‘หมอเลี้ยบ’ ย้ำ หลักสูตร OFOS พลิกโฉมประเทศไทย แก้จน ลดเหลื่อมล้ำ ด้วยทักษะซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งเป้า ภายในปี 2570 อย่างน้อย 1 คน ในครอบครัว การันตีรายได้ 200,000 บาท/ปี เตรียมเปิดตัวระบบลงทะเบียน 28 มิ.ย.นี้
วันนี้ (21 มิ.ย. 67) สำนักงานขับเคลื่อนการปฎิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อน นโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (OFOS Workshop) โดยมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ และ ชุติมา หาญเผชิญ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. พร้อมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 ด้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการหารือการพัฒนาหลักสูตร OFOS เพื่อเป็นการเสริมสร้างศักยภาพของคนไทยให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้
ชุติมา หาญเผชิญ ระบุถึงวัตถุประสงค์การจัดงาน OFOS Workshop เป็นเวทีหารือการพัฒนาหลักสูตร OFOS ของแต่ละด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ทั้ง 11 ด้านให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการภาคเอกชน นำไปสู่การจับคู่งาน หรือ Job Matching ตลอดจนเพื่อแนะนำแนวทางการพัฒนามาตรฐานหลักสูตรและระบบคลังหน่วยกิตซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) มุ่งสู่การสร้างหลักสูตร OFOS ที่มีคุณภาพต่อไป
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ระบุว่า หลักสูตร OFOS เป็นนโยบายที่จะเปลี่ยนประเทศไทย 2 ประการ ได้แก่
- ต้องการสร้างเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้สามารถนำพาประเทศไทยสู่ประเทศพัฒนา โดยการเพิ่มทักษะฝีมือของแรงงานภายในประเทศผ่านซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้ประชาชนมีรายได้ที่สูงขึ้นและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
- เพื่อสร้างโอกาสให้คนไทยทุกคน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และลดจำนวนคนยากจนภายในประเทศ โดยยกตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่โด่งดังไปทั่วโลก อาทิ อาหารไทย และกีฬามวยไทย เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาทักษะของประชาชนจึงเป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อน ประกอบกับการพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
“เราตั้งเป้าไว้ ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นทำนโยบายนี้คือว่า ต้องการให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง กลายเป็นประเทศที่ทีรายได้สํงต่อไปในอนาคต นั่นหมายความว่า เป้าหมายของเรา จะต้องทำให้ รายได้ต่อหัวประชากรที่เป็นอยู่ตอนนี้ 7,000 เหรียญสหรัฐฯ ให้ ได้ไปถึง 13,000 เหรียญสหรัฐฯ คือเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ถือว่าเป็นเป้าหมายมที่ท้าทาย แต่เป็นเป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
นพ.สุรพงษ์ บอกด้วยว่า อีกเป้าหมายสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ต้องถูกกำจัดไป โดยนโยบาย อัพสกิล รีสกิลครั้งใหญ่ สำหรับคนไทยที่อยู่ในแต่ละครอบครัว นั่นเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง
“เราอยากให้อย่างน้อย 1 คนในครอบครัว ได้โอกาสที่จะฝึกฝนทักษะของตัวเอง ตามความถนัด ความชอบ แล้วก็กลายเป็นผู้ที่มีทักษะสูง แล้วนำมาสู่การสร้างรายได้ ตามเป้าหมายของเรา คืออย่างน้อยปีละ 200,000 บาท หรือเดือนละ 16,000 บาท ซึ่งจะเป็นตัวสะท้อนสำคัญ ที่จะทำให้ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น ๆ ถูกแก้ไขไป คือเป้าหมายจะต้องทำให้เสร็จภายใน 4 ปี หรือภายในปี 2570”
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี
สิริกร มณีรินทร์ ประธานคณะทำงานจัดการศึกษาหลักสูตร 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ กล่าวถึงการจัดทำซอฟต์พาวเวอร์คลังหน่วยกิตแห่งชาติ (National Soft Power Credit Bank) เพื่อเป็นมาตรฐานในการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ และเมื่อผู้เรียนสำเร็จหลักสูตรสามารถเก็บสะสมหน่วยกิต ได้ตลอดชีวิตเพื่อต่อยอดการเรียนรู้สู่ระดับที่สูงกว่าต่อไป ดังนั้น การขับเคลื่อนหลักสูตร OFOS จึงเป็นโอกาสการเรียนรู้ตลอดชีวิตครั้งใหญ่ และไร้รอยต่อ
สำหรับการดำเนินงานของ สำนักงาน ป.ย.ป. ในการขับเคลื่อนนโยบาย OFOS โดยได้สำรวจหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานภาครัฐที่สอดคล้องกับ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ได้ยืนยันว่าตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ พร้อมรวบรวมหลักสูตรที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ด้านต่าง ๆ ได้จัดทำขึ้น จำนวนทั้งสิ้น 225 หลักสูตร พร้อมทั้งจัดทำภาพการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศรองรับหลักสูตร OFOS หรือ OFOS Ecosystem เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบาย 1 ครอบครัว 1 ทักษะซอฟต์พาวเวอร์ อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมเปิดตัวระบบลงทะเบียนระบบ OFOS ตามนโยบายสร้างคน ยกระดับศักยภาพ สร้างสรรค์ให้คนไทย มีทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ โดยมีกำหนดการเริ่มลงทะเบียนอย่างเป็นทางการ ภายในงาน THACCA SPLASH: Soft Power Forum 2024 ในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป
ขณะที่ พิมพ์ใจ ลี้อิสสระนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุถึงยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการดำเนินงานของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากอุตสาหกรรมในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 46 อุตสาหกรรม โดยกว่าครึ่งมีความเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ส.อ.ท. จึงมีความพร้อมร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ผ่าน 77 สภาอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ซึ่งมีสมาชิกทั้งสิ้น 16,000 บริษัท ก้าวไปสู่เป้าหมายการสร้างคุณค่าซอฟต์พาวเวอร์ไทย สู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อย่างยั่งยืน