นักกฎหมาย ชี้ ความหวังไขปม ‘แชร์ลูกโซ่’ ดิไอคอน

หลักฐานสำคัญ คือสิ่งที่แม่ข่าย คุยกับ ลูกทีม โยงเจตนา ‘บอส ดิไอคอน’ เอาผิดกรณี แชร์ลูกโซ่ แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ประชาชนถูกชักชวน ซึ่งคนชวนรู้อยู่แล้วว่า เงินต้นไม่มีทางออกดอกออกผลตามที่โฆษณาไว้

แม้ขณะนี้คดี ‘ดิไอคอน’ จะเป็นคดีพิเศษแล้ว และอยู่ในความดูแลของกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ แต่จนถึงวันนี้ (1 พ.ย.2567) บอสทั้ง 18 คน ก็ยังคงถูกดำเนินคดี 2 ข้อหา คือ ฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา และ การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ​ขณะที่ ‘ทนายของบอสพอล’ ก็ระบุว่า ลูกความเตรียมงัดพยานมาสู้คดี โดยเตรียมนำตัวแทนกว่า 2,000 คน ทยอยเข้าให้ปากคำ และจะขอให้ตำรวจออกหมายเรียกตัวแทนอีกกว่า 2 แสนคน มาสอบว่า ดิไอคอน ทำธุรกิจ จริงหรือไม่

แต่ประเด็นนี้อาจมีน้ำหนักเบา เพราะในมุมมองทางฎหมายของ วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมาย และที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลังฯ สภาผู้แทนราษฎร มองว่า ในทางอาญาสิ่งสำคัญ คือ การกระทำ เจตนา และองค์ประกอบความผิด หลักฐานจากการสอบสวนของดีเอสไอจะสรุปคดีได้ โดยไม่ต้องใช้พยานจากฝั่งบอสพอล ขณะเดียวกัน วีรพัฒน์ ยังฝากถึง ผู้เสียหาย ให้ยืนยันความบริสุทธิ์ ด้วยการรวมกลุ่มสู้คดีอย่างเต็มที่

“ผมฝากถึงผู้เสียหาย หากเป็นผู้สุจริต หวังจะขายสินค้าจริง ไม่ต้องกลัวแจ้งความเลย หาก ทนายฝั่ง บอสพอล จะมาแจ้งความกลับ เผลอๆ เขาอาจจะโดนคดีกลับ กรณี แจ้งความเท็จ หรือ ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม

ส่วนแม่ข่ายที่เข้ามาเป็นบอสแถว 3 แถว 4 มีลูกทีมเป็นร้อยเป็นพันคน ร่ำรวยอยู่คนเดียว ควรรีบปรึกษาทนาย และให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี เพื่อเอาผิดคนตัวใหญ่ แทนการฟ้องกลับ เพราะในทางคดี มีการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และมีหลักฐานเอาผิดได้อยู่แล้ว…”

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

วีรพัฒน์ ย้ำว่า มีหลายเคสที่คล้ายกับที่ให้สัมภาษณ์ไว้ในรายการตรงประเด็น และจะเห็นหัวใจสำคัญของการพิสูจน์ได้ว่า คดีนี้เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ ? “สู้ชีวิต ยิงแอดขายของ แต่แม่ทีมบอกไม่ต้องขาย ให้ไปหาคน…” คำพูดเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญของการต่อสู้ในคดีดิไอคอน เพราะจะบอกได้ว่าบริษัทต้องการอะไร สุดท้ายเป็นการล่อคนเข้ามาขยายวงเป็นลูกโซ่หรือไม่

ในวันที่ 31 ต.ค.67 รายการตรงประเด็น นำเสนอกรณีของ 1 ในผู้เสียหายจากกรณีดิไอคอน ที่ไปแจ้งความเมื่อวันที่ 10 ต.ค. ที่ผ่านมา

“เธอตัดสินใจลงทุนไปกว่า 3 แสนบาท โดยหวังว่า จะประสบผลสำเร็จ เหมือนกับระดับบอส หลังเธอสร้างคอนเทนต์ขายสินค้าอยู่ 4 เดือน กลับไม่สามารถขายสินค้าได้แม้แต่ชิ้นเดียว สิ่งที่เธอได้รับคำแนะนำในเวลานั้น คือ การให้หานักเรียนมาอบรมคอร์ส ให้ได้มากที่สุด แล้วก็ชักชวนให้มาซื้อสินค้าที่อยู่ในสต๊อกของเธอเอง

เธอปรึกษาแม่ข่ายในทีม และเริ่มกังวล กับเม็ดเงินที่ลงทุนไป ในเวลานั้นโค้ชจึงแนะนำให้เธอหานักเรียนมาเรียนให้ได้มากที่สุด เพื่อกระจายสินค้าในสต๊อกของเธอให้กับนักเรียนแทน ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการขายสินค้าได้เร็วและขยับตัวเองไปอยู่ในระดับที่สูงขึ้น วิธีการนี้ แม่ข่ายเรียกว่า การต่อยอดธุรกิจ แต่ในความรู้สึกของเธอ คือ แชร์ลูกโซ่

ผู้เสียหาย

ปัจจัยเอาผิดกรณี ‘แชร์ลูกโซ่’

