ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าทำสถิติใหม่สูดสุดในคืนวันที่ 29 เม.ย. 67 กระทรวงพลังงานเผยกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองทั้งประเทศเหลืออยู่ 25% Reserve Margin ลดลงจากปีที่แล้ว
วันนี้ (30 เม.ย. 2567) วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทย มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. สูงสุดในประวัติศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดพีคในช่วงเวลากลางคืน เป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) ไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าออกมาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบได้
ขณะที่ตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา ไทยเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด จำนวน 4 ครั้ง ได้แก่
- วันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.5. น. ค่าพีคอยู่ที่ 29,051.3,
- วันที่ 22 ก.พ. 2567 ค่าพีคอยู่ที่ 30,989.3 เวลา 19.29 น.
- วันที่ 7 มี.ค. 2567 ค่าพีคอยู่ที่ 32,704 เวลา 19.47 น.
- วันที่ 29 เม.ย. 2567 ค่าพีคอยู่ที่ 36,699.9 เวลา 21.00 น.
ทั้งนี้ ตัวเลขระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจากกำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่า ประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง อยู่ที่ประมาณ 25.8% ลดลงจากปีที่ผ่านมา ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ ในเดือน พ.ค. 2566 คิดเป็นกำลังผลิตสำรองประมาณ 30.9%
อย่างไรก็ตามกระทรวงพลังงานจะติดตามการใช้ไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป