TDRI สำรวจตลาดงาน พบ ‘แรงงาน จบ ป.ตรี’ นายจ้างยังต้องการสูงสุด

ตลาดงานยังกระจุกตัวใน กทม.-ปริมณฑล เผย ทักษะประสานงาน-บำรุงรักษา และ ผลสอบ TOEIC ยังเป็น Soft Skill แรงงาน ที่โดนใจนายจ้าง ขณะที่ กสศ. ชี้วิกฤตทักษะแรงงาน อ่านไม่ออก-อ่อนดิจิทัล-ขาดทักษะทางอารมณ์ ส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 67 ทีมวิจัย “โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยข้อมูลเชิงวิเคราะห์ความต้องการแรงงานและทักษะต่าง ๆ ที่นายจ้างต้องการ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามสภาวะทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี โดยการวิเคราะห์ได้นำ Big Data จากประกาศรับสมัครงาน มาวิเคราะห์ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อสะท้อนแนวโน้มของตลาดงาน และเป็นข้อมูลต่อยอดให้กับทางมหาวิทยาลัย สถานบันอาชีวะศึกษา และสถานศึกษาต่าง ๆ

ทีมวิจัยได้ปรับปรุงระบบการจัดเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ประกาศหางาน โดยรวมข้อมูลจาก 15 เว็บไซต์หางานชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลประกาศหางานที่มากขึ้น ทำให้ในรายงานฉบับนี้จะไม่เปรียบเทียบข้อมูลกับข้อมูลในอดีต เนื่องจากเป็นฐานข้อมูลที่ต่างกัน

3 ใน 5 ของนายจ้างยังเลือกรับคนจบ ป.ตรี

ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566 พบว่า มีประกาศรับสมัครงานทั้งหมด 1,299,111 ตำแหน่งงาน เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน พบว่า วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นวุฒิการศึกษาขั้นต่ำที่นายจ้างต้องการมากที่สุด โดยไล่เรียงจากวุฒิที่รับสมัครจำนวนมากไปน้อยไปดังนี้

  • วุฒิปริญญาตรี 857,419 ตำแหน่ง (60.03%)

  • วุฒิ ปวช. 156,449 ตำแหน่ง (12.05%) 

  • วุฒิ ปวส. 91,421 ตำแหน่ง (7.04%)

  • วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 89,917 ตำแหน่ง (6.29%)

  • ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา 39,932 ตำแหน่ง (3.08%)

  • ไม่ระบุวุฒิการศึกษาขั้นต่ำ 36,969 ตำแหน่ง (2.85%)

  • มัธยมศึกษาปีที่ 3 18,043 ตำแหน่ง (1.39%)

  • สูงกว่าปริญญาตรี 8,378 ตำแหน่ง (0.65%) 

Soft Skill ยังจำเป็นต่อการจ้างแรงงาน

การวิเคราะห์ข้อมูลในครั้งนี้ ทีมวิจัยได้นำข้อมูลประกาศรับสมัครงานจากทั่วโลก มาสกัดออกมาเป็นกลุ่มทักษะต่าง ๆ โดยทางทีมวิจัยได้จัดหมวดหมู่ทักษะงานออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ โดยในบริบทของไทย มีความต้องการด้านทักษะแรงงานที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. กลุ่มทักษะที่พบได้ทั่วไป (common skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในทุกกลุ่มอาชีพ พบว่า นายจ้างส่วนใหญ่ยังมอง Soft Skill เป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการว่าจ้างแรงงาน โดยทักษะการประสานงานเป็นทักษะที่ยังได้รับความนิยมมากที่สุดจากนายจ้าง และรองลงมาคือทักษะการขาย การวางแผนงาน การสื่อสาร และอื่น ๆ ดังนี้

  • ทักษะการประสานงาน 354,758 ตำแหน่งงาน (27.31%)

  • ทักษะการขาย 324,272 ตำแหน่งงาน (24.96%)

  • ทักษะการวางแผนงาน 283,399 ตำแหน่งงาน (21.81%)

  • การสื่อสาร 180,920 ตำแหน่งงาน (13.93%)