ก่อนหน้านี้ กฤษอนงค์ สุวรรณวงศ์ เจ้าของเพจกฤษอนงค์ต้านโกง อธิบายว่า กุญแจ 3 ดอกเอาธุรกิจขายตรงมาบังหน้าทำ “แชร์ลูกโซ่” คือ

  • สินค้าไม่ครบตามการสั่งซื้อ

  • แผนผังดีลเลอร์ชวนดีลเลอร์ต่อกันเป็นลูกโซ่

  • แผนจ่ายผลตอบแทน คิด % เกิน กฎหมายกำหนด

สอดคล้องกับ วีรพัฒน์ ที่อธิบายอ้างอิงถึง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินอันเป็นการช่อโกงประชาชน ตาม ม.4 โดยคำว่า กู้ยืมเงิน ของ กฎหมายฉบับนี้ให้นิยามไว้กว้าง อาจจะหมายถึงการชวนมาลงทุนก็ได้ คือ ต้องมีการชวน โฆษณาประกาศออกไปก่อน รวมคน 10 คนขึ้นไป, กู้ยืมเงิน หรือ สัญญาจะจ่ายผลประโยชน์ต่างตอบแทนตามพฤติการณ์

วันนี้ไม่ใช่การกู้ยืมเงินตามความหมายที่เข้าใจ ปกติ แต่ เข้าความหมาย ม.4 คือ เป็นการชักชวนมาลงทุน เอาสินค้าไปแล้วจะรวยขึ้น
กฎหมายบอกอีกว่า อัตราต้องสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุด เข้าใจว่า DSI กำลังดูอยู่ว่า มีการสัญญาไหมว่ามาแล้วกำไรเยอะ รวยเร็วหรือไม่ แต่ไม่พอ ต้องดูอีกว่า โดยที่รู้อยู่ว่า จะนำเงินไปหมุนเวียนในระบบ หรือ โดยรู้อยู่แล้วว่า ไม่สามารถประกอบกิจการใดโดยชอบด้วยกฎหมายได้

“พูดง่ายๆว่า รู้อยู่แล้วว่า ที่ชวนมาทำสุดท้าย “เงินต้นไม่มีทางออกดอก ออกผลได้เป็น 10% 20% 50% อย่างที่โฆษณาไว้”

วีรพัฒน์ ปริยวงศ์

วีรพัฒน์ ยังบอกด้วยว่า ดิไอคอนต้องสู้กลับอย่างแน่นอนว่ามีโกดัง มีสินค้า จะถือว่ากู้ยืมเงิน ช่อโกงประชาชนได้อย่างไร คีย์สำคัญก็ยังอยู่ที่ บทสัมภาษณ์ตรงประเด็น บทสัมภาษณ์แม่ข่ายที่คุยกับลูกทีม เข้าไปถึงตัวบอส เข้าไปถึงตัวบริษัทว่าเป็นแนวความคิด วิธีการทำเงินของเข้าด้วยหรือไม่

คดี ‘ดิไอคอน’ ในมือ ดีเอสไอ

วีรพัฒน์ อธิบายต่อว่า เมื่อคดีนี้อยู่ในความดูแลของดีเอสไอ และรับเป็นคดีพิเศษแล้ว ตามหลักการ “คดีพิเศษ” ออกแบบมาเพื่อใช้กับคดียาก คดีผู้มีอิทธิพล คดีที่ต้องใช้ทรัพยากรในการสืบสวน สอบสวน เอื้อให้คดีเดินได้แน่น และเร็วขึ้นกว่าคดีปกติ เช่น ข้อดีประการแรก DSI สามารถเชิญอัยการมาร่วมเป็นผู้ทำคดีตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งปกติ ตำรวจทำไม่ได้ ปกติตำรวจจะต้องสรุปสำนวน อัยการตรวจสอบและอาจสั่งให้ทำใหม่ หรือสั่งไม่ฟ้องได้ แต่กรณี DSI รับไปแล้ว ทำงานร่วมกับอัยการได้

ถัดมา ข้อดีอีกประการ คือ กรณี “ดิไอคอน” แตกไปในหลายประเด็น ทั้งกรณีฟอกเงิน, สคบ. ผู้บริโภค,ช่อโกงประชาชน ฯลฯ กรณีนี้ เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ไม่ใช่การรับคดีพิเศษแบบปกติทั่วไปที่เข้าบัญชีท้าย แต่เป็นกรณีที่กระทำความผิดเป็นกระบวนการเกี่ยวเนื่อง เชื่อมโยงกัน แสดงให้เห็นว่า DSI มองเห็นว่า “กรณีดิไอคอนมีความลึกลับซับซ้อน มีขบวนการที่เกี่ยวข้องกับการกระทำหลายอย่าง…” หากให้ตำรวจทำจะยากในการประสานงาน การดำเนินคดีอาจทำได้ช้ากว่า เพราะต้องประสานไปทีละหน่วยงาน เช่น คดีปราบปรามก็หน่วยหนึ่ง คดีผู้บริโภคก็อีกหน่วยหนึ่ง เป็นต้น การที่สื่อรายงาน และติดตามตลอด ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การตรวจสอบเข้มข้นมากยิ่งขึ้น และยากที่จะถูกแทรกแซง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active