ครป.-พีมูฟ เชื่อยังมีสอดไส้อีกในประกาศ BOI จี้รัฐ – BOI เปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนแก่กลุ่มทุนต่างๆ ทั้งหมดอย่างโปร่งใส
วันนี้ (29 ต.ค.2565) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) และภาคประชาชน แถลงคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 ที่อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ซึ่งร่างกฎกระทรวงนี้ จะมีระยะเวลาบังคับใช้ 5 ปี นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปจากกฎกระทรวงเดิม คือ มีการเพิ่มประเภทของกลุ่มต่างชาติ 4 กลุ่ม และปรับปรุงประเภทการลงทุนของกองทุนต่างๆ ที่ไม่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน เช่น เพิ่มประเภทการลงทุนผ่านพันธบัตรรัฐบาลไทย กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทรัสต์เพื่ออสังหาริมทรัพย์ และต้องถือครองการลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี
โดยเครือข่ายฯ แสดงความกังวงว่า หากมีการนำเงินมาลงทุนมากกว่า 40 ล้านบาทแม้จะกำหนดระยะเวลาแค่ 5 ปี ก็เพียงพอที่จะทำให้ประเทศไทยไร้แผ่นดิน เพราะนายทุนโลกที่มีศักยภาพต่างสามารถมาช้อนซื้อที่ดินได้เป็นจำนวนมาก ดังปรากฎว่ากลุ่มทุนจีนสีเทาเข้ามาหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในประเทศไทย
“ที่ดินไทยมีแค่ 320 ล้านไร่ หักที่ดินป่าไม้ออกไป 25% ที่ดินในเมืองไทยก็เหลือให้คนไทยไม่เกินคนละ 4 ไร่เท่านั้น และวันนี้คนไทยจำนวนมากไม่มีที่ดินของตนเองเพราะนายทุนเข้าผูกขาด แล้วตอนนี้รัฐบาลยังต้องการให้ต่างชาติถือครองที่ดินเพื่อดึงดูดต่างชาติลงทุนให้ได้ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งถือเป็นตลกร้ายสำหรับคนไทย ถ้าแลกกับให้ถือครองที่ดินคนละไม่เกิน 1 ไร่ เป้าหมายของรัฐบาล 5 ปีคือ 1 ล้านคนเท่ากับ 1 ล้านไร่ แล้วคนไทยจะไปอยู่ที่ไหน”
เครือข่ายฯ ยังชี้ว่านโยบายดังกล่าว ยังสอดไส้มากไปกว่านั้น คือประกาศ BOI ที่ 6/2565 วันที่ 8 สิงหาคม 2565 ลงนามโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ใช้อำนาจตามมาตรา 27 พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2560 อนุญาตนิติบุคคลต่างด้าวที่มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท สามารถถือกรรมสิทธิ์ถาวรที่พักอาศัยและสำนักงานได้ถึง 35 ไร่ โดยเป็นที่ดินสำหรับที่พักอาศัยผู้บริหารหรือช่างฝีมือ 10 ไร่ สำหรับพนักงาน 20 ไร่ และที่ดินสำนักงาน 5 ไร่ โดยที่ตั้งของสำนักงานและที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องอยู่ติดกัน ซึ่งหมายความว่าอยู่ได้ทั่วประเทศ
บทบาทคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นหน่วยงานราชการที่มีอายุครบรอบ 56 ปี ในการทำงานส่งเสริมการลงทุนมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2509 ในขณะประเทศกำลังพัฒนาอุตสาหกรรม โดยมีภารกิจหลักคือการส่งเสริมการลงทุนผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ แก่เอกชนเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยตั้งแต่ปี 2557 ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ 2/2557 มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี ลดหย่อนภาษีเงินได้ 50% อีก 5 ปี รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ไม่เกี่ยวกับภาษี การอนุญาตต่างชาติถือหุ้น 100% แต่ปัจจุบันประเทศเกิดความเหลื่อมล้ำมหาศาล สมควรยกเลิกการส่งเสริมการลงทุนเพื่อสร้างเศรษฐกิจผูกขาด ยกเลิกการให้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี และสิทธิประโยชน์อื่นๆ แก่เอกชนกลุ่มทุนพวกพ้อง แต่ควรเก็บภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้าเพื่อให้คืนส่วนเกินแก่สังคมเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและกระจายรายได้ให้มากขึ้น
“การอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติ ตามมาตรา 27 ของกฎหมาย BOI คือภัยคุกคามความมั่นคงของชาติและประชาชน ซึ่งสมควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่ล้าสมัยนี้โดยด่วนเนื่องจากปัจจุบันนี้กลุ่มทุนต่างชาติได้เข้ามายึดครองกรรมสิทธิ์ที่ดินมากมายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออกและทั่วภูมิภาค จากดุลยพินิจของฝ่ายบริหารโดยไม่มีมาตรการรองรับ รวมถึงอาจมีการใช้อำนาจส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบท่ามกลางผลประโยชน์ของนักการเมืองและเครือญาติที่อาจมีบุคคลที่เกี่ยวข้องแอบอ้างเป็นนายหน้าค้าขายที่ดินเก็งกำไรในระบบดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันไม่ทราบว่ามีต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินเท่าไหร่แล้ว”
ครป.และเครือข่ายภาคประชาชน ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลและ BOI เปิดเผยข้อมูลการส่งเสริมการลงทุนแก่กลุ่มทุนต่างๆ ทั้งหมดอย่างโปร่งใสและรายงานต่อสาธารณะในระบบอิเลคทรอนิกส์ โดยเฉพาะการให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีในโครงการต่างๆ และการอนุญาตให้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินแก่บริษัทต่างชาติทั้งหมด ตั้งแต่การประกาศใช้กฎหมายส่งเสริมการลงทุนจนถึงปัจจุบัน ได้อนุมัติให้บริษัทถือครองที่ดินไปแล้วจำนวนมากน้อยเพียงใด คิดเป็นร้อยละเท่าไหร่ของที่ดินประเทศไทย เป็นจำนวนกี่ไร่ กี่โครงการและแก่บริษัทใดบ้าง รวมถึงเรียกร้องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ต้องเข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจัง