11 อุตสาหกรรมร่วมประกาศปฏิญญา 5 ประการ ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก เดินหน้าผลักดันเป็นรูปธรรมนับตั้งแต่ 1 ก.ค.67 พาประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ
เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 67 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดประชุมนานาชาติด้านซอฟต์พาวเวอร์ และรองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เดินทางมาเป็นประธานในพิธีปิดงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” โดยมี แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ และ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้ง 11 สาขา เข้าร่วมงาน
นายแพทย์สุรพงษ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสุดท้าย หลังเตรียมงานกันมา 9 เดือน 17 วัน นับตั้งแต่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ขึ้นมา งาน THACCA SPLASH ถือเป็นการประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่าเราจะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์อย่างเป็นทางการ และจะเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าซอฟต์พาวเวอร์ของเรา เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะผลักดันประเทศไทยก้าวต่อไปอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 67 ทุก ๆ อุตสาหกรรมจะทำงานอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เป็นนามธรรมอีกต่อไป โดยได้สรุปเนื้อหาเป็น “ปฏิญญา 5 ประการ”
ประการที่ 1 ในยามที่ประเทศไทยลำบาก ซอฟต์พาวเวอร์คือยุทธศาสตร์หนึ่งที่สำคัญที่สุดของรัฐ ไม่ใช่การมาหาคำนิยาม หรือไม่ใช่เป้าหมายทำซอฟต์พาวเวอร์เพื่อเป็นซอฟต์พาวเวอร์ แต่เพื่อเปลี่ยนเศรษฐกิจของประเทศให้หลุดพ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลางเป็นรายได้สูง
ประการที่ 2 ต้องลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ทุกคนต้องได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้ และต้องไม่มีใครถูกทิ้ง การฝึกฝนทักษะ ฝีมือระดับสูง จะทำให้เกิดการพัฒนาทักษะระดับสูงครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ คือมีคน 20 ล้านคนที่จะได้รับประโยชน์นี้
ประการที่ 3 การขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ต้องเปลี่ยนการจัดการครั้งใหญ่ บางส่วนต้องรวมศูนย์ บางส่วนต้องกระจายอำนาจ ด้านที่รวมศูนย์คือเราจะต้องมีการรวมศูนย์การกำหนดยุทธศาสตร์ การกำหนดงบประมาณ เราจะมีการตั้งสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) โดยจะออกเป็นพระราชบัญญัติให้เสร็จสิ้นในกลางปี 2568 ในด้านที่กระจายอำนาจ เราจะต้องกระจายให้จังหวัดและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับชาติ เราจะให้มีคณะอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ระดับจังหวัดทุกจังหวัด ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีหน่วยงานที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เศรษฐกิจสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน
ประการที่ 4 การขับเคลื่อนยุทธศาสต์ซอฟต์พาวเวอร์นี้จะมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โยภาครัฐจะทำหน้าที่สนับสนุน อำนวยความสะดวก ปรับปรุงกฎหมาย พัฒนาระบบนิเวศน์ จัดตั้งกองทุน จัดตั้งวัน สต๊อปเซอร์วิส เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีบทบาทในการขับเคลื่อนอย่างจริงจัง และเราจะมีการขับเคลื่อนสภาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ เช่น สภาภาพยนตร์ สภาดนตรี สภาศิลปะ สถาบันหนังสือแห่งชาติ สถาบันอาหาร สถาบันแฟชั่น เป็นต้น
ประการที่ 5 ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไปสู่เวทีโลก ทำให้ซอฟต์พาวเวอร์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจ ที่จะมุ่งเน้นในการทำให้เสน่ห์ของคนไทยไปสู่ตลาดระดับโลก ผ่านการทูตเชิงวัฒนธรรม ขับเคลื่อนโดยท่านเอกอัครราชทูต ท่านทูตพาณิชย์ที่ประจำอยู่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันก็จะส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกับมิตรประเทศ เพื่อที่จะประสานความสามารถในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ไปยังต่างประเทศทั่วโลก
“หวังว่าแสงแห่งความหวังที่ได้เริ่มต้นใน 3 วันนี้จะนำพาชีวิตไปสู่แสงสว่างของคนไทยทุกคน และเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของประเทศไทย เรารู้ดีว่าเรากำลังทำเรื่องที่ยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เราคิดว่าเราต้องช่วยกันขับเคลื่อนกันทั้งสังคม ทุกอย่างที่เริ่มต้นใหม่อาจจะมีข้อบกพร่องและเราต้องมีการแก้ไขปรับปรุงตลอดเวลา แต่ทุกงานก็ต้องมีจุดเริ่มต้น และจุดเริ่มต้นเริ่มกันวันนี้”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี