ทำถึง!! เมื่อเมนูชุมชน จากภูเขา ถึง ทะเล ไม่ได้มีดีแค่รสชาติ

ประธานอนุกรรมการฯ ด้านอาหาร ประกาศกลางเวที THACCA SPLAH พร้อมหนุนของดีชุมชน สู่ซอฟต์พาวเวอร์ ย้ำอาหารของชุมชน สะท้อนทุนวัฒนธรรมหลายมิติ ตัวแทนอนุกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม เห็นตรงกัน มองคุณค่าของดีชุมชน ที่ต้องสนับสนุนทางนโยบาย จาก local สู่ เลอค่า 

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.67 ในเวที Connecting Soft Power Resource Forum แลกเปลี่ยนเชื่อมชุมชน สู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์  ซึ่งวันนี้จัดขึ้นเป็นวันที่ 2  โดยไทยพีบีเอส ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA เพื่อเปิดพื้นที่ หรือป็นสะพานเชื่อม ให้ชุมชนได้มานำเสนอของดี หรือทุนวัฒนธรรมต่าง ๆ แลกเปลี่ยนกับตัวแทนคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 11 ด้าน สู่เป้าหมายการเชื่อมต่อทางนโยบาย เพื่อยกระดับทุนวัฒนธรรมชุมชนในมิติต่าง ๆ  สู่ซอฟต์พาวเวอร์  

ในงานครั้งนี้ มีการจัดกิจกรรมสำคัญ “Lunch & Talk“  ที่เชฟชุมชน เหนือจรดใต้  ทั้งกลุ่มภูเขา ชาวเล ชาวเกาะ และตัวแทนชุมชนสามจังหวัดชายแดนใต้ ได้นำเมนูดั้งเดิมหลากเมนู ที่ตั้งใจปรุงและจัดเตรียม  โดยมีเชฟมืออาชีพรุ่นใหม่ ที่สนใจเรื่องราว วัตถุดิบที่มีคุณภาพและคุณค่าของชุมชน อย่าง เชฟแบงค์  พงศกร เจียรสาธิต  มาร่วมรังสรรค์เมนูต่าง ๆ เพื่อถ่ายทอดคุณค่าอาหารของชุมชน

พร้อมตั้งใจเสิร์ฟเมนูอาหารกว่า 15 เมนู  ต่อประธาน และตัวแทนอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม 11 ด้านและตัวแทนภาคส่วนต่างๆ   เริ่มตั้งแต่เมนูเรียกน้ำย่อย ป๊อบคอนดอย ที่ทำจากข้าวฟ่าง และข้าวเกรียบปลา หรือกือโป๊ะจากจังหวัดชายแดนใต้ เพื่อเปิดให้ไปสำผัสเสน่ห์ชุมชน จาก เหนือ จรดใต้

และเริ่มด้วย Menu-Bouche  เมนูแรกเสิร์ฟแบบพอดีคำ เรียกน้ำย่อยด้วย  “เงี้ยนอินทรี โอมากาเสะ” นำปลาอินทรีสดขนาด 10 กิโลกรัมมาแร่ในงาน  เป็นเมนูสะท้อนวัฒนธรรมอาหารดั้งเดิม ในการกินปลาดิบคู่น้ำจิ้มซีฟู๊ดผสมถั่วตัด จากเกาะเต่า สุราษฎร์ธานี  ที่มาพร้อมกับความสดฉ่ำของวัตถุดิบของชุมชนชาวเกาะกลางทะเล 

ต่อด้วย  Infuse Water ฤดูอินฟิวซ์  ที่ปลุกความสดชื่น ด้วยน้ำดื่มผสมผลไม้ตามฤดูกาลของทางภาคเหนือและตะวันตก  

