ภาคีน้ำตั้งวงถก “ค้านเขื่อน” นักวิชาการ ชี้ ไทยยังมีจุดอ่อนการจัดการน้ำ

เครือข่ายแม่น้ำโขง ร่วมสะท้อนปัญหาเสนอทางแก้การจัดการน้ำในไทยอย่างมีส่วนร่วมและยั่งยืน ย้ำจุดอ่อนในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปัญหาระดับนโยบาย โครงสร้าง และปัญหาระดับปฏิบัติการ

วันนี้ (11 มี.ค. 2565) สมาคมสังคมวิทยาสาธารณะจัดเสวนา เรื่อง “วันหยุดเขื่อนโลก: เหลียวหลังแลหน้าการจัดการน้ำของไทย” เพื่อสะท้อนสถานการณ์น้ำ และการจัดการน้ำในประเทศไทยโดยเฉพาะประเด็นการสร้างเขื่อน

Matthew BaidAsian สถาบันวิจัยกฎหมายสิ่งแวดล้อม (Research Institute for Environmental Law) กล่าวว่า ประมาณ 70% ของโครงการเขื่อนจะมีปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ก่อสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเหตุผลของการทำโครงการเขื่อนมักจะมีความเกินจริง อีกทั้งที่ผ่านมาการฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบด้านวิถีชีวิตที่เกิดจากโครงการส่วนมากจะไม่ประสบผลสำเร็จ

นอกจากนี้ ในส่วนของการทำกระบวนการประเมินผลกระทบระดับยุทธศาสตร์(SEA) ต้องไม่มีการย้ายผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้น หรือหากย้ายต้องย้ายให้น้อยที่สุด หรือการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) ที่จะต้องเกิด ต้องห้ามย้ายผู้คนที่จะได้รับผลกระทบออกจากพื้นที่เพราะการย้ายออกนอกพื้นที่คือการสร้างโครงการที่ขัดขวาางให้เกิดผลกระทบต่อคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เครือข่ายชุมชนเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน กล่าวว่า การขึ้นลงของแม่น้ำโขง คือสัญญาณแรกที่มองเห็นหลังจากมีเขื่อน และเมื่อมีเขื่อนที่ 2 เมื่อปี 2546 ยิ่งทำให้เห็นเลยว่าการจัดการเขื่อนสร้างผลกระทบให้กับแม่น้ำโขงอย่างมาก

ลุ่มน้ำโขงในอดีตที่ผ่านมาเป็นการจัดการน้ำโดยธรรมชาติซึ่งมีความสมดุลในตัวของมัน แต่การจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขงปัจจุบัน ถูกจัดการด้วยมือมนุษย์ ตั้งแต่เมื่อมีเขื่อนแรกประมาณ 20 กว่าปีผ่านมา

“จากธรรมชาติเป็นผู้จัดการ ปัจจุบันถูกมนุษย์เข้ามาจัดการ โดยใช้โครงสร้างเขื่อนซึ่งการสร้างเขื่อนมันเป็นการจัดการให้ผลประโยชน์กับคนด้วยกัน กับกลุ่มทุน ไม่ได้เป็นการจัดการด้วยคนเพื่อให้เกิดประโยชน์กับธรรมชาติ หรือแม่น้ำ เพราะฉะนั้นปัญหามันเลยเกิดขึ้นตั้งแต่มีเขื่อนตัวแรก”

คำปิ่น อักษร เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า ที่บ้านตามุย อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี อยู่ในพื้นที่ท้ายน้ำจริง ๆ แล้วเราเหมือนถูกแยกส่วนเพราะมีเขื่อนไซยะบุรีกันอีกชั้นหนึ่ง สถานการณ์ของเขื่อนไม่หยุดนิ่ง เพราะเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีบริษัทเอกชนขอลงพื้นที่สำรวจพื้นที่ แต่ในช่วงหลังรัฐเล่นแง่เปลี่ยนชื่อโครงการให้ชาวบ้านสับสน แต่ไม่ว่าจะชื่อไหนก็ได้รับผลกระทบ และอาจถึงขั้นทำให้ชาวบ้านต้องอพยพ ขณะนี้ที่บ้านตามุยก็ประสบปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับอุทยานแห่งชาติ

“มีวิวธรรมชาติสวยงาม มีแม่น้ำโขง แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ของชุมชน เป็นอุทยานมาครอบ กรมเจ้าท่ามาทับ เขาอยากจะทำอะไรก็ได้ กลายเป็นว่าชุมชนไม่มีสิทธิ์ไม่มีทางเลือกอะไรเลยและยิ่งไม่มีเอกสารสิทธิ์ อันนี้เป็นข้อกังวลหนึ่งถ้าเกิดมีกระบวนการสร้างเขื่อน รัฐจะกล่าวอ้างว่าคุณมีเอกสารสิทธิ์ไหม ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ริมแม่น้ำโขงอย่างแน่นอน เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นเขตป่า”

ผศ.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาหลายโครงการของบางหน่วยงานเน้นแค่การ “ได้ทำ” ไม่เน้น “ผลสัมฤทธิ์จากการทำ” และ หลายโครงการของบางหน่วยงานเป็นการแก้ไขปัญหาเก่าด้วยการสร้างปัญหาใหม่ สิ่งที่จะดำเนินต่อไปในอนาคต ในสภาวะที่ประเทศไม่มีเงิน ยังคงมีรัฐและส.ส.บางคนที่ยังอยากผลักดันโครงการที่ใช้งบประมาณสูงอย่างโครงการผันน้ำยวมที่ใช้งบประมาณกว่า 70,000 ล้านบาท 

อีกทั้งรัฐยังขุดโครงการโบราณเมื่อ 30 ปีที่แล้วให้มีชีวิตขึ้นมาใหม่ภายใต้สถานการณ์น้ำที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงของแม่น้ำโขง อย่างโครงการ โขงเลยชีมูล ที่ใช้งบประมาณการก่อสร้าง 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีจุดอ่อนในการบริหารจัดการน้ำ ตั้งแต่ปัญหาระดับนโยบาย โครงสร้าง และปัญหาระดับปฏิบัติการ

ปัญหาระดับนโยบาย และโครงสร้าง กล่าวคือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับด้านน้ำ ไม่สามารถกำกับทั้งแผน และงบประมาณของหน่วยงานปฏิบัติได้อย่างแท้จริง แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำหลายคนแต่สุดท้ายก็อยู่ภายใต้การสั่งการจากฝ่ายการเมือง ถึงประเทศไทยจะมี พ.ร.บ.น้ำ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่การจัดสรรงบประมาณยังยึดติดกับกรอบงานเดิม การติดตามตรวจสอบใช้งบประมาณ ไม่เข้มข้น ไม่จริงจัง ขาดตัวชี้วัดที่มีความหมาย

ปัญหาระดับปฏิบัติการ ยังขาดการวิเคราะห์ทรัพยากรน้ำในองค์รวมของทั้งลุ่มน้ำ และ ความสัมพันธ์ระหว่างลุ่มน้ำ การแก้ปัญหาด้านน้ำยังยึดติดกับวิธีเดิมๆ ซึ่งบางวิธี ไม่สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน และการบริหารจัดการน้ำขาดการวิเคราะห์เชื่อมโยงกับทรัพยากรอื่นๆ ทั้งป่าไม้ สิ่งมีชีวิต ในน้ำ รวมทั้ง วิถีชีวิตของประชาชน รวมทั้งการแก้ปัญหาด้านน้ำไม่ให้ความสำคัญโครงสร้างขนาดเล็กที่กระจายเชื่อมต่อเป็นโครงข่าย เพื่อส่งน้ำและระบายน้ำ

คำปิ่น กล่าวเสริมว่า ภาคประชาชนที่อยู่ในพื้นที่คงต้องเกาะติดและพยายามสู้แบบหลังชนฝาและจะไม่ยอมอพยพออกไปจากพื้นที่ตรงนี้อย่างแน่นอน ส่วนหนึ่งของข้อเสนอเราคิดว่าจะมีขบวนการศึกษาร่วมกัน ออกกฏหมายรับรองแม่น้ำ อย่างในหนังสือ ภววิทยาแม่น้ำโขง อ. กนกวรรณ มโนรมย์ ซึ่งมีการเปรียบเทียบกับต่างประเทศ 

“แน่นอนว่ากฎหมายที่ออกมามีทั้งข้อดีแล้วก็เสียเพราะต้องเข้าใจว่าเวลาที่รัฐไทยออกกฏหมายออกมาดี แต่เมื่อต้องเอาไปปฏิบัติกลับเป็นคนละแง่ซึ่งอาจจะมีการศึกษาและทบทวนซึ่งเราคิดว่าอันนี้น่าสนใจเพราะแม่น้ำโขงเองเป็นทั้งแม่น้ำนานาชาติและเป็นแม่น้ำที่อยู่ระหว่างสองประเทศไม่มีความแน่นอนในการจัดการ หากมีกฎกติกาขึ้นมาแล้วมีใครจะทำโครงการอะไรในแม่น้ำประชาชนสามารถฟ้องร้องได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