เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ทางออกลดค่าไฟยั่งยืน

ทีดีอาร์ไอ-อีอาร์ไอ ชี้ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว ค่าไฟถูก-รุดสู่เป้าคาร์บอนต่ำหนุนรัฐ ดันClimate Finance กระตุ้นเอกชนร่วมพัฒนาเทคโนโลยีรับมือโลกรวน

วันที่ (12 ธ.ค. 2566) ชาคร เลิศนิทัศน์ นักวิจัยอาวุโสทีมนโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีมติจะขึ้นค่าไฟฟ้าเป็น 4.68 บาทต่อหน่วยตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 ว่าธันวาคมนี้เป็นเดือนสุดท้ายของมาตราการลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ก่อนที่จะมีการปรับค่าไฟขึ้นตามมติของ กกพ. 

แม้ว่ารัฐบาลออกมาระบุว่าจะพยายามตรึงราคาค่าไฟให้ไม่เกิน 4.20 บาท แต่กรณีดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่าการปรับลดราคาค่าไฟ โดยขาดการปรับโครงสร้างการผลิตและการลงทุนสำหรับแหล่งพลังงานชนิดใหม่ๆ สามารถทำได้ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น และไม่ใช่ทางออกที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ชาคร ระบุว่า หนึ่งในข้อเสนอที่สำคัญที่จะส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าต่ำลง คือการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการผลิตไฟฟ้าอย่างยั่งยืน โดยการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพิ่มสัดส่วนแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่มีภายในประเทศในการผลิตไฟฟ้าให้เพิ่มสูงขึ้น เช่น แหล่งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำพลังงานลม เพื่อลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติซึ่งปัจจุบันเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยแต่มีราคาผันผวนต่อปัจจัยภายนอกที่ประเทศไทยไม่สามารถกำหนดได้  

นอกจากนี้การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้ายังสอดคล้องและสนับสนุนเป้าหมายในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593  ซึ่งภาคพลังงานเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดอีกด้วย

ชาคร เลิศนิทัศน์

นักวิจัยอาวุโสทีดีอาร์ไอ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดเครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือClimate Finance เพื่อใช้ในการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีให้มีความเหมาะสมกับบริบทการใช้งานในประเทศ ซึ่งแบ่งช่วงเวลาได้เป็น 3 ระยะ คือ 

  • ระยะที่ 1 ระยะเริ่มต้นพัฒนา ซึ่งเป็นช่วงที่องค์ความรู้ในช่วงนั้นค่อนข้างต่ำและการลงทุนในเทคโนโลยีนั้นมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเป็นหลัก 
  • ระยะที่ 2 ช่วงที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนามากขึ้น ซึ่งต้องมีการทดสอบระบบและกระจายเทคโนโลยีต่อผู้ใช้ ทำให้การระดมทุนจากภาคเอกชนในลักษณะของกองทุนจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น พร้อมกับภาครัฐสามารถช่วยสนับสนุนการลงทุนบางส่วนได้
  • ระยะที่ 3 คือช่วงที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างเต็มที่ ภาคเอกชน จะมีบทบาทที่เด่นชัดในการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีในระยะนี้ โดยรัฐสามารถลดบทบาทลงผ่านการสนับสนุนในรูปแบบการปล่อยเงินกู้ การรับประกันโครงการ หรือการช่วยเหลือภาคเอกชนในการเข้าถึงตลาดทุน อาทิ การออกพันธบัตรสีเขียว(Green Bond) หรือพันธบัตรเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Bond)

“จากการพัฒนาเทคโนโลยีทั้ง 3 ระยะข้างต้น จะเห็นได้ว่าภาครัฐควรเข้าไปมีบทบาทใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีกลไกและประโยชน์ในการสนับสนุนผู้พัฒนาเทคโนโลยีและภาคเอกชนที่แตกต่างกัน โดยรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ซึ่งการสนับสนุนการเงินให้สอดคล้องกับระยะการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างสภาวะตลาดที่เหมาะแก่การลงทุนจะสามารถสนับสนุนและกระตุ้นให้ภาคเอกชนร่วมลงทุนได้”

ชาครกล่าว

ด้าน ดร.สิริภา จุลกาญจน์  สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ERI) เปิดเผยรายงานการศึกษาเรื่อง Climate Finance for Carbon Neutrality in Thailand ภายใต้โครงการ CASE ว่ามีการประเมินเครื่องมือทางการเงินที่ภาครัฐสามารถนำมาใช้เพื่อกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน ได้ 4 มาตรการ ดังนี้ 

  1. มาตรการเงินให้เปล่า เหมาะสำหรับเทคโนโลยีในช่วงการวิจัยและพัฒนาในระยะที่ 1 เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และสาธิตการใช้งานเทคโนโลยีแก่สาธารณะชนทั่วไป
  2. มาตรการสนับสนุนต่อหน่วยผลผลิต และเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งเหมาะสมกับระยะที่2 ของการพัฒนาเทคโนโลยี ซึ่งในระยะนี้ เทคโนโลยีเริ่มเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและได้รับความสนใจในการลงทุนจากภาคเอกชนและตลาดทุน
  3. มาตรการกลไกราคาคาร์บอน และตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) ซึ่งเป็นกลุ่มมาตรการที่เหมาะสมกับเทคโนโลยีที่มีความแพร่หลายเชิงพาณิชย์ มักจะมีบทบาทในช่วงการพัฒนาระยะที่ 3 ที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างเต็มที่
  4. มาตรการจูงใจทางด้านภาษี เป็นอีกมาตรการเสริมที่สามารถสนับสนุนเทคโนโลยีในทุกระดับความพร้อม ตั้งแต่ในระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 3 ในช่วงที่เทคโนโลยีได้รับความนิยมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

นักวิชาการสถาบันวิจัยพลังงาน ระบุว่า การศึกษาดังกล่าวยังได้แสดงให้เห็นอีกว่าเม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐจะคิดเป็นเพียง 2.2% ของการลงทุนทั้งหมดเท่านั้น และอีกกว่า 97% จะเป็นการลงทุนจากทางภาคเอกชน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเงินที่จะเข้ามามีบทบาทในการระดมทุนเพื่อสร้างการเปลี่ยนผ่านทางด้านพลังงาน โดยในแต่ละมาตรการจะมีระดับการกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนที่แตกต่างกันไป

“เห็นได้ว่าเครื่องมือทางการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเหมือนการยิงปืนหนึ่งนัดที่ได้นกสองตัว โดยที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องมีการลงทุนเองทั้งหมด ทั้งในเรื่องของการสนับสนุนการปรับโครงสร้างแหล่งผลิตไฟฟ้าขณะเดียวกันยังเป็นหนทางที่จะไปสู่การบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยด้วย” 

ดร.สิริภา กล่าว 

นอกจากนี้ภาครัฐยังคงมีความจำเป็น ในการวางแผนการพัฒนาที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นขั้นตอนและใช้เครื่องมืออย่างเป็นระบบ เช่น แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) รวมไปถึงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ และยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ เพื่อให้ไทยมีค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมพร้อมกับการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในอีก 30 ปีข้างหน้า

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active