2. กลุ่มทักษะเฉพาะ (specialized skill) เป็นกลุ่มทักษะที่พบในเฉพาะกลุ่มอาชีพ พบว่าทักษะการบำรุงรักษา (maintenance) มากที่สุด รองลงมาคือการควบคุมเครื่องมือและเครื่องจักร ทักษะด้านบัญชี ทักษะจัดซื้อจัดจ้าง ทักษะด้านการติดตั้ง และอื่น ๆ ดังนี้

  • ทักษะการบำรุงรักษา (maintenance) 193,137 ตำแหน่งงาน (14.87%)

  • ทักษะการควบคุมเครื่องมือและเครื่องจักร 153,405 ตำแหน่งงาน (11.81%)

  • ทักษะด้านบัญชี 134,062 ตำแหน่งงาน (10.32%)

  • ทักษะจัดซื้อจัดจ้าง 70,266 ตำแหน่งงาน (5.41%)

  • ทักษะด้านการติดตั้ง 58,820 ตำแหน่งงาน (4.53%)

3. ใบประกาศนียบัตร (certification) เป็นกลุ่มทักษะที่ต้องมีการทดสอบเพื่อได้บัตรประกาศนียบัตร โดยพบว่า นายจ้างให้ความสำคัญกับผลคะแนนการสอบ TOEIC มากที่สุด ตามด้วยใบรับรองวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐาน GMP (Pharmaceutical GMP Professional Certification) วุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายใน (Certified Internal Auditor) และอื่น ๆ ดังนี้

  • ผลสอบ TOEIC 10,413 ตำแหน่งงาน (0.80%)

  • ใบรับรองวิชาชีพเภสัชกรรมตามมาตรฐาน GMP (Pharmaceutical GMP Professional Certification) 7,410 ตำแหน่งงาน (0.57%)

  • วุฒิบัตรผู้ตรวจสอบภายใน (Certified Internal Auditor) 3,336 ตำแหน่งงาน (0.26%)

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามกลุ่มอาชีพที่ระบุในประกาศรับสมัครงาน โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการช่วยจำแนกกลุ่มอาชีพ พบว่า ในกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการขายมีจำนวนมากที่สุด ไล่เรียงจำนวนตำแหน่งงานที่เปิดรับจากมากไปน้อย ดังนี้

  • การขาย 282,710 ตำแหน่งงาน (21.7%)

  • สำนักงานและสนับสนุนการดำเนินงาน 180,670 ตำแหน่งงาน (13.9%)

  • ธุรกิจและการดำเนินงานทางการเงิน 176,488 ตำแหน่งงาน (13.6%)

  • คอมพิวเตอร์และคณิตศาสตร์ 134,414  ตำแหน่งงาน (10.3%)

  • วิศวกรรม 91,703 ตำแหน่งงาน (7.0%)

  • งานการจัดการ 60,336 ตำแหน่งงาน (4.6%)

  • งานจัดซื้อ/จัดจ้าง 55,675 ตำแหน่งงาน (4.3%)

  • งานติดตั้งดูแล และการซ่อมแซม 53,489 ตำแหน่งงาน (4.1%)

  • งานศิลปะ,การออกแบบ,ความบันเทิง,กีฬา และสื่อ 46,287 ตำแหน่งงาน (3.6%)

  • งานสุขภาพและเทคนิคทางการแพทย์ 31,582 ตำแหน่งงาน (2.4%)

  • งานบริการและเตรียมอาหาร 29,426 ตำแหน่งงาน (2.3%)

  • งานโปรดักชั่น/ผลิตองค์ประกอบภาพรวม 22,527 ตำแหน่งงาน (1.7%)

  • งานด้านการป้องกัน 18,678 ตำแหน่งงาน (1.4%)

  • งานด้านกฎหมาย 17,408 ตำแหน่งงาน (1.3%)

  • งานล่าม/แปลภาษา 15,769 ตำแหน่งงาน (1.2%)

  • งานทำความสะอาดและบำรุงรักษาสิ่งก่อสร้างและพื้นที่ 15,248 ตำแหน่งงาน (1.2%)

  • งานขนส่งและเคลื่อนย้ายวัตถุ 14,797 ตำแหน่งงาน (1.1%)

  • สถาปัตยกรรม 12,485 ตำแหน่งงาน (1.0%)

  • งานอื่นๆ 12,087 ตำแหน่งงาน (0.9%)

