เสียงสะท้อนชาวแหลมริ่ว จ.ชุมพร “เอา-ไม่เอา” แลนด์บริดจ์ กังวลมาตรการเยียวยาไม่ชัดเจน

ชาวบ้าน ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน มีทั้งดีใจที่ความเจริญจะเข้ามาในพื้นที่ และ​ห่วงกระทบพื้นที่ทำกิน ​​ร้องขอความชัดเจนรัฐบาล ชี้แจง มาตรการชดเชยเวนคืนที่ดิน-แหล่งทำมาหากินที่ได้รับผลกระทบ จากการก่อสร้าง “ท่าเรือน้ำลึกแหลมริ่ว” จ.ชุมพร โครงการแลนด์บริดจ์

วันนี้ (18 ม.ค.67) The Active ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นชาวบ้านในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ซึ่งเป็นพื้นที่ก่อสร้าง  โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ สะพานเศรษฐกิจ ฝั่งอ่าวไทย จากท่าเรือแหลมริ่ว จ.ชุมพร ไปสิ้นสุดที่โครงการท่าเรือน้ำลึกอ่าวอ่าง อ.เมือง จ.ระนอง ระยะทาง 89.35 กิโลเมตร โดยมีทั้งทางหลวงพิเศษ รถไฟทางคู่ ท่อขนส่งน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ และมีการถมทะเลเพื่อพัฒนากิจการสนับสนุนท่าเรือ โดยพบว่า คนในพื้นพื้นที่มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนมีความกังวลเรื่องเดียวกัน คือ ความไม่ชัดเจนในมาตรการเยียวยาและการเวนคืนที่ดิน

สุรีภรณ์  โสภณมณี ชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า จุดที่ถูกปักหมุดจะสร้างรางรถไฟโครงการแลนด์บริดจ์ อยู่ห่างจากบ้านและสวนของเธอไปราว 200 เมตร ส่วนตัวเกิดความกังวลว่าในแผนการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์มีระบุทางมอเตอร์เวย์ 6 ช่องทางจราจร รวมทั้งอาจจะมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่ที่ถูกเวนคืนจะขยายมาถึงบ้านของตัวเองแน่นอน และสิ่งที่เสียดาย คือ แหล่งทำมาหากินของคนที่นี่ เพราะส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพประมงเรือเล็กควบคู่กับการทำสวนผลไม้ จะมีก็เพียงแต่ชาวบ้านในหมู่บ้านประมงที่ทำอาชีพเดียว แม้ว่าจะมีข้อเสนอในการชดเชยรายได้ แต่หากถูกเวนคืนไปหมด ทะเลมีการก่อสร้าง ชาวบ้านจะอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร

สุรีภรณ์ ยอมรับว่า ในตำบลบางน้ำจืด เธอเป็นเพียงครอบครัวเดียวที่คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ เพราะได้ศึกษากฎหมายเวนคืนมาอย่างดี และเห็นว่าจำนวนเงินที่ภาครัฐจะชดเชยให้ชาวบ้านประมาณ 3-5 เท่าของราคาที่ดินนั้น ราคาที่รัฐจ่ายอาจไม่ได้เป็นไปตามราคาซื้อ-ขาย กันในปัจจุบัน เช่น ที่ดินติดทะเลซื้อขายกันที่ไร่ละ 2 ล้านบาท ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมายเวนคืน ก็มีความหวังกันว่าจะได้คืนไร่ละสูงถึงเกือบ 10 ล้าน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรปรากฏ

สุรีภรณ์  โสภณมณี

“มีความกังวลตรงที่ว่า พื้นที่ทำกินจะหาย ความสุขมันจะหาย จากการที่มอเตอร์เวย์มา รถไฟมาใกล้ ๆ บ้าน ความเจริญเราเข้าใจ มันมาแน่ แต่ถามว่าคนในพื้นที่ได้อะไรจากความเจริญตรงนี้บ้าง ความเจริญมันอาจจะเกิดกับคนรอบ ๆ แต่คนในจุดศูนย์กลางนี้ ต้องเสียพื้นที่ทำกิน เขาบอกว่าเขาเอาความเจริญมาให้คุณ แต่คุณต้องย้ายจากความเจริญที่เราเอามาให้ ปีนี้ปี 67 คุณบอกจะสร้าง ปี 68 คุณบอกชาวบ้านว่ายังบอกไม่ได้ว่าค่าเวนคืนเท่าไหร่ มันเป็นไปได้ไหมคะ คุณปกปิดอะไรอยู่ ถ้าราคาดีคุณบอกมาเลยชาวบ้านเขาจะได้ดีใจ พร้อมที่จะไปให้ความเจริญเข้ามา”

