ห่วง แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง แนะรัฐควรเปิดข้อมูลรอบด้าน

ภาคประชาสังคม มองบทเรียนจากอีสเทิร์นซีบอร์ด พบทั้งปัญหาเวนคืนที่ดิน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แย่งชิงทรัพยากรชุมชน ตั้งข้อสังเกต โครงการแลนด์บริดจ์ฯ ไม่ตอบโจทย์นักลงทุนโลจิสติกส์ เป็นแค่ความต้องการนักการเมือง

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2565 ในงานเสวนาวิชาการ ภาคประชาชนจะได้จะเสียอะไรภายใต้โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง” จัดที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลพะโต๊ะ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร จัดโดยสภาประชาชนภาคใต้ และศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา มีการนำเสนอข้อมูลของโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นโดยภาควิชาการและภาคประชาชน

ช่วงต้นของการเสวนา มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลโครงการแลนด์บริดจ์ หรือสะพานเศรษฐกิจ โดยวิภาวดี พันธุ์ยางน้อย นักศึกษาปริญญาเอก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยระบุว่า โครงการดังกล่าว เป็นมหากาพย์ของประเทศไทย เริ่มมีการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ตั้งแต่ปี 2528 มีเป้าหมายเพื่อย่นระยะทางข้ามทะเลอันดามันอ่าวไทย เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเพิ่มอัตราการจ้างงานในภูมิภาค ที่ผ่านมามีพื้นที่เป้าหมาย 5 เส้นทาง ได้แก่ กระบี่-ขนอม พ.ศ. 2536-2540 ทับละมุ-สิชล พ.ศ. 2540-2547 ปากบารา-สงขลา พ.ศ. 2548-2561 ทวาย-EEC พ.ศ. 2551-2556 ระนอง-ชุมพร พ.ศ. 2561 ถึงปัจจุบัน

โดยแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร อยู่ภายใต้ SEC ประกอบด้วย 2 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ และโครงการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง รถไฟทางคู่ ท่อน้ำมัน มีเป้าหมายเป็นประตูการค้ารองรับการนำเข้าส่งออกสินค้าภายในประเทศ เป็นทางเลือกในการถ่ายลำเลียงขนส่งสินค้าระหว่างมหาสมุทร เป็นพื้นที่เศรษฐกิจเสรี ดึงดูดนักลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่า และเป็นทางเลือกในการขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ แลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร มีแผนดำเนินการโดยในเดือนมีนาคม 2564 เริ่มศึกษาความเหมาะสมออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน ในปี 2564 ถึงปี 2567 ศึกษาความเหมาะสม รูปแบบการลงทุน จัดทำ EIA EHIA ประชาสัมพันธ์โครงการ จัดประกวดราคา หาผู้ร่วมทุน ปี 2568 คาดว่าเริ่มการพัฒนาโครงการ และ ปี 2573 คาดว่าเริ่มเปิดให้ดำเนินการ

“มีประเด็นที่ต้องติดตามว่า ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่ได้มากน้อยเพียงใด แผนพัฒนาแลนด์บริดจ์ระนอง-ชุมพร มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยใช้พื้นที่เท่าไหร่ เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือทั้งสองฝั่งพาดผ่านพื้นที่ใดบ้าง จะมีท่าเทียบเรือน้ำมัน ทุ่นกลางทะเล และถังสำรองน้ำมันดิบบริเวณชายฝั่งหรือไม่ ใช้พื้นที่เท่าไหร่ สำรองน้ำมันดิบได้กี่ลิตร อุตสาหกรรมหลังท่ามีประเภทไหนบ้าง ใช้พื้นที่เท่าไหร่ แหล่งน้ำดิบ แหล่งไฟฟ้าสำรอง มาจากที่ไหน และต้องใช้เท่าไหร่ ผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อชุมชนมีอะไรบ้าง โครงการจะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการจ้างงานให้กับท้องถิ่นได้อย่างไร” วิภาวดี กล่าว

ด้าน สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ เส้นแรกคือเซาเทิร์นซีบอร์ด ขนอม–กระบี่ ในยุครัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา ที่ได้มีการสร้างถนนพาดผ่านระหว่างอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อมกับอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ แต่ก็ถูกยกเลิกไปเมื่อจะสร้างท่าเรือในพื้นที่จังหวัดกระบี่ เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวห่วงว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมามีการเลือกเส้นใหม่ที่เส้น 9A ที่จังหวัดสงขลา–สตูล จนมีการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนทั้งสองพื้นที่ และยกเลิกโครงการไปในที่สุด และปัจจุบันรัฐบาลโดยพรรคภูมิใจไทยที่คุมกระทรวงคมนาคม พยายามรื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสร้างนโยบายการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ โดยเลือกเส้นทางชุมพร-ระนอง

พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมโครงการนี้จึงต้องการสร้างที่จังหวัดชุมพรระนอง คนในพื้นที่คิดอย่างไร เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร และมีการรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน ในขณะที่รัฐบาล หรือนักการเมืองที่ผลักดันโครงการนี้ มีการขับเคลื่อนเพื่อให้มีการสนับสนุนโครงการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับสถานการณ์ทางการเมืองที่กำลังมีการเลือกตั้งในอนาคตอันไม่ไกลนี้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่ว่าด้วยความคุ้มค่าในการลงทุน เพราะในที่สุดแล้วโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และต้องใช้พื้นที่และฐานทรัพยากรจำนวนมากที่จะต้องแลก คนที่ได้ประโยชน์จากโครงการนี้คือใคร และเมื่อสร้างไปแล้วโครงการนี้จะมีการใช้ประโยชน์จากผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์จริงหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ได้มีผู้ประกอบการระดับนายกสมาคมธุรกิจด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศเคยให้ข้อสังเกตไว้หลายรายว่า แนวคิดแลนด์บริดจ์ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการของนักเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้จริง ด้วยเหตุผลที่เป็นรายละเอียดหลายประการ ที่จะต้องศึกษารายละเอียดให้ลึกซึ้งมากกว่านี้

