ปักหมุดเคลื่อน 11 อุตสาหกรรม ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ หวังโกยรายได้ 4 ล้านล้าน/ปี

รัฐบาลประกาศคิกออฟนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ส่งเสริมตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ ชวนร่วมงาน “THACCA SPLASH” ลงทะเบียนเรียนหลักสูตร OFOS ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่ตลาดโลก ขณะที่ ประชาชนเชื่อรัฐมาถูกทาง ยิ่งมีแรงผลักดัน ยิ่งต่อยอดของดีที่มีอยู่เดิมให้ไปได้ไกล

วันนี้ (28 มิ.ย. 67) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และคณะ ร่วมเยี่ยมชมงานประชุมนานาชาติและนิทรรศการด้านซอฟต์พาวเวอร์ “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นายกรัฐมนตรี บอกว่า ภาคอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมจำนวนไม่น้อยใช้ทักษะต่ำ ซ้ำยังต้องพึ่งพาอาศัยธรรมชาติและฤดูกาล ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ไม่แน่นอน ส่งผลกระทบไปสู่สถานการณ์การเงินของครอบครัวและระดับประเทศ แสดงออกมาเป็นปริมาณหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ที่สูงกว่า 90%

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างเศรษฐกิจถึงเวลาต้องอัพเกรด จากแรงงานทักษะต่ำต้องผันไปใช้ทักษะสูง เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลและความนิยมงานที่ให้มูลค่ากับฝีมือมากขึ้น รัฐบาลจึงเล็งเห็นการผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้เป็นอุตสาหกรรมที่คนไทยทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้ ด้วยศักยภาพของทุกคนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรม ฝีมือ และเวทีในการแสดงออก

โดยมีหมุดหมายสำคัญ เพื่อสร้างอาชีพและสร้างรายได้ ให้คนไทยอยู่ดี มีสุข และทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญก้าวหน้า การจัดงานในครั้งนี้จึงมุ่งปักหมุดใน “3 สร้าง” คือ

  • สร้างแรงบันดาลใจ – ให้ทุกคนตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง

  • สร้างเวที – สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนระดับนานาชาติให้คนไทยได้เรียนรู้จากผู้ประสบความสำเร็จด้านซอฟต์พาวเวอร์ตัวจริงทั้งจากชาวไทยและคนต่างชาติ

  • สร้างการรับรู้ – ให้ทุกคนได้รับรู้ถึงพลังซอฟต์พาวเวอร์ไทยทุกทิศทางอย่างทรงพลัง เปรียบเสมือนการสาด (Splash)

นายกรัฐมนตรี ระบุด้วยว่า การจะผลักดันยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จได้ ต้องพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มจากการพัฒนาคน ซึ่งรัฐบาลได้ทำหลักสูตร “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (OFOS) เปิดให้คนไทย ได้เข้าไปเรียนรู้พัฒนาทักษะสร้างสรรค์ เติมแรงงานทักษะสูงเข้าสู่ตลาด ขั้นกลางน้ำจะจัดการจัดระเบียบกฎหมาย พร้อมตั้งหน่วยงาน “THACCA” ให้ทำหน้าที่ผลักดันอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์อย่างครบวงจร และขั้นปลายน้ำ “THACCA” จะเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานต่างประเทศ เพื่อนำซอฟต์พาวเวอร์ไทยเผยแพร่สู่สากล ให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

งาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” จึงถือเป็นก้าวแรกของการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล ซึ่งจะมีลานกิจกรรม “THACCA PAVILION” ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงความสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ต่อเศรษฐกิจ ที่จะช่วยยกระดับประเทศไทยไปสู่ประเทศรายได้สูง และมีลานกิจกรรมอื่น ๆ ให้ประชาชนได้เข้าไปต่อยอดองค์ความรู้ จากการฉายภาพกลไกการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ และเทคนิคจากผู้ประสบความสำเร็จตัวจริง ให้ได้รู้วิธีการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สู่ตลาดโลก

แพทองธาร ชินวัตร ประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ

ขับเคลื่อน 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์
สร้างมูลค่าเศรษฐกิจไทย 4 ล้านล้าน/ปี

