หวัง THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ต่อยอดของดีชุมชนสู่สากล

รอง ปธ.บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ ย้ำ เดินสู่เป้าหมายสร้างความเข้าใจยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ สร้างการมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ช่วยให้คนไทยได้ประโยชน์จากซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมขับเคลื่อนวัฒนธรรมสร้างสรรค์สู่เวทีโลก

หลังรัฐบาลประกาศให้ ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นอีกหนึ่งนโยบายเรือธงสำคัญ ตั้งกลไก คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม มาแล้ว 8 เดือน การจัดงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 งานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมระดับนานาชาติ ในวันที่ 28-30 มิถุนายนนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ จึงถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรกสำหรับการเปิดตัวนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เปิดเผยกับ The Active ย้ำว่า งานนี้คือการตอกเสาเข็ม เพื่อสร้างรากฐานสำคัญ หรือเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ของประเทศไทย ด้วยการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ โดยการจัดงานTHACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 มีเป้าหมายหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่     

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ 

ประการแรก อยากทำให้ทุกคนเข้าใจยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ เพราะก่อนหน้านี้ ความเข้าใจเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ กลายเป็นเรื่องที่ต่างคนต่างพูด ต่างคนเข้าใจไปคนละอย่างหรือคนละทิศทาง แต่ถ้ากลับไปที่รากของคำนิยาม ของคนที่ถูกกล่าวอ้างอยู่เสมอ คือ โจเซฟ ไนย์ ศาสตราจารย์ทางด้านรัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เขียนหนังสือ ซอฟต์พาวเวอร์เมื่อปี 2004 โดยมีนิยามที่เข้าใจไม่ยาก

“ซอฟต์พาวเวอร์ คือ ความสามารถ
ในการทำให้สังคมอื่น ประเทศอื่น 
ทำตามสิ่งที่เราอยากให้เขาทำ
โดยสมัครใจ”  

นพ.สุรพงษ์ บอกว่า แม้เป็นคำพูดประโยคเดียว แต่การทำให้เกิดความสำเร็จจากประโยคเดียวนั้นไม่ง่าย เพราะถ้าง่าย ๆ ทุก ๆประเทศ ก็คงประสบความสำเร็จกันไปหมดแล้ว การที่จะสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ก็คือการสร้างให้เกิดความมีเสน่ห์ 

“อย่างที่โจเซฟ ไนย์ พูดว่า Attraction  คือ ทำยังไงให้เรามีเสน่ห์ ที่ทำให้คนเขาหลงไหลเรา ก็เหมือนกับว่า ต้องการให้ใครรักเรา เราก็ต้องหว่านเสน่ห์ จะหว่านเสน่ห์ด้วยอาหาร มวยไทย ภาพยนตร์ไทย แฟชันไทยที่ประเทศไทยเป็นผู้ออกแบบ แบบนี้เป็นต้น ดังนั้นวันนี้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ที่รัฐบาลได้กำหนดไว้เพื่อขับเคลื่อนจากนี้ หน้าตาซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร นิยามซอฟต์พาวเวอร์คืออะไร อาจไม่สำคัญเท่ากับว่า จะขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ให้สำเร็จได้อย่างไร”   

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ประการที่ 2  ก็สำคัญมาก ๆ และถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่คนไทยทุกคนจะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ออกจากประเทศไทยไปสู่ตลาดโลกได้อย่างไร และคนไทยจะได้รับประโยชน์ให้ทั่วถึง ไม่มีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโอกาสนี้ได้อย่างไร ซึ่งตรงนี้จะมีเครื่องมือสำคัญผ่านโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS ที่ต้องทำให้ประชาชนได้รับโอกาส แก้ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ ด้วยการ Upskill Reskill ครั้งใหญ่

“อยากให้อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว ได้โอกาสที่จะฝึกฝนทักษะของตัวเอง ตามความถนัด ความชอบ แล้วก็กลายเป็นผู้ที่มีทักษะสูง นำมาสู่การสร้างรายได้ ตามเป้าหมายของเรา คืออย่างน้อยปีละ 200,000 บาท หรือเดือนละ 16,000 บาท ต่อคน ซึ่งนั่นหมายความว่า ถ้าสมาชิกครอบครัว 1 คนมีรายได้แล้ว จะทำให้สมาชิกในครอบครัวนั้น ๆ มีรายได้เฉลี่ยคนละ 4,000 บาท ซึ่งพ้นขีดความยากจน จะเป็นตัวสะท้อนสำคัญ ที่จะทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น ๆ ถูกแก้ไขไป และเป้าหมายจะต้องทำให้เสร็จภายใน 4 ปี โดยที่จะเริ่มขับเคลื่อนในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไป“ 

 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 

โดยโครงการ 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ OFOS นี้จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการและเปิดให้ลงทะเบียน ในงาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันที่ 28 มิถุนายนนี้ โดยทุกคนสามารถที่จะมาดูได้ว่า ความฝันที่ตัวเองเคยมี ไม่ว่าจะอยากจะเป็นเชฟอาหาร นักมวยไทย นักร้อง ศิลปิน หรือนักออกแบบ โอกาสได้มาถึงแล้ว 

