Policy Forum เสนอปรับแผน PDP 2024

ประเมินช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นโอกาสดีให้ปรับเปลี่ยนร่าง PDP 2024 เปิดเสรีไฟฟ้าไม่ยึดติดระบบผู้ซื้อรายเดียว ‘เดชรัตน์’ เตือนไม่ควรสร้างความมั่นคงให้ตัวเองโดยเอาประชาชนไปรองรับ เสนอยกระดับระบบ “Micro Grid” นำระบบ “Net Metering” มาใช้แทน “Net Billing” เพื่อความเป็นธรรม

วันนี้ (22 ส.ค. 2567) ในงานเสวนา Policy Forum ครั้งที่ 17 ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาดสร้างโอกาสประเทศ อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงานสะอาด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) อัปเดตร่างแผน PDP 2024 ว่า เมื่อเดือนที่แล้วการพิจารณาร่างฯ ใกล้แล้วเสร็จ โดยเหลือเพียงข้อเดียวที่ต้องทบทวนคือการผลิตไฟฟ้าด้วยไฮโดรเจน ทั้งที่ยังมีเสียงของภาคประชาชนอยากให้ปรับร่างใหม่ โดยมีใจความสำคัญหลัก ๆ ให้ลดสัดส่วนการสร้างโรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่จากก๊าซและโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำลง และเปิดเสรีไฟฟ้าให้อย่างน้อยภาคเอกชนสามารถร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันเองได้

ทั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดี เมื่อเราอยู่ในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากชุดอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มาเป็น แพทองธาร ชินวัตร ตรงนี้ถือเป็นช่วงหลุมอากาศที่มีโอกาสเสนอให้เปลี่ยนร่าง PDP 2024 ได้ใหม่กับนายกคนใหม่นี้

ขณะที่ เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center กล่าวเสริมด้วยว่า การวางแผนสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่ม ตามที่ปรากฏในร่างแผน PDP 2024 พิจารณามาจากสถิติชุดเดิมที่มีการพยากรณ์เกินจริง ทำให้เราต้องจ่าย “ค่าความพร้อม” เพื่อการสำรองไฟที่ผลิตได้มากจริง กลายเป็นต้นทุนของผู้ผลิตที่ผลักไปเป็นภาระของประชาชนในรูปแบบของ “ค่าไฟ” ที่แพงขึ้น

อย่างไรก็ตามใช่ว่าข้อเสนอเหล่านี้จะทำไม่ได้ ต้องผลักดันต่อผ่านกระบวนการที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นสภาผู้แทนราษฎร คุยกับรัฐบาล หรือการผลักดันของภาคประชาสังคมโดยตรง แต่สิ่งสำคัญที่ต้องทำให้เห็นคือ การพยากรณ์ที่เกินจริงทำให้กลายเป็นต้นทุนอย่างไร และใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

“3 เหลี่ยมความสมดุลของระบบไฟฟ้า ‘ความมั่นคง’ ไทยเรามีทรัพยากรเยอะ ‘ความยั่งยืน’ หรือเรื่องของพลังงานสะอาดเราอาจมีน้อยอยู่ แต่อีกเหลี่ยมที่ควรตั้งคำถามคือ ‘ความมั่งคั่ง’ ที่จริงแล้วคือของใคร ไม่ควรพยายามสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเองโดยเอาประชาชนไปรองรับ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เราจะต้องยอมอีกต่อไป แต่ปัญหาคือใครจะรับผิดชอบจากการพยากรณ์ที่เกินจริง ถ้าเกินจริง 10% เราอาจรับได้ แต่ถ้ากำลังสำรองเกินไป 40-50% รัฐทำไมถึงไม่พร้อมรับผิดชอบกับการตัดสินใจของตัวเอง”

