เคลียร์ปม! จับ ‘ฉลาม’ ทำอาหารสัตว์ ก่อนยกระดับสู่เงื่อนไข CITES

ผู้ประกอบการอาหารขัดฟันสัตว์แปรรูปจากฉลาม ชี้แจง นำเข้าจากจีนถูกต้องตามกฎหมาย ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านประมง ชวนมองครอบคลุมทุกมิติ เผยเป็นโอกาสสร้างมูลค่า มากกว่าเป็นปลาเป็ด แต่หากเป็นกระแสนิยม ฉลามอาจตกเป็นเป้าหมายจับมากขึ้น หวั่นกระทบสมดุลธรรมชาติ

ตามที่มีข้อกังวลของกลุ่มนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กรณีพบผลิตภัณฑ์ขนมขัดฟันสุนัขและแมว มาจากการแปรรูปฉลาม วางจำหน่าย และลงรีวิว โฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมองว่า อาจส่งผลกระทบต่อประชากรฉลาม และระบบนิเวศทางทะเล ซึ่ง The Active เคยนำเสนอประเด็นนี้มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 นั้น

ล่าสุด ณัฐมล นิวัฒนากูล กรรมการบริษัท ถ้วยฟู แบร์ จำกัด ในฐานะของผู้นำเข้า และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ชี้แจงเรื่องนี้กับ The Active โดยระบุว่า บริษัทฯ ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี โดยประกอบกิจการ ขายส่ง และปลีก อาหารสัตว์สำเร็จรูป และ ขนมขัดฟันสัตว์เลี้ยงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หูแกะ, หูแพะ, หูกระต่าย อบแห้ง ซึ่งขนมขัดฟันสัตว์ที่แปรรูปมาจากฉลาม เป็นอุตสาหกรรมที่ผลิตในมณฑลฝูเจี้ยน และกวางซี ประเทศจีน โดยใช้ ‘ฉลามหนู’ ซึ่งในจีนถือเป็นปลาเศรษฐกิจ จับได้ตามฤดูกาล โดยมีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปโดยเฉพาะ หาซื้อได้ทั่วไปผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ สามารถตรวจสอบได้

สำหรับการนำเข้ามานั้น ยืนยันว่า บริษัทฯ ได้ประสานกับหน่วยงานรัฐทั้ง กรมประมง, กรมปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ทั้งหมด ได้รับแจ้งว่าสามารถนำเข้าได้ แต่ซากปลามีปัญหาตรงที่ว่า ยังไม่อยู่ในสารบบ ที่จะออกเป็นใบอนุญาตอย่างชัดเจน

“ฉลามหนูใหญ่ มีที่มาจากจีน ที่นั่นทำกันเป็นอุตสาหกรรม ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ หรือเกี่ยวข้องกับฉลามพันธุ์อื่น บริษัทฯ นำเข้ามาทั้งตัวในลักษณะอบแห้ง (freez dry) แล้วมาติดแบรนด์ของตัวเอง โดยซื้อผ่านโรงงานที่ผลิตอาหารสัตว์ในจีน ไม่ได้ผ่านคนกลาง ซึ่งมีหลายโรงงาน ที่แปรรูปฉลามจากการทำประมง และฟาร์มเลี้ยง แต่หลัก ๆ เรารับมาจากโรงงานที่ออกทำประมงตามฤดูกาล ตามช่วงเวลาที่จีนกำหนด ไม่ใช่ปลาที่ติดอวน ล็อตแรกที่เคยทดลองนำเข้ามา 200-300 ชิ้นต่อรอบ เพื่อทดลองตลาดก่อน ไม่ได้สั่งมาเป็นตัน ๆ”