  • งานด้านการสอนและงานห้องสมุด 10,816 ตำแหน่งงาน (0.8%)

  • งานก่อสร้างและการดึงออกวัสดุ 10,769 ตำแหน่งงาน (0.8%)

  • งานด้านการดูแลและบริการส่วนบุคคล 3,129 ตำแหน่งงาน (0.2%)

  • งานวิทยาศาสตร์ 2,945 ตำแหน่งงาน (0.2%)

  • งานการเกษตร การประมง และการป่าไม้ 2,201 ตำแหน่งงาน (0.2%)

งานยังกระจุกตัว กทม.-ปริมณฑล

เมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามภูมิภาคที่ระบุในประกาศ พบว่าประกาศรับสมัครงานในกรุงเทพและปริมณฑล มีจำนวนมากที่สุด ไล่เรียงจำนวนตามภูมิภาคดังนี้

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,150,939 รายการ (88.6%)

  • ภาคตะวันออก 50,466 รายการ (3.9%)

  • ภาคใต้ 40,989 รายการ (3.2%)

  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20,746 รายการ (1.6%)

  • ภาคเหนือ 13,459 รายการ (1.0%)

  • ภาคกลาง 13,003 รายการ (1.0%)

  • ภาคตะวันตก 8,528 รายการ (0.7%)

จากกราฟเมื่อจำแนกประกาศรับสมัครงานตามวุฒิการศึกษาและภูมิภาค จะเห็นว่า ตำแหน่งงานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑล ซึ่งจากข้อมูลยังพบอีกว่า นายจ้างต้องการผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี อีกทั้งทุกภูมิภาคยังต้องการบุคลากรที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีตำแหน่งงานอีกไม่น้อยที่ไม่ระบุระดับการศึกษาและไม่ระบุภูมิภาค

ทั้งนี้โครงการวิเคราะห์การประกาศหางานออนไลน์ โดย ทศพล ป้อมสุวรรณ วินิทร เธียรวณิชพันธุ์ นรินทร์ ธนนิธาพร และฐิติรัตน์ สีหราช ทีม Big Data สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย จะวิเคราะห์และนำเสนอการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานไทยอย่างต่อเนื่องไปในทุกไตรมาส

ไทยวิกฤตทักษะแรงงาน : อ่านไม่ออก-อ่อนดิจิทัล-ขาดทักษะทางอารมณ์

ขณะที่ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) เปิดผลสำรวจ ชี้ไทยเจอวิกฤต คนขาดทักษะทุนชีวิต พบ 1 ใน 5 ของเยาวชนและผู้ใหญ่ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ เพราะขาดทักษะทุนชีวิตหลายด้าน ในรายงานยังพบอีกว่า

  • 2 ใน 3 ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ไม่มีความสามารถ ในการอ่านและเข้าใจข้อความสั้น ๆ เพื่อแก้ปัญหาง่าย ๆ เช่น การปฏิบัติคำแนะนำทางการแพทย์

  • 3 ใน 4 ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีทักษะทุนชีวิตด้านดิจิทัลที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ลำบากในการใช้เว็บไซต์เพื่อทำงานง่าย ๆ เช่น การหาราคาของแพ็กเกจโทรศัพท์มือถือรายเดือน บนเว็บไซต์

  • 30% ของวัยรุ่นและผู้ใหญ่ มีทักษะรากฐานทางอารมณ์และสังคมที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ไม่มีแนวโน้มที่จะคิดริเริ่มเพื่อสังคม หรือกระตือรือร้น

โดยต้นทุนทางเศรษฐกิจจากกลุ่มแรงงานที่ไม่รู้หนังสือและขาดทักษะดิจิทัล ยังสูงถึง 3.3 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 20.1 ของ GDP ในปี 2565 โดยมูลค่าดังกล่าวมีจำนวนสูงกว่างบประมาณภาครัฐ ประจำปี พ.ศ. 2565 (3.1 ล้านล้านบาท) ทั้งนี้ การคาดการณ์ความสูญเสียทางรายได้จากกลุ่มที่ทักษะต่ำกว่าเกณฑ์นี้เป็นเพียงการคำนวนจาก 12 เดือนเท่านั้น และการสูญเสียทางรายได้ลักษณะนี้จะยังคงเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active