ขณะเดียวกัน แพทองธาร กล่าวปาฐกถาพิเศษ ระบุการจัดงานครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ที่ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยพร้อมแล้วที่จะเป็นผู้นำในด้านนี้ โดยตลอด 3 วันของกิจกรรมประชาชนจะสามารถเข้ามาเรียนรู้ แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นกันได้อย่างเต็มที่

ที่สำคัญยังเป็นครั้งแรกที่จะเปิดให้ลงทะเบียนโครงการ “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (OFOS) หลักสูตรพัฒนาศักยภาพ เสริมทักษะสร้างสรรค์ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ได้แก่ อาหาร, แฟชั่น, การออกแบบ, ศิลปะ, เกม, กีฬา, ภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์, การท่องเที่ยว, เฟสติวัล, ดนตรี และ หนังสือ ให้ประชาชนได้เข้าไปอบรมถึง 225 หลักสูตร ซึ่งจะเริ่มเรียนในเดือน ก.ค.นี้กันอีกด้วย

“เราเชื่อมาเสมอว่าภูมิปัญญาของชาวบ้าน วัฒนธรรมไทย และศักยภาพของคนไทย มีมูลค่าสูงและดึงดูดความสนใจของคนต่างชาติทั่วโลกได้ แน่นอนในสมัยก่อนอาจไม่มีคำเรียกที่ชัดเจน แต่วันนี้เราเรียกกันว่าซอฟต์พาวเวอร์”

แพทองธาร ชินวัตร

แพทองธาร ยอมรับว่าสิ่งที่มีอยู่แล้ว ยังต้องเติมองค์ความรู้ เทคโนโลยี แบรนด์ดิ้ง และการเล่าเรื่อง เหมือนกับนโยบาย “1 ผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล” (OTOP) ที่ได้รวบรวมผลิตภัณฑ์จาก 7,000 ตำบลทั่วประเทศนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพสูง ซึ่งมีหัวใจหลักคือการเชื่อในศักยภาพของคนไทย และรัฐบาลเข้ามาสร้างแบรนด์ดิ้งเพิ่มการเล่าเรื่อง พร้อมทั้งใช้เทคโนโลยีมายกระดับผลิตภัณฑ์จนสามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทยได้ไม่น้อยกว่า 2 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ในช่วงระยะเวลาไล่เลี่ยกัน ตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทยในปี 2545 ยังมีการทำ TCDC, TK PARK, โครงการ “กรุงเทพเมืองแฟชัน” และโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ผลิตเชฟมากมาย และสร้างอาหารไทยทั่วโลกมากขึ้นไม่น้อยกว่า 2 หมื่นร้านทั่วโลก แต่นโยบายเหล่านี้ยังไม่ถึงเป้าหมาย เพราะขาดจิ๊กซอว์ที่จะทำซอฟต์พาวเวอร์ให้สมบูรณ์

“ครั้งนี้เราจึงคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายว่าซอฟต์พาวเวอร์จะต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 4 ล้านล้านบาท ยกระดับคุณภาพชีวิต ทำให้มีรายได้ไม่น้อยกว่าครัวเรือนละ 2 แสนบาทต่อปี สร้างทักษะแรงงานสร้างสรรค์ไม่น้อยกว่า 20 ล้านตำแหน่ง มีร้านอาหารไทยในต่างประเทศเพิ่มไม่น้อยกว่า 1 แสนแห่ง มียิมมวยไทยทั่วโลกเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20,000 แห่ง หนังสือจากคนไทยจะต้องได้รับการแปลในหลายภาษาอย่างเป็นระบบ หมอลำ T-Pop นักร้องลูกทุ่ง จะมีพื้นที่ในเวทีคอนเสิร์ตระดับนานาชาติ มีแฟนเพลงทั่วโลก และเทศกาลของไทบจะต้องได้รับ IP Festival”

แพทองธาร ชินวัตร

ทั้งนี้การจะไปถึงเป้าหมายทั้งหมดนี้ จะต้องสร้าง 3 ยุทธศาสตร์สำคัญ  ได้แก่

  1. นโยบายการพัฒนาศักยภาพคน ซึ่งล่าสุดได้ดำเนินการแล้วในนโยบาย “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” (OFOS)

