‘นักเศรษฐศาสตร์’ เสนอ ปรับเงินหมื่นดิจิทัล แบ่งงบฯ พัฒนาทักษะแรงงาน-หนุน SMEs

ย้ำผ่านเกือบปี ยังไม่เห็นโครงการเป็นรูปเป็นร่าง ทำประเทศเสียเวลา ทุ่มกับนโยบายที่ไม่สมเหตุผล เสนอ แจกเฉพาะครอบครัวเด็กแรกเกิด-5 ขวบ มีผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ใช้งบฯ แค่ 8.5 หมื่นล้าน พร้อมโยกงบฯ ที่เหลือ ไปยกระดับทักษะแรงงาน ช่วย SMEs ลงทุนวิจัย เพิ่มขีดความสามารถประเทศ คุ้มค่ากว่า

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ขณะนี้แถลงการณ์ 99 นักเศรษฐศาสตร์ ค้านแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จนถึงตอนนี้ออกมาเกือบจะครบ 1 ปีแล้ว นั่นหมายความว่า ประเทศไทยเสียเวลาไปกับความพยายามทำนโยบายที่ไม่สมเหตุผลในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้นทุนค่าเสียโอกาสของประเทศ ที่ผู้บริหารระดับสูงสุด และ หน่วยงานเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง สามารถใช้เวลาและทรัพยากรมนุษย์ไปทำงานอันสามารถเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“การประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ระหว่างวันที่ 3-5 กันยายน 2567 มีการอภิปรายโครงการนี้ ซึ่งทุกท่านน่าจะเห็นตรงกันว่า จนป่านนี้แล้ว เราแล้วยังไม่เห็นรูปธรรมชัดเจนว่า จะทำอย่างไรกันแน่สำหรับทั้งโครงการ”

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย

นอกจากนี้ มีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องยืนยันว่า หากมีการเปลี่ยนชื่อโครงการก็สามารถใช้งบประมาณได้ เนื่องจากยังอยู่ในวัตถุประสงค์กระตุ้นเศรษฐกิจ และระบุมีโอกาสจะดำเนินการแจกให้ “กลุ่มเปราะบาง” ภายในเดือนกันยายนนี้

อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิชาการเรื่องความคุ้มครองทางสังคมของวิชาเศรษฐศาสตร์สาธารณะ เป็นที่ทราบกันดีว่า ความพยายามที่จะให้สวัสดิการกำหนดเป้าหมายคนจน (poverty targeting) จะมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นแน่นอน ทั้งคนจนไม่ได้รับสิทธิ์ หรือ คนรวยได้รับสิทธิ์ อีกทั้ง ต้นทุนสูงและอาจจะไม่คุ้มกับความพยายามทำ poverty targeting

ดังนั้น จึงขอเสนอให้พิจารณาว่า เพื่อให้ดำเนินการได้รวดเร็วและโปร่งใส ให้แจกเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กอายุ 0-5 ขวบ และผู้สูงอายุ 70 ปีขึ้นไป ซึ่งมีจำนวนรวมกัน 8.5 ล้านคน จะใช้งบประมาณ 85,000 ล้านบาท โดยครัวเรือนร่ำรวยก็ให้สามารถมีสิทธิ์ได้ประโยชน์จากสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับกลุ่มอายุนี้ด้วย เพราะได้เป็นกำลังสำคัญร่วมจ่ายภาษี

“งบฯ ปี 2568 ที่เตรียมไว้รองรับโครงการ 187,700 ล้านบาท ก็จะเหลือเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท เอามาลงทุนพัฒนาทักษะแรงงาน, ยกระดับ SMEs และ ใช้ลงทุนวิจัยพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ น่าจะเป็นประโยชน์ในระยาวมากกว่า เหมือนเอาเงินที่มีอยู่อย่างจำกัดไปซื้อเบ็ดมาแจกให้หาปลาต่อไป แทนที่ไปซื้อปลามาแจกให้บริโภคครั้งเดียว”

ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย

สำหรับเหตุผล ที่นักเศรษฐศาสตร์ ร่วมลงรายชื่อคัดค้านนโยบายดังกล่าว มีดังนี้

  • เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว: ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยการแจกเงิน เนื่องจากโดยภาพรวมกำลังขยายตัว ไม่ได้กำลังติดลบเหมือนสมัยโควิด

  • ควรเน้นการลงทุนระยะยาว: ควรนำงบประมาณไปใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล จะเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งในระยะยาว

  • งบประมาณจำกัด: เงินงบประมาณมีจำนวนจำกัด ควรใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ

  • ผลกระทบจากการแจกเงินน้อย: การแจกเงิน 560,000 ล้านบาท อาจไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากตัวทวีคูณทางการคลังต่ำ หมายความว่าเงินที่แจกไปจะไม่หมุนเวียนในระบบมากนัก

  • ภาระหนี้สาธารณะ: การแจกเงินจำนวนมากจะเพิ่มภาระหนี้สาธารณะ และอาจทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้นในอนาคต

  • ขาดพื้นที่ว่างทางการคลัง: ควรมีเงินสำรองไว้เผื่อรับมือกับวิกฤตในอนาคต และรองรับสังคมสูงวัย

  • เทคโนโลยี blockchain ไม่เหมาะสม: เทคโนโลยี blockchain ยังไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเร็วในการประมวลผลที่ช้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active