ติง “พักหนี้เกษตรกร” ไม่ตรงจุด ผลักลูกหนี้เรื้อรัง เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือ

นักวิชาการ-ตัวแทนเกษตรกร เห็นพ้อง เงื่อนไขพักหนี้เกษตรกร ทั้งต้นทั้งดอก วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท/คน ช่วยได้แค่ส่วนน้อย ย้ำเกษตรกรเกินครึ่งของประเทศ แบกหนี้เรื้อรังวงเงินเกินกว่านั้น

หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อคน ในกรอบเวลา 3 ปี ของเกษตรกรรายย่อย 2.3 ล้านคน ที่ต้องใช้เงินกว่า 2.8 แสนล้านบาท โดยกว่า 1 พันล้านบาท ใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพฟื้นฟูลูกหนี้ ธ.ก.ส.

The Active จึงจัดเวที Policy Forum ครั้งที่ 5 “นโยบายพักหนี้เกษตรกร” เปิดพื้นที่สะท้อนความคิดเห็นหาคำตอบให้กับนโยบายพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรหลุดพ้นวังวนหนี้สินได้

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บอกว่า การพักชำระหนี้รอบนี้ จะเป็นเกษตรกรรายย่อยที่มีเงินต้น คงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยมีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านคน ยอดหนี้ทั้งหมด 283,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567

พงษ์พันธ์ จงรักษ์ รองผู้จัดการ ธ.ก.ส.

โดยสามารถติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 1 แสนบาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ

“โดยในช่วง 3 ปี เงินต้นยังไม่ต้องชำระ ให้ชำระปีสุดท้าย ส่วนดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นระหว่างพักชำระหนี้รัฐบาลจะจ่ายชดเชยแทนให้กับ ธ.ก.ส. ดังนั้นช่วงนี้อยู่ระหว่างแสดงความประสงค์ของเกษตกรที่มีคุณสมบัติ ซึ่งมีสิทธิอยู่ประมาณ 2.3 ล้านคน โดนตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 ถึงวันนี้ (1 ธ.ค. 2566) มีเกษตกรมาแสดงความประสงค์แล้ว 1.6 ล้านคน เหลืออีก 6 แสนคน”

พงษ์พันธ์ จงรักษ์

รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. บอกอีกว่า ธ.ก.ส.ยังมีเป้าหมายอยากให้เกษตกรหนี้ลดลง ซึ่งคาดการว่าเกษตรกรหลังเข้าโครงการและฟื้นฟูอาชีพ เกษตรกรควรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอย่างน้อยร้อยละ 15 อย่างน้อยค่าใช้จ่ายในการลงทุนทำการเกษตรต้องลดลง ร้อยละ 15จากการปรับเปลี่ยการผลิตใหม่

จุฑารัตน์ พูลชาติ เกษตรกร จ.ชัยนาท

ย้ำความจริง เกษตรกรแบกหนี้บาน สวนทางเงื่อนไข “พักหนี้”

จุฑารัตน์ พูลชาติ เกษตรกร จ.ชัยนาท สะท้อนว่า ​วิธีพักหนี้ ยังแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะอาจเป็นแค่การช่วยยืด ช่วยต่อลมหายใจ ไม่ใช่การแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเกษตรกบางส่วน เพราะการพักหนี้ช่วยได้เฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายเล็ก ยอดหนี้เพียง 300,000 บาท ถือว่าเป็นยอดหนี้ที่น้อย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ เช่น ในพื้นที่ภาคกลาง โดยเฉพาะ จ.ชัยนาท แม้มีหนี้ในระดับน้อยสุดอยู่ที่ประมาณ 450,000-500,000 บาท ก็อาจเข้าไม่ถึงเงื่อนไขที่กำหนดไว้แค่หนี้ 300,000 บาทเท่านั้น

“หลายคนยังมีความเข้าใจว่า หากเข้าโครงการพักหนี้ จะไม่สามารถกู้เพิ่มเพื่อลงทุนใหม่ได้ จึงทำให้เกษตรกรอีกหลายคนไม่มาเข้าร่วมโครงการ เพราะยังขาดความเข้าใจ ส่วนในระดับภาคกลาง หากช่วยเหลือในยอดหนี้ 500,000 บาทขึ้นไป คิดว่าน่าจะช่วยเกษตรกรได้อีกเยอะ”

จุฑารัตน์ พูลชาติ
สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท

ขณะที่ สมจิต คงทน ผู้อำนวยการมูลนิธิชีวิตไท ย้ำว่า การกำหนดเพดานรวมหนี้ไม่เกิน 300,000 บาท คือสัดส่วนของเกษตรกรที่ไม่มาก เพราะปัจจุบัน เกษตรกรมีหนี้มากกว่า 450,000 บาทต่อคน มูลนิธิชีวิตไท เคยเก็บสำรวจเกษตรกร 145 คน พบ เกษตกรมีหนี้ มากถึง 600,000 บาทต่อครัวเรือน ดังนั้นสัดส่วนของคนที่เข้าโครงการยังค่อนข้างน้อย