  2. นโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม คือการตั้ง Thailand Creative Culture Agency (THACCA) หน่วยงานผู้กำหนดนโยบาย รวบรวมงบประมาณ แก้ไขปัญหากฎหมายที่ติดขัดในอุตสาหกกรรม ซึ่งความพิเศษของ THACCA คือการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนในแต่ละอุตสาหกรรมเป็นผู้นำภาครัฐเป็นครั้งแรก

  3. นโยบายต่างประเทศ คือการตั้งเป้าส่งออกสิ่งที่แต่ละประเทศต้องการ โดยเราได้ทำงานร่วมกับคณะทูตไทยทั่วโลกและทูตพาณิชย์เป็นที่เรียบร้อย และได้มอบนโยบายนี้เพื่อจับคู่สิ่งที่เรามีกับสิ่งที่ในแต่ละประเทศต้องการ เพื่อขยายโอกาสให้คนไทย

“ซอฟต์พาวเวอร์ที่เราทำในวันนี้ อาจผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่ในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด ต้องทำด้วยกลไกใหม่ให้เกิดขึ้นจริง วันนี้รัฐบาลเริ่มแล้ว และเราจะทำอย่างจริงจังมากที่สุดตั้งแต่ที่ประวัติศาสตร์เคยมี และนโยบายนี้จะเป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทยในอีกหลาย 10 ปีข้างหน้า”

แพทองธาร ชินวัตร

เช็ก 7 โซนกิจกรรมสำคัญ “THACCA SPLASH”

สำหรับ “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” เป็นงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย ที่จะรวบรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ทั้งในประเทศและทั่วโลก มาไว้ในที่เดียว ซึ่งจะจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2567 โดยมีโซนสำคัญหลัก ๆ ให้เยี่ยมชม 7 โซน ได้แก่

  • SPLASH Visionary Zone – เวทีแสดงวิสัยทัศน์ โชว์ศักยภาพ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

  • THACCA Pavilion – นิทรรศการจาก THACCA ที่จะบอกเล่าทุกความฝัน ทุกเป้าหมาย และนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศด้วย Soft Power

  • 11 Industries Pavilion – นิทรรศการจาก 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่จะทำให้ทุกคนเข้าใจศักยภาพด้าน Soft Power ของประเทศไทย รวมถึงศักยภาพด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของคนไทย และเป้าหมายอนาคตที่เราอยากให้โลกได้รับรู้

  • International Pavilion – นิทรรศการจากนานาชาติที่จะนำเสนอโอกาสและความสำเร็จของนโยบายด้านวัฒนธรรมสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน หรือสหรัฐอเมริกา

  • SPLASH Masterclass – ห้องเรียน Reskill Upskill สำหรับทุกๆ คนที่มองหาโอกาสในชีวิต

  • กิจกรรม Hackathon – สนามประลองไอเดีย

  • SPLASH Activation Lounge – พื้นที่สำหรับการสร้างความร่วมมือ และการจับคู่ค้าทางธุรกิจ (Business Matching)

ลงทะเบียนเรียนหลักสูตร “OFOS” ไฮไลต์งาน “THACCA SPLASH”

ภายในงาน “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” จะเปิดให้ลงทะเบียนหลักสูตร “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ “OFOS” อย่างเป็นทางการครั้งแรก โดยจะมีเจ้าหน้าที่กองทุนหมู่บ้าน เดินถือ QR Code ให้ประชาชนสแกนสมัครได้ทั่วทั้งงาน รวมถึงรับลงทะเบียนให้สำหรับผู้ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรศัพท์มือถือ เพียงขอรายละเอียดจากหน้าบัตรประชาชนและที่อยู่อาศัยเท่านั้น

ธานินทร์ วัฒนพรหม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน หน่วยงานกองทุนหมู่บ้าน

ธานินทร์ วัฒนพรหม นักวิเคราะห์นโยบายและแผน หน่วยงานกองทุนหมู่บ้าน เปิดเผยข้อมูลว่า ภายในงานนี้มีประชาชนให้ความสนใจลงทะเบียนหลักสูตร “OFOS” มาก มีทั้งขอสแกน QR Code และเดินมาที่จุดลงทะเบียนด้วยตัวเอง ซึ่งขณะนี้มีผู้สมัครรวมแล้วเกือบ 30,000 คน โดยส่วนมากจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจ และจากการรับลงทะเบียนของตัวเองจะพบ 3 อุตสาหกรรมที่ประชาชนมากสุด คือ เชฟ, กีฬา และศิลปะ

