รู้จัก Cốc Cốc เว็บเบราว์เซอร์เวียดนาม ท้าชน Google

ตัวแทนภาคธุรกิจ SMEs สตาร์ตอัปไทย ร่วมเรียนรู้ช่องทาง ต่อยอดโอกาสรุกตลาดเวียดนาม

ในบรรดาเว็บเบราว์เซอร์ โปรแกรมท่องเว็บ และ เสิร์ชเอนจิน หรือ โปรแกรมค้นหา ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกมากที่สุด หนีไม่พ้น Chrome และ Google แต่ก็มี เว็บเบราว์เซอร์ ของจีนและรัสเซียเท่านั้น ที่ยังได้รับความนิยมในประเทศตัวเอง ส่วนประเทศอื่นล้วนแต่ใช้จากยักษ์ไอทีระดับโลก

แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีประเทศในอาเซียน ที่พัฒนาของตัวเองขึ้นมา และเป็นเอกชนที่ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล จนได้รับความนิยมภายในประเทศอย่างมาก สามารถแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ระดับโลกได้ นั่นคือ Cốc Cốc ของประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอันดับ 2 ของประเทศ มีผู้ใช้งานเดือนละ 30 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนเวียดนาม

Cốc Cốc แปลความหมายเป็นภาษาไทย ก็คือ “ก๊อก ก๊อก” หรือ เสียงเคาะประตู เป็นไปตามวิสัยทัศน์ของบริษัทที่ประกาศไว้ว่าในปี 2025 จะเป็น “ประตูสู่อินเทอร์เน็ต” ที่คนเวียดนามส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน

เหวียน วู อัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ก๊อก ก๊อก จำกัด (Cốc Cốc) ผู้ก่อตั้งซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-ฝรั่งเศส ได้มาบรรยายสรุปและตอบข้อซักถามด้วยตนเอง พร้อมพา The Active และคณะจากประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยตัวแทนภาคธุรกิจ SMEs และกลุ่มสตาร์ตอัป นำโดย แคสเปอร์ – ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรียลลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SEA Bridge) และ กฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ปันโปรโมชั่น จำกัด เข้าเยียมชมสำนักงาน

เหวียน วู อัน ระบุว่า ปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของ Cốc Cốc ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม มีพนักงานรวม 150 คน ทั้งฝ่ายพัฒนาและการตลาด ส่วนสำนักงานอีกแห่งอยู่ในเมืองไซ่ง่อน มีพนักงาน 50 คน โดยเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดทั้งหมด

เหวียน วู อัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ก๊อก ก๊อก จำกัด (Cốc Cốc)

เหวียน วู อัน กล่าวว่า Cốc Cốc มีบริการ 3 ส่วน คือ เว็บเบราว์เซอร์, เสิร์ชเอนจิน และ แพลตฟอร์มโฆษณา โดยมีคนใช้เว็บเบราว์เซอร์ และเสิร์ชเอนจิน เป็นอันดับ 2 ในเวียดนาม โดยเฉพาะเบราว์เซอร์ มีคนใช้ประมาณเดือนละ 30 ล้านคน รองจากค่ายกูเกิล

แต่กว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี โดยเริ่มก่อตั้งบริษัทเทคโนโลยีในปี 2008 ในชื่อว่า Itim Technology Company Limited ในปี 2013 เริ่มเปิดบริการ เว็บเบราว์เซอร์ และเสิร์ชเอนจิน ที่ชื่อว่า Co Rom ซึ่งเว็บเบราว์เซอร์ มีผู้ดาวน์โหลดถึง 1 ล้านคนเพียง 1 เดือนหลังเปิดบริการ

ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อเว็บเบราว์เซอร์ และเสิร์ชเอนจิน จาก Co Rom เป็น Cốc Cốc และเปิดตัวแพลตฟอร์มโฆษณา ขณะที่ในปลายปี 2014 ได้แซง Mozilla Firefox เป็นเบราว์เซอร์อับดับ 2 ของเวียดนาม มีผู้ใช้งานเฉลี่ยรายวันแซงหน้า Facebook

ถัดมาในปี 2015 บริษัทเพื่อการลงทุน Hubert Burda Media Holding จากเยอรมนี เข้าลงทุนใน Cốc Cốc ด้วยเงินลงทุน 14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีการขยายธุรกิจได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้น

Cốc Cốc พัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยมี 3 ผลิตภัณฑ์หลัก คือ เว็บเบราว์เซอร์, เสิร์ชเอนจิน และ แพลตฟอร์มโฆษณา (Ad Platform) ซึ่งสามารถรองรับลูกค้าได้หลากหลาย โดยมีบริการด้านข้อมูลและการวิจัยตลาด เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ของโลก

เหวียน วู อัน ยังโชว์ข้อมูลให้เห็นว่า ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Cốc Cốc สนใจสินค้าบริการอะไรบ้าง โดยสามารถแยกเป็นประเภทอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ใช้บริการผ่านแพลตฟอร์มสามารถนำไปใช้เพื่อธุรกิจได้

แคสเปอร์ – ธนกฤษณ์ เสริมสุขสัน บอกว่า การจัดให้ผู้ประกอบการรายเล็กมาเรียนรู้ Cốc Cốc เพราะที่ผ่านมามีข้อจำกัดในการเข้าถึงตลาดเวียดนาม ดังนั้นจึงถือเป็นโอกาสของการใช้ Cốc Cốc เป็นช่องทางเปิดตลาด และรุกตลาดในเวียดนาม แม้ยังมีอีกหลายช่องทาง แต่ก็นับว่ามีศักยภาพ หากดูตามจำนวนผู้ใช้บริการ ซึ่งคนเวียดนาม บอกว่า Cốc Cốc ค้นหาค่อนข้างเร็ว หากเป็น “ภาษาเวียดนาม”

ปิยนิชย์ พีระเตชะสิทธิ์ ผู้จัดการฝ่ายขายและบริการลูกค้า บริษัท ABBRA CORPORATION จำกัด ยอมรับว่า การจะใช้บริการหรือไม่ ขึ้นอยู่กับค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับรายอื่น ๆ และเป็นช่องทางที่ตรงกับสินค้าของบริษัท

อย่างไรก็ตาม Cốc Cốc ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของทางการเวียดนาม ได้รับรางวัลระดับประเทศมากมาย ทั้งยังได้รับรางวัลแพลตฟอร์มดิจิทัลแห่งชาติเพื่อประชาชนในปี 2022 และติด 1 ใน 10 อันดับ ผลิตภัณฑ์ที่น่าไว้วางใจที่สุดของประเทศ

หากดูจากคนเวียดนามใช้บริการ Cốc Cốc จึงไม่น่าแปลกใจ ในขณะที่คนใช้สื่อออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ แพลตฟอร์มของ Cốc Cốc ยังยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการรุกเข้ามาของยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่างไม่หยุดยั้ง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active