ชี้เม็ดเงินมาตรการ ยังไม่ใหญ่พอ กระตุ้น GDP ให้โตไปถึง 3% ยาก หวั่นข้อจำกัด สถาบันการเงินเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ กระทบกำลังซื้อบ้านลดลง แนะผ่อนปรนหลักเกณฑ์ร่วมด้วย
วันนี้ (12 พ.ย. 67) คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการแยกบัญชีมาตรการสินเชื่อซื้อ-สร้าง และการแยกบัญชีมาตรการสินเชื่อ ซ่อม-แต่ง ภายใต้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กรอบวงเงินรวม 55,000 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และมีดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ รวมถึงเปิดโอกาสให้ขอสินเชื่อเพิ่มสำหรับซ่อมแซม และต่อเติ่มบ้าน โดยโครงการนี้แบ่ง 2 โครงการ ได้แก่
- มาตรการสินเชื่อซื้อ-สร้าง วงเงิน 50,000 ล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย
โดยให้วงเงินต่อรายสูงสุดไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะ 5 ปีแรก ปีที่ 6-7 MRR -2.00%ต่อปี ปีที่ 8-9 MRR -1.50%ต่อปี และปีที่ 10 ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ MRR -1.00%ต่อปี ทั้งนี้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 30 ธ.ค. 68 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของมาตรการ - มาตรการสินเชื่อซ่อม-แต่ง วงเงินมาตรการ 5,000 ล้านบาท สนับสนุนสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเดิมที่ชำระเงินกู้มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปีนับตั้งแต่วันทำสัญญาครั้งแรก มีการผ่อนชำระหนี้ดีสม่ำเสมอทุกเดือนไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีวงเงินกู้ภายใต้หลักประกันเดิมสูงสุดไม่เกิน 5,000,000 บาท สามารถขอยื่นกู้สินเชื่อเพิ่มได้ เพื่อต่อเติมหรือซ่อมแซมอาคาร หรือเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย
โดยให้วงเงินต่อรายไม่เกิน 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ร้อยละ 1 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของมาตรการ
เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า 2 มาตรการนี้จึงเป็นมาตรการคู่ขนานกัน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่กระทรวงการคลัง สนับสนุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง
นักวิเคราะห์ ชี้ แค่ประคองภาคอสังหาฯ
ขณะที่ เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ เอเซีย พลัส และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยกับ The Active ถึงผลของมาตรการดังกล่าว โดยมองว่า ทั้ง 2 โครงการมีขนาดของเม็ดเงินที่ไม่ใหญ่มากพอ ที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย หรือ จีดีพี (GDP) ให้เติบโตไปถึง 3% ได้ ซึ่งปี 2567 เอเซีย พลัส ประเมินว่า จีดีพีจะเติบโตเพียง 2.6 – 2.7% เท่านั้น
ทั้งนี้ต้องดูว่าหลังจากโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการแล้ว สถาบันการเงินจะสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตอนนี้สถาบันการเงิน เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หากสถาบันการเงินยังคงเข้มงวดเหมือนเดิม ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหากำลังซื้อบ้านที่ลดลงได้
“เมื่อมีเม็ดเงินเข้ามา ก็ต้องดูว่าการปล่อยทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าตอนนี้มันเป็นปัญหาเรื่องกำลังซื้อ ซึ่งคนไม่สามารถกู้แล้วผ่านได้ เพราะฉะนั้นถ้ามีวงเงินมา แต่ความเข้มงวดยังเหมือนเดิม หรือความผ่อนปรนไม่มีเพิ่มเติม การปล่อยสินเชื่อก็จะยาก”
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม
นอกจากนี้ ปัญหาหลักของภาคอสังหาริมทรัพย์ คือ กำลังซื้อลดลง เนื่องจากหนี้ครัวเรือนที่สูง ประกอบกับที่ผ่านมาราคาอสังหาริมทรัพย์ปรับขึ้นต่อเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้สถาบันการเงิน ปล่อยสินเชื่อได้น้อยลง
อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวคงไม่สามารถกระตุ้นกำลังซื้อภาคอสังหาริมทรัพย์ได้มากอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหากดูยอดจองบ้าน (พรีเซล) ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 15 แห่ง ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท และมียอดโอนกรรมสิทธิ์อยู่ที่ประมาณ 2.5 แสนล้านต่อปี ซึ่งเมื่อเทียบกับเม็ดเงิน 50,000 ล้านบาทของมาตรการที่จะปล่อยออกมา ก็คงช่วยทำได้เพียงประคองภาคอสังริมทรัพย์ได้เท่านั้น