สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ ต้นแบบจัดการปัญหาการเงิน

สช.ยกเป็นชุมชนต้นแบบจัดการปัญหาการเงินแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ  จนสามารถจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ชวนสมาชิกฝากเงินเดือนละ 2 ครั้ง  ต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้ ลดความเครียด ช่วยให้สุขภาพดี มีความสุขมากขึ้น 

หลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ครั้งแรกในรอบ 4 ปี มาอยู่ที่ระดับ 0.75% อีกทั้งสั่งให้ธนาคารพาณิชย์กลับมาชำระเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ในอัตราเท่าเดิม 0.46% ซึ่งส่งผลกระทบให้ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้

วันนี้ (24 ก.ย. 2565) ผู้สื่อข่าว The Active  ลงพื้นที่ สถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ อ.กะปง จ.พังงา โดย กัลยา โสภารัตน์ ประธานสถาบันการเงินชุมชนบ้านรมณีย์ เปิดเผยว่าในฐานะสถาบันการเงินชุมชนคำนึงถึงผลกระทบทางการเงินของสมาชิกซึ่งเป็นชาวบ้านในชุมชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เพื่อเป็นการช่วยลดผลกระทบจึงยืนยันคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ 1% ต่อเดือน ส่วนผลตอบแทนจากเงินฝากจะได้รับเงินปันผลปลายปี ตามผลประกอบการจริง ซึ่งเติบโตขึ้นทุกปีจากการแปรรูปสินค้าเกษตรและปุ๋ยหมักมูลช้าง 

กัลยา ระบุอีกว่า ในชาวชุมชนบ้านรมณีย์มีปัญหาเรื่องของภาระหนี้สิน ประกอบกับการมาของกองทุนหมู่บ้านฯ เมื่อชาวบ้านขาดระบบการบริหารจัดการเงินที่ดีจึงทำให้เป็นหนี้สินที่พอกพูนลามไปจนถึงการเป็นหนี้นอกระบบ จึงได้ลุกขึ้นมาจัดตั้งเป็นกลุ่มออมทรัพย์ และเชิญชวนชาวบ้านเป็นสมาชิกฝากเงินทุกเดือนเดือนละ 2 ครั้ง จากนั้นเอาเงินในกองทุนไปต่อยอด เป็นอาชีพ สร้างรายได้ 

ปัจจุบันเงินในกองทุนที่ดำเนินการมาเกือบ 20 ปี มียอดรวมไม่น้อยกว่า 13 ล้านบาท จากสมาชิกกว่า 1,500 คนโดยเงินในกองทุนนี้ได้นำไปใช้ซื้อหนี้นอกระบบของชาวบ้าน ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยสูง โดยให้ชาวบ้านหันมาผ่อนชำระโดยตรงกับกองทุนแทน ลดความเครียดช่วยให้สุขภาพจิตดี มีความสุขมากขึ้น

โดยเงินที่กู้ไปสามารถนำเงินไปใช้ซื้อทรัพย์สิน รถจักรยานยนต์ หรือต่อเติมซ่อมแซมบ้าน ก็ได้ แทนที่ชาวบ้านจะต้องไปผ่อนพร้อมดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวก่อตั้งกลุ่มงานต่าง ๆ รวมทั้งกลุ่มวิสาหกิจการเกษตร ที่รวบรวมผลผลิตเพื่อสร้างพลังการต่อรองราคาสินค้า เช่น ยางพารา ไม่ต้องไปซื้อจากภายนอกซึ่งมีต้นทุนสูงกว่า 

ด้าน นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) บอกว่า การสร้างกติกาชุมชน อย่างการตั้งกลุ่มออมเงิน และวางเงื่อนไขให้ฝากเงินเดือนละ 2 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนที่ลุกขึ้นมากำหนดนโยบายและหาแนวทางในการแก้ปัญหาชุมชน โดยใช้เครื่องมือ กระบวนการสมัชชาสุขภาพ  ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ซึ่งความมั่นคงทางการเงินก็จะมาสู่ผลลัพธ์ทางสุขภาพที่ดี และถือเป็นการรับรองการเข้าสู่สังคมสูงวัย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active