ประการที่ 3 นพ.สุรพงษ์ อธิบายว่า ซอฟต์พาวเวอร์ เป็นเรื่องของการที่จะร่วมมือกับทุก ๆ คน ทั้งในประเทศ และระดับนานาชาติ ดังนั้นจึงเรียกได้เลยว่างานTHACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 เป็นการประชุมระดับนานาชาติ โดยได้มีการเชิญคนที่เป็นผู้รู้ในระดับโลก ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มาพูดถึงเรื่องทิศทางวิสัยทัศน์ซอฟต์พาวเวอร์ในอุตสาหกรรมของเขา 

“หลายประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น มาร่วมออกแบบ PAVILION และเพื่อโชว์ว่า ประเทศนั้น ๆ ได้ขับเคลื่อนเรื่องซอฟพาวเวอร์กันอย่างไร ซึ่งจะเป็นการสร้างความร่วมมือต่อไปในอนาคต สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ใช้ซอฟต์พาวเวอร์มาเป็นกลไก ในการจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แล้วบริษัทต่าง ๆ ในระดับนานาชาติระดับโลก สามารถที่จะมาร่วมกับทางภาครัฐและหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้ออกไปสู่ตลาดโลกด้วยกัน“

 นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี 

ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์ ต่อยอดของดีชุมชน สู่สากล

นพ.สุรพงษ์ ยังระบุด้วยว่า ในงานTHACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 มีเวที Connecting soft power resource Forum ที่ชวนเจ้าของทุนวัฒนธรรมดั้งเดิมจากชุมชนชาติพันธุ์ตั้งแต่พื้นที่ป่าบนภูเขา จนถึง ทะเล ให้มาเล่าเรื่องวิถีชีวิตในระบบนิเวศน์ที่มีพลังและความหมาย เรียกว่าโชว์ของดีในชุมชน เพื่อต่อยอดทรัพยากรมากคุณค่า สู่การพัฒนาทุนด้านต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ

“นี่เป็นโอกาสสำคัญ หากชาวบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ ได้มาพบกับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งอุตสาหกรรมต่าง ๆ วันนี้เราคุยกัน ส่งเสริมวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่หลากหลายมาก แล้วพัฒนาต่อจนกระทั่งมาเป็นโอกาสในระดับโลกได้ รัฐบาลเอง เชื่อมั่นว่า เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวก ถ้าหากเอกชน ชาวบ้าน ประชาชน มีความต้องการ มีโอกาสที่จะได้แสดงศักยภาพเหล่านี้ รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่“

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

จุดประกายวัฒนธรรมสร้างสรรค์

สำหรับงานTHACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 นั้นภาคีร่วมจัดงานคาดหวังให้ผู้ร่วมงาน ได้พบกับแรงบันดาลใจมากมาย พร้อมด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ประกอบด้วย

1. SPLASH VISIONARY ZONE

  • VISION STAGE : เวทีหลักที่นำเสนอวิสัยทัศน์ พร้อมอัพเดตเทรนด์โลก และแลกเปลี่ยนกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและโอกาสทางธุรกิจใน 11 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เช่น การเสวนาเรื่องการตัดสินใจนำงาน S2O Songkran Music Festival ไปจัดที่ต่างประเทศ โดยผู้จัดงาน S2O จากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง

  • PATHWAY STAGE : เวทีที่ผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จในสายงานวัฒนธรรมสร้างสรรค์ มาร่วมแชร์ความคิดเห็นและสร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน เช่น การพูดคุยในหัวข้อ “Changes in Content Landscape” โดยผู้แทนจาก TikTok และ Netflix

  • PERFORMANCE STAGE : เวทีสำหรับนักสร้างสรรค์จากอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เปิดโอกาสให้ปลดปล่อยพลังและความสามารถ มีครบทั้งดนตรี แฟชั่นโชว์ ภาพยนต์ และอื่นๆ อีกมาก

  • SPLASH POD : พอดแคสต์สัมภาษณ์เหล่าอินฟลูเอนนเซอร์ และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา ที่จะมาแชร์ประสบการณ์เพื่อสร้างพลังแห่งความหวัง 

2. CREATIVE CULTURE PAVILION 

พื้นที่นิทรรศการที่จะนำเสนอนโยบาย และการขับเคลื่อนของภาคเอกชน เพื่อส่งเสริม 11 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกันผลักดันให้วัฒนธรรมสร้างสรรค์ไทยไปไกลระดับโลก ทั้ง THACCA Pavilion และ Pavilion จาก 11 อุตสาหกรรม รวมถึง Pavilion นานาชาติ จากประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอิตาลี

3. SPLASH MASTER CLASS

ห้องเรียนเวิร์คช็อปและพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ เช่น SPLASH Hackathon ที่จะส่งเสริม เปิดพื้นที่ให้ทุกคน รวมถึงชุมชนต่าง ๆ ได้เข้ามาร่วม Hack Idea เพื่อพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ให้ทุกคนที่อยากหาโอกาสใหม่ ๆ 

ผู้ที่สนใจ สามารถร่วมงาน THACCA SPLASH : SOFT POWER FORUM 2024 ในวันที่ 28-30 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active