สุรีภรณ์

ด้าน นิยม จินาทิตย์ ชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร กล่าวว่า ได้รับซองเอกสารจากจากการรถไฟแห่งประเทศไทย จนได้ทราบว่าบ้านและที่ดินของตัวเองอยู่ในแผนเวนคืนเพื่อสร้างทางรถไฟโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งโดนทั้งหมดมากกว่า 3 ไร่ ในตอนแรกรู้สึกดีใจที่ความเจริญจะเข้ามา แต่ก็รู้สึกเสียดายทั้งบ้านและสวนผลไม้ ที่สร้างขึ้นจากน้ำพักน้ำแรง แต่หากจะถูกเวนคืนจริง ๆ ก็คงต้องยอม แต่คาดหวังไว้ว่าที่ดินติดทะเลน่าจะได้ไร่ละ 6-7 ล้านบาท แต่หากไม่เป็นไปตามจำนวนดังกล่าว เธอก็จะไม่ยอมเช่นกัน

นิยม จินาทิตย์

“ที่ติดทะเลแบบนี้หาซื้อไม่ได้แล้ว ถ้าจะเวนคืน ป้าก็คงขอเยอะ ๆ เพราะถ้าต้องสร้างบ้านหลังหนึ่งคงต้องใช้เงินเยอะ ขั้นต่ำ 3 ล้านไม่พอทำ ได้เงินก็คงเอาไปอยู่กับลูก ป้าแก่แล้ว รายได้สวนมะพร้าว ได้ปีหนึ่งก็หลายบาท รอบละหมื่น สองหมื่น ต่อเดือน ถ้าเวนคืนที่ตรงนั้นของป้าก็จะหายไปเลย มองไม่เห็นอะไรเลย เสียดาย”

นิยม

ขณะที่ จักรี จันทร ชาวบ้านหมู่ 4 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร อดีตผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า บ้านของเขาอยู่ติดกับแหลมริ่ว จุดสร้างท่าเรือน้ำลึกแต่ไม่ได้ถูกเวนคืน เขาให้การสนับสนุนโครงการแลนด์บริดจ์เต็มที่เพราะอยากเห็นความเจริญ แน่นอนว่าสิ่งที่เสียไปคือวิวทะเล และทรัพยากรธรรมชาติ แต่ก็อยากเห็นคนในพื้นที่ลืมตาอ้าบางได้ ส่วนความกังวลในเวลานี้คือความไม่ชัดเจนของโครงการว่าจะสร้างจริงหรือไม่ ราคาที่ดินเวนคืนของชาวบ้านจะได้เท่าไหร่ อยากให้นายกฯ ให้คำตอบเรื่องนี้

จักรี จันทร

“ลุงอยู่มาทั้งชีวิต อยากเห็นพื้นที่หมู่บ้านของเราได้เปลี่ยนแปลงบ้าง และลุงอยากฝากว่าถ้าทางบริษัท หรือนายกฯ ถ้าเขาจะสร้างจริง ๆ ให้นึกถึงคนพื้นที่ให้มากที่สุด ทำอยากไรก็ได้ให้เขาได้ประกอบธุรกิจ จัดสรรปันส่วนให้คนพื้นที่ได้รับประโยชน์บ้างน่าจะดี แต่ก็กังวลอยู่ที่ว่า หน่วยงานราชการ ประมง หน่วยงานที่ดิน ต้องชี้แจงอธิบายกับชาวบ้านให้ชัด แต่ไม่มีหน่วยงานไหนที่เข้ามา”

จักรี

สำหรับพื้นที่ก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์ฝั่งอ่าวไทย กลุ่มรักษ์พะโต๊ะเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดการก่อสร้าง คือ สร้างเขื่อนกันคลื่น 1 ยาว 5,400 เมตร สร้างเขื่อนกันคลื่น 2 ยาว 685 เมตร มีงานขุดลอกรวมประมาณ 130.09 ล้านลูกบาศก์เมตร ร่องน้ำเดินเรือยาว 9.7 กม.ความลึกของน้ำ 17 เมตร ถมทะเล ประมาณ 5,808 ไร่ เพื่อสร้างท่าเทียบเรือขนาด 4,788 ไร่ และพื้นที่อเนกประสงค์ประมาณ 1,020 ไร่ และหน้าท่าเทียบเรือสินค้ามีความยาวประมาณ 7,580 เมตร


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรอุษา พรมอ๊อด