SME ไทยกำลังจะล้มหายตายจาก หลังกำลังซื้อลดลง ต้นทุนสูงขึ้น และถูกสินค้าจีนขายแข่งราคาถูก ด้าน ‘สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย’ ฝาก 6 โจทย์ใหญ่ถึงรัฐบาลใหม่แก้ไขเร่งด่วน
ภาคธุรกิจไทยขณะนี้ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์เศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชะลอตัวมากขึ้น รวมถึงผลกระทบของสินค้าจีนที่เข้ามาทำการตลาดแข่งกับสินค้าไทย ซึ่งมีปริมาณมากและราคาถูกว่าหลายเท่าตัว ส่งผลให้ธุรกิจไทยมีความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง และมีปัญหาด้านสภาพคล่องตามมา โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี (SME) หรือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในไทย ที่มีแนวโน้มเริ่มผิดนัดชำระหนี้กันมากขึ้น
โดย สำนักข่าวกรุงเทพธุรกิจ รายงานข้อมูล บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ พบว่า สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ตอนนี้ค้างชำระเกิน 90 วันติดต่อกัน หรือเป็นหนี้เสีย (NPL) คิดเป็นมูลค่า 3 แสนล้านบาท ราว 10% ของหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งระบบ และกลุ่มหนี้ที่ค้างชำระแต่ยังไม่เกิน 90 วัน หรือ กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ (SM) มีมูลค่า 1.62 แสนล้านบาท เมื่อรวมทั้ง 2 กลุ่มมีธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหาและต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ อยู่ที่ 6.5 หมื่นราย
ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจับตาความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดเล็ก ธุรกิจในกลุ่มที่ผลประกอบการอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้างและความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง รวมทั้งครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งคาดว่าจะยังส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิดการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
The Active พูดคุยกับ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ถึงปัญหาความยากลำบากของธุรกิจ SME ในขณะนี้ พบว่า ปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะรายย่อย ซึ่งมีสัดส่วนมากถึง 85% ของผู้ประกอบการทั้งประเทศ และมีการจ้างงานสัดส่วน 30% ของผู้ประกอบทั้งประเทศ
ประกอบกับราคาต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นต่อเนื่อง จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามที่เกิดขึ้นยาวนาน รวมถึงยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งไทยยังนำเข้าปัจจัยพื้นฐานทางการเกษตรจากต่างประเทศจำนวนมาก เช่น ปุ๋ย และอาหารสัตว์ เป็นต้น สะท้อนจากไทยขาดดุลการค้า 2 ปี ติดต่อกัน
ขณะที่ราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่อยู่ในระดับสูง 2.50% สิ่งเหล่านี้ส่งผ่านไปยังต้นทุนของผู้ประกอบการ
นอกจากนี้ปัญหาผลิตภาพแรงงานไทยที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งยังไม่มีแผนยุทธศาสตร์เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพื่อให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเรื่องต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมโลกในปัจจุบัน
ทุนจีนลุกลามทุกธุรกิจไทย
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ยอมรับด้วยว่า ขณะนี้กลุ่มทุนจีนได้ส่งผลกระทบทั้งผู้ประการธุรกิจ SME ไปจนถึงผู้ประกอบการรายใหญ่ของไทย โดยเฉพาะ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจวัสดุตกต่างบ้าน ธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตร และธุรกิจขนส่งไทย เนื่องจากสินค้าจีนมีราคาต้นทุนที่ถูกกว่า ผ่านการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายจากชายแดน ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน และยังปล่อยให้ชาวจีนเข้ามาทำธุรกิจแข่งกับคนไทยแบบครบวงจร
“วันนี้เราต้องยอมรับว่าจีนไม่ได้ผลิตสินค้าเพื่อคน 1,400 คนในประเทศเขา แต่จีนผลิตสินค้าเพื่อคนทั้งโลก เพราะฉะนั้นวันนี้ประเทศที่เป็นประเทศขนาดเล็กอย่างประเทศไทยประชากรราว 67 ล้านคน ถ้าถูกสงครามราคาเข้ามากลืนกินด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ากันเยอะ ๆ และการทะลักเข้ามาไม่ว่าจะสุขภัณฑ์ ไม่ว่าจะเป็นอะไรต่าง ๆ นานา เข้ามาจำนวนมาก ผู้ประกอบการที่เป็นคนไทย แรงงานที่เป็นคนไทยก็อาจจะต้องปิดกิจการเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญไม่ใช่มาเฉพาะสินค้า แต่วันนี้อุตสาหกรรมก่อสร้างมาแม้กระทั่งผู้รับเหมาชาวจีน บิสซิเนสโมเดลคล้าย ๆ ที่ทำ สปป.ลาว ใช่คนจีนอยู่เมืองไทยมานาน หรือใช้คนเป็นนอมินีในการดำเนินธุรกิจ”
แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ส่วนเรื่อง แพลตฟอร์มเทมู (Temu) แอปพลิเคชั่นซื้อขายสินค้าราคาถูกชื่อดังจากจีน ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย มองว่า ไม่ใช่ธุรกิจไทยแข่งขันสู้ไม่ได้ แต่เป็นเพราะไทยไม่มียุทธศาสตร์ที่จะรองรับการแข่งขันในเวทีโลก โดยเฉพาะแพลตฟอร์มขายของที่เป็นของไทยเองที่จะนำไปแข่งขันสู้กับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างยั่งยืน
ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์การแข่งขันในการเจาะตลาดต่างประเทศะประเทศ เสาะหากลยุทธ์นำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โมเดลเศรษฐกิจ BCG และรูปแบบ S-Curve เข้ามาช่วย โดย ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เสนอว่า ไทยจะต้องสร้างขุนพลทางเศรษฐกิจออนไลน์ ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) ชาวไทย ที่มีทักษะด้านการสื่อสารและภาษาแต่ละประเทศ เช่น นักศึกษาที่กำลังศึกษาและเพิ่งจบการศึกษาซึ่งมีทักษะด้านภาษา ให้มาเข้าโครงการสร้างแบรนด์ เทคนิคการขาย การตลาด ในรูปแบบเศรษฐกิจใหม่ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะเป็นตัวแทนขายสินค้าให้กับภาคเอกชนและเกษตรกรไทย เพื่อรองรับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ที่ไทยแข่งขันได้ สิ่งเหล่านี้จะทำให้การค้าทางออนไลน์ของไทยมีความแข็งแรงมากขึ้น และนำรายได้เข้าสู่ประเทศ
สำหรับข้อเสนอหลักต่อรัฐบาลใหม่ในการช่วยเหลือธุรกิจ SME ได้แก่
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งมีสำคัญที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจฐาน เพิ่มกำลังซื้อ และรายได้ ให้กับชุมชน เกษตรกร และผู้ประกอบการธุรกิจ SME
- มาตรการลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการ SME และลดค่าครองชีพให้กับประชาชนอย่างมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น
- มาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SME อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการแก้หนี้ทั้งระบบ ซึ่งจะทำให้กลับมามีความสามารถชำระหนี้ได้อีกครั้ง และไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป
- มาตรการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ SME ควบคู่กับพัฒนาแรงงาน ซึ่งจะเพิ่มผลิตภาพผู้ประกอบการ ให้สามารถใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขับเคลื่อนธุรกิจ จนสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจคาร์บอนต่ำในอนาคต ซึ่งจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้
- ทบทวนกฎหมายและกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของผู้ประกอบการ SME ทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย การส่งเสริมนวัตกรรมและภาคบริการ การส่งเสริมผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ กลุ่มเปราะบาง ยกเลิกระบบการขอใบอนุญาตที่ล้าสมัย โดยจะต้องหาทางทำให้กลไกทั้งหมดนี้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ ซึ่งต้องมีหน่วยงานหลักที่เป็นเจ้าภาพในแต่ละด้าน คอยจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไข ที่จะสามารถส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในวงกว้างได้ รวมถึงสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาคเอกชนและภาคประชาสังคม เพื่อให้การแก้ไขตอบโจยท์และทันสมัยต่อการเปลี่ยนแปลง
- ต้องมียุทธศาสตร์ที่ทำให้เกิดการแข่งขันในเวทีโลก ในด้านการค้า การลงทุน ที่จะรอบรับสถานการณ์โลกได้ และจะต้องมียุทธศาสตร์เชิงรุก เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในเวทีโลกและอาเซียน
เฮือกสุดท้ายผู้ประกอบการไทยปรับตัวสู้
ในมุมความเห็นของผู้ประกอบการธุรกิจ SME ไทยอย่าง กาญจน์ ดีสุวรรณ เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม เปิดเผยกับ The Active ว่า เริ่มต้นทำธุรกิจร้านชาไทย แบรนด์ “ชาลงกา” เมื่อหลายปีก่อน จากนั้นธุรกิจเริ่มเติบโตจนขยายสาขาออกไปกว่า 200 สาขา ต่อมาเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจแย่ จึงลดสาขาลงเหลือ 30 สาขา และเริ่มขยับไปขายผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่ม ในชื่อแบรนด์ “ลงกา” เน้นลูกค้าที่รักสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันมีรายได้เฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อวัน แม้จะไม่เท่าเดิมเหมือนสมัยก่อน แต่ก็ยังพอดำเนินธุรกิจต่อไปได้
เจ้าของธุรกิจชาไทย ยอมรับว่า ตอนนี้เป็นช่วงที่หนักจริง ๆ เพราะธุรกิจได้รับผลกระทบมาตั้งแต่โควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจแย่ แล้วยังถูกกลุ่มทุนจีนขายของแข่ง ซึ่งร้านขายเครื่องดื่มของกลุ่มทุนจีนก็มีหลายแบรนด์ และยังเตรียมขยายอีกเป็นพันสาขา โดยได้เปรียบต้นทุนต่ำ ราคาถูก แต่ไม่เน้นคุณภาพ ทำให้ธุรกิจ SME ไทยสู้ไม่ได้ เพราะเน้นคุณภาพทำให้มีต้นทุนที่สูง
“เพื่อนที่ทำธุรกิจ SME ก็ได้รับผลกระทบกันหมด แต่ละคนต้องหาทางช่วยตัวเองกันไปก่อน เช่น ปรับรูปแบบ และแผนธุกิจ เพื่อให้ประคองต่อไปได้ ส่วนคนที่สู้ไม่ไหวก็ปิดกิจการไปแล้วหลายราย”
กาญจน์ ดีสุวรรณ
เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่ม อยากให้รัฐบาลช่วยธุรกิจ SME ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยที่ต่ำ จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินมาหมุนเวียนธุรกิจได้ และอยากให้สนับสนุนธุรกิจ SME ที่มีผลิตภัณฑ์ชูเอกลักษณ์ความเป็นไทย หรือในเชิงซอฟต์พาวเวอร์ให้มากขึ้น
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำที่กำลังจะปรับขึ้นเป็น 400 บาทนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับมาตรการนี้ แต่รัฐบาลต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วย การปรับขึ้นค่าแรงจะกระทบธุรกิจ SME อย่างมาก