เดชรัต สุขกำเนิด 
เดชรัต สุขกำเนิด 

ทั้งนี้ ในงาน “แก้กับดักนโยบายพลังงานสะอาดสร้างโอกาสประเทศ” ที่ The Active ไทยพีบีเอส ร่วมกับองค์กรเครือข่ายจัดขึ้นมา เพื่อติดตามข้อเสนอแนวนโยบาย พร้อมระดมความเห็นนำไปสู่ข้อเสนอผลักดันพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน ชาคร เลิศนิทัศน์ และ ทรรศิกา สิงห์ตุ้ย พิธีกรรายการ “สะอาด Podcast” ให้ข้อมูลว่า “ค่าไฟแพง” เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพราะราคาของค่าไฟฟ้า มาจาก 3 ปัจจัยสำคัญ

  • โครงสร้างต้นทุน ทั้งการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ การใช้โรงไฟฟ้าเดิม รวมถึงการไม่ใช้โรงไฟฟ้าเดิมแล้วแต่ยังเดินเครื่องอยู่ 
  • เชื้อเพลิงประเภทเชื้อเพลิงที่เลือกใช้ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ, ถ่านหิน หรือ พลังงานน้ำ ล้วนมีราคาตามกลไกตลาด
  • นโยบายของภาครัฐ เช่น การสำรองไฟ

“ในอนาคตเราจึงมองว่าควรกระจายความเสี่ยงที่ส่งผลต่อราคาค่าไฟเหล่านี้ด้วยการดึงพลังงานสะอาดเข้ามาในระบบเพราะปัจจุบันระบบไฟฟ้าของไทยมาจากก๊าซธรรมชาติถึง 78 % ขณะที่สัดส่วนของพลังงานสะอาดมีอยู่แค่ 22% ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าทำไมช่วงสงคราม ต้นทุนจากผลิตไฟถึงแพงและทำให้ราคาไฟฟ้าแพงตามด้วย”

ชาคร เลิศนิทัศน์ 

โดยหนึ่งในพลังงานสะอาดที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงที่ทำให้ราคาค่าไฟแพงได้ และปัจจุบันเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ  “แสงอาทิตย์” ที่ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งโซลาร์ภาคพื้นดินทะลุ 100% ซึ่งมีข้อมูลสำรวจความเห็นพบว่าช่วยลดรายจ่ายได้จริง และสร้างรายได้จากการขายไฟที่ผลิตเหลือใช้ได้ด้วย 

อย่างไรก็ตาม “การติดโซลาร์บนหลังคา” ยังมีเพียง 21% เท่านั้น แต่การติดดังกล่าวในรูปแบบของครัวเรือน ก็ช่วยประหยัดไฟบ้านได้เช่นเดียวกัน สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยโครงการ CASE และ สถาบันวิจัยพลังงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่าคนไทยมีศักยภาพที่จะทำและนี่ไม่ใช่แค่เป็นแนวคิดที่สวยหรูเท่านั้น 

“โครงการโซลาร์ประชาชน เป็นอีกก้าวที่ทำให้เราสามารถใช้ไฟฟ้าแบบกระจาย แต่จะดียิ่งขึ้น ถ้าสามารถดึงจุดเด่นของไฟฟ้าพลังงานสะอาด โดยมีการวางระบบ Micro Grid มีการวางแผนเรื่องแบตเตอรี เพื่อเพิ่มความเสถียรรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาด และมีนโยบายจูงใจ”

สิริภา จุลกาญจน์

สิริภา จุลกาญจน์

Policy Forum ชวนถกโอกาสและความฝันระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด

ในงานเสวนา “ปลดล็อกนโยบายพลังงานสะอาดสร้างโอกาสประเทศ” ที่มีนักวิชาการ และตัวแทนผู้ใช้ไฟฟ้าและผู้ทำธุรกิจไฟฟ้าวิสาหกิจชุมชนและครัวเรือน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงโอกาสและข้อจำกัดในการยกระดับไฟฟ้าพลังงานสะอาดของไทย

อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงานสะอาด สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของไทยกำหนดไว้ให้ตรงกับปี ค.ศ. 2050 ซึ่งช้ากว่าภาคการผลิตที่กำหนดให้ตรงกับปี ค.ศ. 2030 ทำให้ไทยเสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะนักลงทุนจะปลี่ยนไปใช้ประเทศอื่นเป็นฐานการผลิตแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายตามแรงกดดันจากทั่วโลกในการลดคาร์บอนไดออกไซด์