ยืนยัน ศึกษาแหล่งที่มา กฎ กติกา ชัดเจนก่อนนำเข้า

กรรมการบริษัท ถ้วยฟู แบร์ฯ ยอมรับด้วยว่า ภายหลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในกลุ่มนักอนุรักษ์ ส่งผลกระทบต่อยอดขาย ต้องหยุดจำหน่ายมาระยะหนึ่ง เพราะลูกค้ากังวลว่าเป็นฉลามที่จับในทะเลไทย แต่ขอยืนยันก่อนนำเข้าผลิตภัณฑ์ใด ๆ บริษัทฯ ได้ศึกษามาเป็นอย่างดี ว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามานั้น อยู่ภายใต้กฎ ระเบียบ ข้อกำหนดอะไรรองรับหรือไม่ ที่สำคัญเป็นอุตสาหกรรมที่ทำกันอย่างจริงจังในจีน ไม่ใช่ที่ไทย จึงมองว่าไม่น่าส่งผลต่อระบบนิเวศในบ้านเรา

“ก่อนเอาเข้ามา เราก็ดูเรื่องกฎกระทรวงต่าง ๆ ว่าห้ามอะไรยังไง เราเอาฉลามเข้ามาจากจีนแบบเป็นซาก เราได้คุยกับหน่วยงานประมง ว่าฉลามที่เป็นซาก ไม่ได้เป็นข้อห้ามการนำเข้ามา แต่เราก็เข้าใจในมุมมองของสังคม ที่มีข้อห่วงใย แต่ไม่คิดเลยว่าจะกลายเป็นกระแสดราม่า จึงอยากขอให้สังคมดูในข้อเท็จจริงก่อน ว่า สิ่งนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร กระทบกับระบบนิเวศในไทยจริง ๆ หรือไม่ เพราะเชื่อว่าเรื่องการอนุรักษ์ฉลามทั่วโลกตื่นตัวอยู่แล้ว แต่ก็อยากให้ดูจากต้นทางของผลิตภัณฑ์ด้วย”

ผู้เชี่ยวชาญ หวั่นกระแสนิยม ทำ ‘ฉลาม’ ตกเป็นเป้าถูกจับเพิ่มขึ้น

ด้าน ทัศพล กระจ่างดารา นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลภูเก็ต ในฐานะนักวิชาการที่ศึกษา วิจัยเรื่องฉลาม ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า ปกติฉลามหนู เป็นฉลามขนาดเล็ก ส่วนใหญ่ถูกจับได้จากการประมงโดยบังเอิญ ไม่ใช่สัตว์น้ำเป้าหมาย และไม่นิยมนำมาบริโภค จึงถูกนำไปทำเป็นปลาเป็ด หรือ วัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์ และหากมีอุตสาหกรรมในจีนนำฉลามชนิดนี้มาแปรรูปอบแห้ง ก็เป็นอีกช่องทางการสร้างมูลค่า นำเอาทรัพยากรที่จับมาได้ใช้ให้เกิดประโยชน์  

ทัศพล กระจ่างดารา

ส่วนข้อกังวลการจับฉลามของอุตสาหกรรมในจีน จะกระทบมาถึงระบบนิเวศของไทยหรือไม่นั้น ทัศพล อธิบายว่า เป็นกลุ่มประชากรฉลามคนละกลุ่มกัน ซึ่งฉลามพวกนี้ไม่อพยพข้ามน่านน้ำ เป็นฉลามที่อาศัย หากินตามชายฝั่ง กรณีนี้จึงไม่กระทบต่อประชากรฉลามในไทย แต่ถ้ามองในแง่ความจริง การจับฉลามอาจหมายถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ไม่คุ้มค่า เพราะจริง ๆ แล้ว ฉลามควรเป็นสัตว์ควบคุมความสมดุลของระบบนิเวศ ถ้าในอนาคตอุตสาหกรรมแปรรูปฉลามลักษณะนี้ ได้รับความนิยมมากขึ้น นั่นเท่ากับความต้องการจับฉลามจะมากตามไปด้วย จากที่เคยจับโดยบังเอิญ ก็จะทำประมงแบบควานหาพุ่งเป้าการจับเพิ่มขึ้น