Appetizer รสชาติหลังบ้าน การผสมผสานเมนูอาหารจากวัตถุดิบชุมชนเหนือจรดใต้ 2เมนูของทอด   โดยนำเห็ดลมทางภาคเหนือ เสิร์ฟพร้อมกับเมนูที่ใช้ชื่อว่าดอกเห็ด ซึ่งเป็นเมนูที่ทำจากปลาโทงห้าวหั่น ทอดชุบเครื่องแกงจากทางภาคใต้  ซึ่งหากไม่มีกิจกรรมลักษณะนี้ ก็ยากที่วัตถุดิบและเมนูทั้งสอง จะได้มาผสมผสานกัน เพราะอยู่กันคนละพื้นที่ แต่เมื่อนำมาผสมหรือมิกซ์กันแล้ว กลับมีความลงตัว 

Soup  ซุบใสชายแดนใต้ เมนูซุบเนื้ออิสลาม ที่ตั้งใจสะท้อนอัตลักษณ์ของสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยกลุ่มลูกเหรียง เยาวชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ กับการพัฒนายกระดับฝีมือด้านอาหาร จนสามารถขายอาหาร นำรายได้มาช่วยเหลือสังคม

และที่ถือว่าพิเศษ คือ Main course ที่เป็นการรวมเมนูเด็ดของชุมชน จากเหนือจรดใต้  เช่นข้าวดอย บือเนอมูบือซู และ ตาเข่อ จากชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ, ยำหอยกัน ของชาวเล, ซอเลาะ โดยกลุ่มลูกเหรียง จังหวัดชายแดนใต้ , ส่าจ๊อย ของชาวลีซู , น้ำพริกปลารมควัน  และ ผงนัว ซึ่งเป็นการนำใบเหลียงของชุมชนปกาเกอะญอไล่โว่ มาตากแห้งโรยกินกับข้าวเพิ่มรสชาติความอร่อย  และน้ำชุบพริก จากเกาะเต่า  ทั้งนี้จัดเสิร์ฟพร้อมกัน ใน Theme  “มากินข้าวกัน” ที่สะท้อนความเป็นคนไทย ครอบครัวเดียวกันไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน และการมีส่วนร่วมของทุกพื้นที่ 

ตบท้ายด้วยเมนู Charming Sunset  และ ขนมหวาน เมนูตูป๊ะซูตง โดยกลุ่มลูกเหรียง   ที่ใช้ปลาหมึกยัดไส้ข้าวเหนียว เป็นเมนูขนมหวานที่ชาวมุสลิมสามจังหวัดชายแดนใต้ทำกินในช่วงละศีลอด ซึ่งเมนูนี้ น้องแอลลี่ ตัวแทนกลุ่มลูกเกรียง กล่าวทั้งน้ำตาด้วยความปลาบปลื้ม และเรื่องราวที่มา ว่า หากดูภายนอกหลายคนมักคิดว่าไม่น่าจะเป็นขนมหวาน ดูขัดแย้งกันแต่จริง ๆ คือของหวาน   ก็เหมือนชายแดนใต้ที่ถูกมองว่ามีความขัดแย้ง แต่จริง ๆ แล้วมีของดีและมีความสุข อย่างอาหารที่ทำออกมาทั้งรสชาติและความสวยงามจากวัตถุดิบคุณภาพของชาวประมงในพื้นที่

อิ่มแล้วง่วง ยังมีของดีที่ปลุกความสดชื่นด้วย Coffee & Tea ชาพันปี และ ปกาเกอะญอดริปเชค  โดยการนำเสนอและรับประทานอาหารครั้งนี้ อยู่ในท่ามกลางบรรยากาศดนตรีที่มีการผสมผสาน ระหว่างดนตรีสากล และดนตรีชาติพันธุ์อย่างเตหน่า สะท้อนวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่ง และพร้อมพัฒนายกระดับให้เป็นที่ยอมรับ

ตัวแทนคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม11 ด้าน ต่างเห็นพ้องยอมรับในคุณค่าของชุมชน ที่ไม่ได้มีดีแค่รสชาติอาหาร   แต่เรื่องราวอาหาร ฉายภาพทุนวัฒนธรรมทุกมิติ ที่ทำให้เห็นว่าในชุมชนมีของดีหลายอย่าง ทั้งวัตถุดิบที่ดี จากการดูแลบริหารจัดการทรัพยากร องค์ความรู้ ภูมิปัญญา  ที่ต้องสนับสนุนทางนโยบายเพื่อต่อยอดยกระดับ  ด้านตัวแทนชุมชน มองเห็นโอกาสการยกระดับของดีที่พวกเขามีในชุมชน