ติง “พักหนี้เกษตรกร” รัฐโฟกัสไม่ตรงจุด

ทั้งนี้ยังมีมุมมองจาก โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า เกษตรกรไทยมีหนี้สินกันเป็นวงกว้าง และมีหนี้เฉลี่ยมากถึงกว่า 450,000 บาทต่อครัวเรือน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยโตขึ้นถึงร้อยละ 75 ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา และกว่าร้อยละ 57 ของครัวเรือนมีหนี้สินสูงเกินศักยภาพในการชำระไปแล้ว ปัจจุบันเกษตรกรไทยมีหนี้ร้อยละ 90 ของเกษตรกรส่วนใหญ่มีหนี้สิน ซึ่งสามารถแบ่งกลุ่มหนี้เกษตรกรได้ออกเป็น 3 กลุ่ม

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย
  1. กลุ่มเกษตรกรที่มีหนี้และหนี้จ่ายไม่ได้เลย กลุ่มหนี้ NPL (Non-performing Loan) หรือหนี้เสียมีประมาณ ร้อยละ 20

  2. กลุ่มที่เป็นหนี้แต่จ่ายเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น หรือเรียกว่ากลุ่มหนี้เรื้อรัง ซึ่งถ้าจ่ายแต่ดอกเบี้ยหนี้ก็จะไม่ลดลงเลยเป็นกลุ่มที่ปิดดอกเบี้ยได้ยาก เรียกว่าติดกับดักหนี้ กลุ่มนี้มีประมาณ ร้อยละ 50 ซึ่งถือว่ามีมากที่สุด

  3. กลุ่มเกษตกรที่มีหนี้สินชำระได้ มีประมาณร้อยละ 30

“สำหรับปัญหาหนี้สินจะพบว่ากลุ่ม 2 ที่มีจำนวนเกษตรกรมากถึงร้อยละ 50 ถือเป็นกลุ่มหนี้เรื้อรังที่มีแต่หนี้สินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเกษตรกรส่วนใหญ่กลายเป็นหนี้เรื้อรัง เพราะกู้ใหม่ทุกปี หนี้ก็จะเร็วและเพิ่มพูนขึ้น และจะไม่ได้เข้าเกณฑ์ที่ ธ.ก.ส. ช่วยเหลือ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว กลุ่มนี้คือกลุ่มที่รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือพักหนี้เกษตรกร จึงมองว่ามาตรการครั้งนี้ โฟกัสไม่ตรงจุดของกลุ่มคนที่จะได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ”

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังบอกอีกว่า มาตรการพักหนี้ที่ผ่านมา 13 ครั้ง ในรอบ 8 ปี ครั้งนี้ก็ถือว่ามีความแตกต่างในครั้งก่อน ๆ การพักหนี้เกษตกรรรอบใหม่ สำหรับเกษตรกรที่มีหนี้ในวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อคน ที่เป็นกลุ่มที่มีสิทธิ์ 2.3 ล้านคนนั้น ก็ถือเป็นการพักทั้งต้นและพักทั้งดอก ถ้าไม่จ่ายก็เป็นการพักหนี้ปกติ แต่ถ้าจ่ายเงิน ก็จะเข้าไปตัดต้นและหนี้ลดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลต้องสื่อสารให้ชัดเจนถ้าจ่ายก็จะลดหนี้ได้เร็ว

พร้อมกันนี้ในเวทีฯ ยังมีข้อเนอเชิงนโยบาย ย้ำถึงรัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสื่อสารที่ดี แต่ก็ยอมรับว่ามาตรการพักหนี้อาจไม่แก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจริง ประเด็นสำคัญต้องแก้ไขกลุ่มที่จ่ายแต่ดอกเบี้ย คือกลุ่มหนี้เรื้อรังที่เป็นกลุ่มใหญ่เกิน ร้อยละ 50 ของลูกหนี้เกษตรกร เพราะปัญหาที่เกษตรกรกลุ่มนี้ จ่ายดอกเบี้ยไม่ได้ เช่น หนี้สินเกินศักยภาพที่จะจ่ายได้ ดังนั้นเงินที่จะจ่ายเท่าไร ก็ตัดได้แค่ดอกเบี้ย กลุ่มนี้ต้องช่วยปรับโครงสร้างหนี้ให้ตรงศักยภาพของเขา เช่น ลูกหนี้มีอายุไม่มาก ก็ยืดสัญญาออกเพื่อให้งวดต่อปีลดลง เพื่อจ่ายไปแล้วอาจตัดต้นเงินไปบ้าง แต่ถ้าลูกหนี้อายุมาก อาจปรับลำดับชำระ หรือมีดอกเบี้ยเพิ่มเติม ซึ่งจริง ๆ แล้ว จะพบว่าหนี้เกษตรกรมักจะจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ที่มีดอกเบื้อสูงจากแหล่งอื่น ๆ ก่อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active