เผย ‘ฉลามหนู’ เตรียมถูกขึ้นบัญชี 2 ไซเตส พ.ย.นี้

นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษฯ ระบุด้วยว่า ในปัจจุบันไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองฉลามสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ แต่ได้ผ่านมติที่ประชุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (CITES) ที่ประเทศปานามา เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ปีที่แล้ว ว่า ทั้งวงศ์ที่มีสมาชิก 57 ชนิดพันธุ์ จะถูกขึ้นบัญชีหมายเลข 2 ของไซเตส ซึ่งหมายถึง ชนิดพันธุ์ของสัตว์ป่าและพืชป่า ที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ จึงยังอนุญาตให้ค้าได้ แต่ต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหาย หรือลดปริมาณลงอย่างรวดเร็วจนใกล้จะสูญพันธุ์ โดยประเทศที่จะส่งออกต้องออกหนังสืออนุญาตให้ส่งออก และรับรองว่าการส่งออกแต่ละครั้ง จะไม่กระทบกระเทือนต่อการดำรงอยู่ของชนิดพันธุ์นั้นในธรรมชาติ

“หากฉลามหนูถูกขึ้นบัญชีไซเตส ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ว่า ประเทศผู้ค้า และคู่ค้า ต้องแสดงเอกสารยืนยันเพื่อตอบคำถาม ว่ากระทบต่อทรัพยากรทางธรรมชาติหรือไม่ เช่น ถ้ายังมีฉลามสายพันธุ์นี้จำนวนมาก ยังสามารถจับได้มาก หรือเพาะเลี้ยงได้ ไซเตสก็จะเข้ามาดูแลตรงนี้ ซึ่งการขึ้นบัญชี 2 ของไซเตส จะเกิดขึ้น 1 ปี หลังมีมติที่ประชุม นั่นคือประมาณวันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 หลังจากนั้นก็จะตรวจสอบ ควบคุมตามระเบียบ ซึ่งกรมประมง และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องไซเตส มาควบคุมการพิจารณาเพื่อการนำเข้า และส่งออกสินค้าที่ถูกขึ้นบัญชีแนบท้ายหมายเลข 2 ของไซเตส เช่น หากพบการแสดงแหล่งที่มาไม่ชัดเจน ก็อาจจะระงับการค้าได้ เพราะเรามีกฎระเบียบที่รองรับอยู่ แต่ปัจจุบันเมื่อยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนไซเตส ก็ยังไม่มีอะไรรองรับ ถ้ามีเอกสารการนำเข้าถูกต้อง ก็สามารถนำเข้าได้เลย”

‘กรมประมง’ แจ้งผู้ครอบครองสัตว์ 18 รายการ ไซเตส รีบขึ้นทะเบียน

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา เพจ กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ กรมประมง ได้แจ้งขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีสัตว์น้ำ ซากสัตว์น้ำ ผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์น้ำ 18 รายการ ตามบัญชีไซเตส ไว้ในครอบครอง แจ้งขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เพื่อประโยชน์ในการส่งออกในอนาคต โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้กรมประมง มีฐานข้อมูลการครอบครอง มีหลักฐาน ที่มาที่ไปของสัตว์น้ำดังกล่าว

ส่วนกรณีของฉลามหนูต้องแจ้งครอบครองด้วยหรือไม่นั้น The Active สอบถามข้อมูลไปยังกรมประมง ได้รับการชี้แจงว่า ฉลามหนู ถือเป็นหนึ่งในสัตว์น้ำ 18 รายการ ที่ต้องแจ้งครอบครองด้วย เพื่อให้กรมประมงได้บันทึกไว้เป็นฐานข้อมูล สำหรับการครอบครองภายในประเทศ หากไม่แจ้งแม้ไม่มีโทษตามกฎหมาย แต่ก็อาจทำให้ไม่มีฐานข้อมูล หากจำเป็นต้องส่งออกในอนาคต


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active