“คลัง” แจงแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น เปิดแหล่งที่มาของเงินสิ้นเดือน ต.ค.นี้

ยืนยันเงินถึงมือประชาชนวันที่ 1 ก.พ. 2567 แน่ เล็งขยายรัศมีโครงการจาก 4 กม.เป็นตำบล อำเภอ จังหวัดพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะของนักเศรษฐศาสตร์

วันนี้ (9 ต.ค. 2566) จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงข่าวความคืบหน้าโครงการแจกเงิน ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท หลังนักเศรษฐศาสตร์ และนักวิชาการลงชื่อออกมาคัดค้านโครงการว่า ที่มาของเงินขณะนี้คณะกรรมการฯอยู่ระหว่างพิจารณาแหล่งที่มา เนื่องจากมีหลายทางเลือกซึ่งส่วนใหญ่จะมาจากงบประมาณ 2567 

ส่วนจะมาจากมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ 2561 ด้วยหรือไม่ จะสามารถสรุปความชัดเจนได้ภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ ขณะที่เงื่อนไขรัศมี 4 กม.นั้น เป็นอำนาจของอนุกรรมการ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการขยายกรอบให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น อาจเป็นตำบล อำเภอ หรือจังหวัด คาดว่าจะได้ข้อสรูปในสิ้นเดือนนี้เช่นกัน โดยจะมีการประชุมของคณะอนุกรรมการฯนัดแรกในวันที่ 12 ต.ค.นี้ และในวันที่ 19 ต.ค.นี้จะเป็นการประชุมนัดที่ 2 เพื่อหาข้อสรุปของโครงการ และที่มาของเงิน และนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป 

“เราต้องรีสตาร์ตเศรษฐกิจให้ขยายตัวอีกครั้ง โดยตั้งเป้าว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 5% ต่อปี ในระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า ภายใต้การเติบโตอย่างอย่างมีศักยภาพ และควบคู่ไปกับเสถียรภาพ”​ 

จุลพันธ์ กล่าว
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

จุลพันธ์ บอกว่าเงินที่ใช้ไปกับโครงการจะได้คืนกลับมาในรูปแบบตัวคูณทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น รายได้จากภาษี VAT และยังเป็นสร้างรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต

กระทรวงการคลังยืนยันที่จะเดินหน้าโครงการ เพื่อให้เงินถึงมือประชาชนในวันที่ 1 ก.พ. 2566 ตามที่ได้ประกาศไว้ เนื่องจากเป็นนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาฯ และประชาชนไว้แล้ว จึงต้องเดินหน้าต่อไป และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ โดยจากตัวเลขทางเศรษฐกิจไทยที่ชัดว่า  เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง ภาคเกษตรกรมีรายได้ลดลง ระดับหนี้ครัวเรือนสูง การจัดเก็บภาษีลดลงทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าในประเทศภูมิภาคเดียวกัน 

 ลวรณ แสงสนิท  ปลัดกระทรวงการคลัง

ด้าน ลวรณ แสงสนิท  ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า โครงการดังกล่าว จะต้องเปิดให้ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัว ซึ่งสุดท้ายแล้วคนที่ได้ประโยชน์จะอยู่ที่เท่าไรนั้น จะต้องติดตามอีกครั้ง 

ทั้งนี้ นโยการเงิน กับนโยบายการคลังควรดำเนินการสอดประสานกัน จึงมีการพูดคุยกับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าเราจะดูแลเสถียรภาพด้วย แต่ต้องไม่ละเลยการขยายตัวของ GPD ซึ่งเป้าหมายที่ต้องการคือขยายตัวได้ 5% ทุกปี 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active