ภาคการไฟฟ้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง การยกระดับไฟฟ้าไทยให้เป็นพลังงานสะอาดจึงสำคัญ แต่ในร่างแผน PDP 2024 แม้จะตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้มากขึ้นเป็น 51% แต่กลับยังวางนโยบายเป็นอุปสรรค

  • เพิ่มโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง วางแผนเพิ่มโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่อีก 8 แห่ง และโรงไฟฟ้าน้ำขนาดใหญ่ 3 แห่ง ทำให้ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้กลายมาเป็นต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ “ค่าไฟแพงขึ้น” 
  • ประเมินประสิทธิภาพของ Energy Technology ต่ำเกินไป ทั้งที่ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่ต่ำลงเรื่อย ๆ 
  • ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ไม่มีการระบุถึงการสนับสนุนโซลาร์ภาคประชาชน และการเปิดตลาดไฟฟ้าเสรีด้วยพลังงานสะอาด

ดังนั้นที่ร่างแผน PDP 2024 ตั้งเป้าเพิ่มไฟฟ้าพลังงานสะอาดให้เกินครึ่งภายในปี ค.ศ. 2037 จะทำได้จริงหรือไม่ และอีก 13 ปีต่อจากนี้ที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 จะสำเร็จไหมในเมื่อแผนขับเคลื่อนระยะสั้นยังมีอุปสรรค 

อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์


เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward มองว่า เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำในช่วงรอยต่อการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลนี้ ต้องกลับมาทบทวนร่าง PDP 2024 ขณะเดียวกันสิ่งที่ อดีตนายกฯ เศรษฐา เคยชวนนักลงทุนเข้ามาภายในประเทศ ในวันนี้ต้องเริ่มแล้ว ที่จะเปิดช่องให้ผู้ซื้อผู้ขายไฟฟ้าพลังงานสะอาดเจอกันได้อย่างเสรี ซึ่งปัจจุบันไทยยังยึดติดกับระบบผู้ซื้อรายเดียว

นอกจากนั้นต้องยกระดับระบบ “Micro Grid” ให้สามารถรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาดของประเทศ และนำระบบ “Net Metering” มาใช้แทน “Net Billing” ที่ทำให้ราคาซื้อกับราคาขายไฟเป็นธรรมด้วย 

รวมถึงต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนและครัวเรือนสามารถทำระบบพลังงานสะอาดของตัวเองได้ เพื่อสร้างจุดแข็งให้ประเทศ เพราะไม่แน่ว่าไทยเราอาจเป็นผู้นำ มีชุมชนตัวอย่างด้านพลังงานสะอาดด้วย ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศเจ้าเดียวยื่นแต่ข้อเสนอชุดเดิมให้ชุมชนเลือกว่า จะใช้ระบบไฟฟ้าของตัวเองหรือจะใช้ระบบของเขา

เดชรัต สุขกำเนิด

ทั้งนี้ นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า ปัจจุบันคนยังติดกับดักว่าใช้พลังงานสะอาดต้องแพง เมื่อก่อนอาจใช่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะการพึ่งพิงก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะ LNG พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เมื่อเกิดสงครามรัสเซียยูเครน ราคา LNG ผันผวนตามตลาดโลก พุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าแพงขึ้น แต่ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามตรึงราคาค่าไฟอยู่ ไม่เช่นนั้นเราอาจเห็นค่าไฟในราคา 5 บาท/หน่วยแล้ว

“ราคาไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องถูก แต่ต้องเหมาะสม การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในคำตอบ ขณะเดียวกันก็อยากให้มองทรัพยากรในประเทศด้วยว่า เราสามารถผลิตไฟฟ้าชีวมวลได้ แม้ราคาชีวมวลจะแพงกว่าโซลาร์ แต่ทำให้เกิดการจ้างงานคนในพื้นที่ ทำให้เกิดการอุดหนุนซื้อเศษสินค้าการเกษตร และทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในชุมชน 4 เท่า อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ก็ยังเป็นต้นทุนที่ถูกกว่า เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ”

นที สิทธิประศาสน์

นที สิทธิประศาสน์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active