภาษีแพง จึงถางป่าทำให้พื้นที่ธรรมชาติดั้งเดิมหายไป

ส่วน วรรณพร พรประภา ภูมิสถาปนิก สาขาภูมิสถาปัตยกรรม กล่าวว่า รากศัพท์ของภาษาเปอเซียร์คำว่า paradise คือสวนที่มีการสร้างกำแพงล้อม ผู้สร้างตั้งใจที่จะทำให้พื้นที่โอบล้อมสวนไว้เพื่อเหมือนเป็นสรวงสวรรค์ เป็นความสุข แต่วิวัฒนาการของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ทำให้โลกเปลี่ยนไปมาก มีหลายเรื่องที่ทำให้ใช้ชีวิตได้สะดวก แต่ก็พบว่ามีปัญหาอีกหลายอย่าง ทั้งเรื่องโรคร้ายที่ระบาด เช่น โรคมะเร็งต่างๆ หรือปัญหาความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้นจึงต้องพยายามทำความเข้าใจคำว่า paradise ของแต่ละคนคืออะไร และจะสร้างความ paradise ให้เกิดชึ้นอย่างสมดุลกับความต้องการได้อย่างไร

“การรักษาต้นไม้ รักษาป่า กับสวรรค์ คือความสมบูรณ์แบบของแต่ละเรื่อง ทำอย่างไรให้สิ่งต่างๆ มีความสมดุล ในขณะที่เรามีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขาทำงานด้านต่างๆ จะร่วมสร้างจุดสมดุลอย่างไร อาจต้องอาศัยความเมตตา และนโยบายที่จะช่วยทำให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย”

ด้าน ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park มองว่า สิ่งที่ขาดไปในปัจจุบันคือขาดการเห็นความสำคัญและมุมมองต่อธรรมชาติ ดังนั้นในการพัฒนาเมืองและการออกแบบ ก็กลับทำให้คนตัดขาดจากธรรมชาติแทนที่จะใกล้ชิดกัน หากมีกลไกการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม และเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้น ก็อาจทำให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างสมดุลตามความต้องการของกลุ่มคนต่างๆ ได้ โดยมีธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา

“หากว่าเราจะกลับไปฟื้นฟูเมืองก็คงต้องกลับมาฟื้นฟูความคิดจิตใจของเราที่มีต่อธรรมชาติ”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้