ทั้งนี้มองว่าเป้าหมายระยะแรกที่รัฐบาลวางเอาไว้ว่าจะมีผู้ลงทะเบียนเรียนหลักสูตร “OFOS” ราว 200,000 คน จะสำเร็จได้ เนื่องจากมีผู้สนใจมากมาย และด้วยการรับสมัครมีทั้งในรูปแบบออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐ, เว็บไซต์ OFOS และเจ้าหน้าที่กองทุนหมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งอาจมีถึงหลักหมื่นหน่วยเป็นจุดรับสมัคร จึงเชื่อว่าประชาชนทุกคนจะเข้าถึงได้ง่าย

ประชาชนเชื่อรัฐมาถูกทาง ดัน “ซอฟต์พาวเวอร์ไทย” สู่สากลได้

The Active พูดคุยกับประชาชนภายในงานวันนี้ ต่างเชื่อว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรม มีศักยภาพที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ให้ไปไกลสู่สากลได้ เพียงแต่ที่ผ่านมาอาจคาดทักษะสร้างสรรค์ คาดการกระตุ้นจากรัฐเพื่อเพิ่มการต่อยอด

พัทรา อริยานนท์ ผู้จัดการโครงการ บริษัท วิสม่าเอเชีย จำกัด มองว่า ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น อาหาร การท่องเที่ยว หรือภาพยนตร์ไทยอย่าง “เรื่องหลานม่า” น่าสนใจมาก ถ้าเกิดได้ต่อยอดหรือมีพื้นที่ในการเผยแพร่ให้ไปได้ไกล ต้องสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศแน่นอน

“วันนี้ ได้เดินทางมาหาประสบการณ์เรื่องอาหาร และพาเพื่อนมาลงทะเบียนโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งเชฟอาหารไทย ด้วย ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ และกำลังจะพาเพื่อนเข้าไปเรียนรู้ทักษะการทำอาหาร เสริมความรู้เรื่องเทรนด์อาหารโลก ให้สามารถพัฒนาตัวเอง หรือธุรกิจสตาร์ทอัพก็สามารถขายสินค้าที่ตรงตามความต้องการของตลาดโลกได้”

พัทรา อริยานนท์
อังคนา ประสพธรรม และ ธัญพร วงษ์ษา

ขณะที่คนรุ่นใหม่ อังคนา ประสพธรรม และ ธัญพร วงษ์ษา นักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้า มองเช่นเดียวกันว่า ทรัพยากรที่ประเทศไทยมี ดีอยู่แล้ว ถ้ามีการผลักดันของรัฐเพิ่มเข้ามา จะช่วยต่อยอดได้เพิ่มมากขึ้น สร้างอาชีพและสร้างรายได้ที่ดีให้กับคนไทยได้ รวมถึงงาน “THACCA SPLASH” ยังทำให้ตัวเองได้เปิดโลก ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เป็นแรงบันดาลใจที่จะนำไปต่อยอดด้านการท่องเที่ยวที่เรียนมา ตอกย้ำความคิดที่ว่าการจัดงาน จัดคอนเสิรต์แบบเดิม ๆ อาจไม่เพียงพอ และในวันนี้ก็ได้เห็นความสำเร็จของผู้จัดอีเวนต์มากไอเดียแล้ว

“วันนี้มองว่ารัฐมาถูกทางแล้ว แต่สิ่งที่อยากฝากเพิ่มคืออยากให้มีการเรียนรู้แบบนี้ในระยะยาวและหลักสูตรยิ่งเข้มข้นได้ยิ่งดี เชื่อว่าตรงนี้เสริมศักยภาพคนไทย ให้ผลิตผลงานที่ขายได้ตรงกับความต้องการตลาดโลก”

สำหรับบรรยากาศ “THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024” วันแรก ตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็นเต็มไปด้วยความคึกครื้น โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ว่าจะมีคนเข้างานตลอดทั้ง 3 วัน ราว 200,000 คน สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวไทยตื่นตัวและให้ความสนใจมาก อีเวนต์นี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญของไทยที่จะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์สู่สากล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active