ชี้ปรับปรุงกฎหมายในรอบ 45 ปี คาดหวังเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ส่งเสริมนำผลงานวิจัยสู่สังคม ช่วยประชาชน ผู้ประกอบการ เข้าถึงผลงานวิจัย นวัตกรรมอย่างทั่วถึง
ภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเอกฉันท์รับ ร่างพระราชบัญญัติสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ด้วยคะแนนเสียง 409 คน พร้อมเปิดตัวกรรมาธิการจากทั้งฝั่งรัฐบาลและฝ่ายค้านรวม 33 คน
ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.วว. พ.ศ. 2522 ได้แก่ 1. การแก้ไขวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของ วว. เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจและนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 2. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และส่งเสริมการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน โดยย้ำว่า การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ได้แก่
- ปรับปรุงวัตถุประสงค์ของสถาบันวิจัยฯ ให้สามารถดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลงานวิจัย การพัฒนาบุคลากรวิจัย และการถ่ายทอดวิทยาการแก่ภาครัฐและเอกชน
- รับค่าบำรุงและผลประโยชน์ตอบแทนจากการดำเนินงานของสถาบัน
- ปรับปรุงรายได้ของ วว. ให้ครอบคลุมถึงรายได้จากการให้กู้ยืมเงิน การลงทุน และดอกเบี้ยจากทรัพย์สินของสถาบัน
หลังจากการลงมติดังกล่าว ได้มีการเสนอจำนวนกรรมาธิการ 33 คน ประกอบด้วยคณะรัฐมนตรี 8 คน และคณะกรรมการจากพรรคการเมืองต่าง ๆ เช่น พรรคก้าวไกล, เพื่อไทย, ภูมิใจไทย เป็นต้น โดยมีการเสนอรายชื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. วว. จำนวน 8 คน อาทิ ศุภมาส อิศรภักดี, ศ.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต
“กระทรวง อว. มีความยินดีที่ได้ช่วยผลักดันให้การแก้กฎหมายหรือ พ.ร.บ. วว. ที่มีใช้มากว่า 45 ปี ได้สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่ง มั่นใจว่า ผลจากการปรับ พ.ร.บ. ครั้งนี้ จะทำให้ วว. สามารถนำผลงานวิจัยสู่สังคม ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้อย่างทั่วถึง”
ศุภมาส อิศรภักดี