“เป็นหน้าที่ที่รัฐบาลจะต้องบอกข้อมูลและข้อเท็จจริงให้รอบด้านกับประชาชนในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เขารับรู้ทั้งผลกระทบ และผลดีที่คาดว่าจะได้รับ และต้องสร้างการมีส่วนร่วมการตัดสินใจตั้งแต่เริ่มต้น โครงการนี้จะสร้างตรงไหน ผ่านบ้านใคร ชุมชนไหน มีนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ มีการสร้างเขื่อน สร้างโรงไฟฟ้า มีการถมทะเลหรือไม่ ระเบิดภูเขาจุดไหนเพื่อเอาไปถมทะเล การเวนคืนที่ดินจะทำอย่างไร บทเรียนจากสตูลรัฐไม่เปิดเผยข้อมูล หลังจากคนสตูลรู้ข้อมูลแล้วโครงการต้องพับไป”

ด้าน สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการจากกลุ่ม EEC Watch ภาคตะวันออก นำเสนอบทเรียนการพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก โดยระบุว่าเริ่มตั้งแต่ปี 2504 มีการตั้งโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของประเทศไทย การดำเนินการทุกอย่างเป็นระบบของภาคธุรกิจ การเวนคืนที่ดินไม่ใช่เรื่องเล็ก ยกตัวอย่างเช่น การเวนคืนที่ดินเพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง ระยะที่ 1 ต้องใช้เวลา 9 ปี ชาวบ้านถึงได้เงินชดเชย ส่วนชาวบ้านอีก 200 ครัวเรือน ต้องเช่าที่ดินวัดอยู่ และชาวบ้านกว่าร้อยครัวเรือนฟ้องศาล ปัจจุบันยังไม่เรียบร้อย ผลกระทบจากการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักส่งผลให้คนในพื้นที่เจ็บป่วย ที่มาของโรคมะเร็งของชาวบ้านในระยองมาจากการผลิตอุตสาหกรรม ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ท่าเรือจังหวัดชลบุรีก็ป่วยเป็นโรคปอด 

นอกจากนั้นเกิดการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออก เนื่องจากจังหวัดระยองผู้ใช้น้ำเยอะสุดคือภาคอุตสาหกรรม มีการสัมปทานน้ำเพื่อให้ใช้เพียงพอใช้ในภาคอุตสาหกรรม โดยสร้างอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จันทบุรี ทำให้ส่งผลกระทบต่อชาวสวนทุเรียน เลยไปหาแหล่งน้ำเพิ่มในจังหวัดสระแก้ว และปราจีนบุรี รวมถึงเกิดปัญหาน้ำเสีย ขยะกากอุตสาหกรรม มีการลักลอบทิ้งขยะอันตรายและกากของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น สารก่อมะเร็ง สารปนเปื้อนทำลายระบบนิเวศในพื้นที่ 15 จังหวัด ส่งผลให้พืชผลเกษตรเสียหาย 

แลนด์บริดจ์

“ตู้คอนเทนเนอร์แหลมฉบังมีไม่ถึง 10 ล้านตู้ TEU ยังไม่ถึงตามเป้าหมายที่ 18.1 ล้านตู้ TEU ในความเห็นผมที่ชุมพรไม่มีทางถึง 20 ล้านตู้ TEU ตามที่เขาบอกแน่นอน ถ้าสร้างที่ชุมพรจะต้องขนส่งสินค้าแข่งกับภาคตะวันออก ถ้าหากสร้างถนน ท่าเรือน้ำลึก แล้วจะมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องตามมา มีโรงกลั่นน้ำมัน ท่อน้ำมัน โรงแยกก๊าซ และอื่น ๆ”

ด้าน พรพิมล พิมลรัตน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดชุมพร นำเสนอระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลจังหวัดชุมพร โดยระบุว่าคนชุมพรใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชายฝั่งเยอะมาก ทรัพยากรมีบทบาทต่อเศรษฐกิจ ทั้งการทำประมง และการท่องเที่ยว ทะเลชุมพรได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาหลายพื้นที่มีปรากฏการณ์น้ำทะเลเสีย แพลงตอนบูม ปะการังฟอกขาว ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำลดลง ชาวประมงจับสัตว์น้ำยากขึ้น ถ้าหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมเต็มรูปแบบขึ้นในพื้นที่ตามข้อมูลที่วิทยากรคนอื่น ๆ นำเสนอ จะได้รับผลกระทบมากกว่านี้ ที่ภาคตะวันออกมีเหตุการณ์น้ำมันรั่ว ส่งผลกระทบต่อหญ้าทะเล ทำให้ไม่สามารถสังเคราะห์แสงและตาย อาหารทะเลไม่ปลอดภัย ตอนนี้ไม่มีใครบอกได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ภาคตะวันออกจะเกิดขึ้นที่ภาคใต้หรือไม่ แต่ประเด็นนี้ก็น่ากังวล 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active