“มันเปิดโลกโอกาสใหม่มาก ที่ได้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนโยบายของซอฟต์พาวเวอร์ ได้แชร์สิ่งดี ๆ ต่าง ๆ ในพื้นที่ ว่าจะต้องสนับสนุนอย่างไร และมีอนุกรรมการมาช่วยคอมเมนต์แนะนำ คือเป็นการเปิดโอกาสให้เราไปปรับ ว่าจะทำอย่างไรให้พื้นเรามีโอกาส เพราะมีของดีหลายอย่าง โดยเฉพาะฐานทรัพยากร อาหาร  ที่เชื่อมกับการท่องเที่ยวชุมชน“

อิสมาแอ ตอกอย เจ้าหน้าที่สมาคมเด็กและเยาวชนเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ (กลุ่มลูกเหรียง) จ.ยะลา

ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร กล่าวว่า ตนในฐานะประธานอนุกรรมการ ซอฟต์พาวเวอร์อาหาร และในฐานะผู้ทำโครงการร้านอาหารชุมชน การที่ได้สัมผัสชุมชนตั้งแต่เชียงแสน ไปถึงเบตง ได้เห็นว่า วัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นอัญมณีของชุมชนมีเยอะมากกว่าอาหาร การทานอาหารวันนี้ตนมองว่าเป็นความคุ้มค่า และวัฒนธรรมของแต่ละชุมชนนี่แหละ คือความได้เปรียบของประเทศไทย

“ทราบไหมครับว่า ทำไมรสชาติอาหารไทยถึงดีที่สุดในโลก เพราะเรามีวัฒนธรรมหลากหลายและลงตัวกันได้ดีมากที่สุด” 

ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร

จากสิ่งที่เกิดขึ้นในงานครั้งนี้ ได้ถูกนำหยิบยก ไปพูดในเวทีใหญ่ ก่อนปิดงาน THACCA SPLASH SOFT POWER FORUM 2024 ถึง Next step หรือก้าวต่อไป ของ 11 อุตสาหกรรมเพื่อขับเคลื่อนซอฟพาวเวอร์ โดยเชฟชุมพลประกาศกลางเวทีว่าจะขับเคลื่อนหลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการเชฟชุมชน 100 ร้าน โดยได้หยิบยกช่วงการชิมอาหารของท้องถิ่น ในเวที Connecting Soft Power Resource Forum ครั้งนี้ ไปพูดถึงการขับเคลื่อนนโยบายที่จะเดินหน้าต่อ 

“ที่วันนี้ได้ไปชิมอาหารของชุมชนท้องถิ่นที่นำมาเสิร์ฟห้องข้างบนเมื่อซักครู่  ซึ่งเชฟชุมชน เกี่ยวข้องกับทุกชุมชนหมู่บ้าน เราจะไปช่วยพัฒนาต้นน้ำให้เป็นโปรดัก ภาคเกษตรมีสินค้าที่ดี เป็นโจทย์ที่ต้องทำว่าจะขายอย่างไร และจะทำสื่อประชาสัมพันธุ์ให้สินค้าชุมชนขายได้อย่างมีคุณภาพหวังให้เกิดความสำเร็จในปีหน้า“

ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร
ชุมพล แจ้งไพร ประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านอาหาร

การจัดงาน Connecting Soft Power Resource Forum แลกเปลี่ยนเชื่อมชุมชน สู่นโยบายซอฟต์พาวเวอร์  ทั้ง 2 วัน เป็นสะพานเชื่อมทางนโยบาย  มีเป้าหมายสำคัญ เพื่อรวบรวมการระดมข้อแลกเปลี่ยนต่างๆของชุมชน และ 11 อุตสาหกรรม สู่ข้อเสนอ ไปจนถึงการหานวัตกรรมทางนโยบาย ที่ให้ชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมทางนโยบาย งบประมาณ ที่สามารถยกระดับของดีท้องถิ่น สู่เป้าหมายซอฟพาวเวอร์ของไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active