เคาะเงินหมื่น เฟส 2 ผู้สูงอายุ 4 ล้านคน เริ่มจ่ายทันตรุษจีน 2568 เสียงสะท้อนผู้สูงอายุ หวังได้ฟื้นชีวิต ต่อยอดอาชีพ ท่ามกลางความท้าทายเศรษฐกิจ ปากท้อง
วันนี้ (19 พ.ย. 67) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า มติที่ประชุมเห็นชอบให้ดำเนินมาตรการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 โดยเน้นช่วยเหลือ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เป็นลำดับแรก ครอบคลุมประชากรราว 4 ล้านคน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 40,000 ล้านบาท
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้สูงอายุที่จะได้รับเงินช่วยเหลือในครั้งนี้ ต้องลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน แอปพลิเคชันทางรัฐ ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยต้องผ่านการตรวจสอบสิทธิ์และกระบวนการยืนยันตัวตน (KYC) อย่างถูกต้อง
“รัฐบาลจะสามารถโอนเงิน 10,000 บาท ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในเฟสแรกได้ทันช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างแน่นอน โดยมาตรการนี้มุ่งหวังช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน พร้อมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นและสร้างความมั่นคงในระยะยาว”
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์
ชีวิตต่างฝัน ‘เงินหมื่น’ ในมือผู้สูงอายุ คลองเตย
The Active ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุในชุมชนคลองเตย 3 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป และไม่ได้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งแต่ละคนมีอาชีพและวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน
มนัส กะฐิมะสมิต วินมอเตอร์ไซค์วัย 66 ปี เล่าว่า เคยมีรายได้มั่นคงจากการขับวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในช่วงเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้เขาไม่ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มเปราะบาง แต่ด้วยความไม่แน่นอนของชีวิต ปัจจุบันต้องเผชิญปัญหาหนี้สินจากการกู้เงินมาเลี้ยงหลานวัย 1 ขวบ ขณะที่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
สำหรับ มนัส หากได้รับเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 2 จากรัฐบาล เขาต้องการเงินสดเป็นหลัก เพราะแม้จะมีสมาร์ทโฟน แต่ก็ใช้งานไม่สะดวกเท่าที่ควร เขาวางแผนว่าจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้หนี้เป็นอันดับแรก และแบ่งส่วนที่เหลือไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว รวมถึงซ่อมแซมและบำรุงรักษามอเตอร์ไซค์ เพื่อยืดอายุการใช้งานให้สามารถทำมาหากินต่อไปได้
เช่นเดียวกับ วัลภา บุญสุข แม่ค้า วัย 62 ปี มีร้านกาแฟเล็ก ๆ อยู่หน้าสำนักงานของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง แม้เธอยังพอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง แต่ก็ยอมรับว่าเศรษฐกิจที่ซบเซาส่งผลให้รายได้ลดลง
สำหรับเธอ ถ้าได้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท วางแผนจะนำไปปรับปรุงร้านค้า และต่อยอดธุรกิจด้วยการเครื่องดื่ม ผ่านแอปออนไลน์ โดยมีลูกสาวมาช่วย
ส่วน นิตยา พร้อมพอชื่นบุญ หรือ ป้าหมวย นักสังคมสงเคราะห์วัย 77 ปี แม้จะไม่ได้มีภาระเรื่องค่าเช่าบ้าน หรือค่าครองชีพ เพราะมีลูกหลานคอยดูแล แต่เธอก็ไม่ได้ปฏิเสธโครงการเงินหมื่นของรัฐบาล
ป้าหมวย บอกว่า จะใช้เงินเพื่อช่วยเหลือในงานบุญ งานกุศล รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตามหน้าที่ที่เธอรับผิดชอบ และเธอตั้งใจจะนำไปเริ่มต้นทำขนมขายเล็ก ๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมในอนาคต
แม้ผู้สูงอายุทั้ง 3 คน จะมีสถานะและความต้องการที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือความหวังในการใช้เงินช่วยเหลือเพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองและครอบครัว ท่ามกลางความเปราะบางและความท้าทายในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน