หยุดสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม เลิกประกันกำไรเอกชน

‘นักวิชาการ’ จี้รัฐเบรกสร้างโรงไฟฟ้าหินกอง – บูรพาเพาเวอร์ เหตุควักกระเป๋าประชาชนจ่ายคนละ 2 พันต่อปี เร่งจัดการก๊าซอ่าวไทยอย่างเท่าเทียม

รศ.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยกับ The Active ว่าสถานการณ์ค่าไฟฟ้าที่ขยับตัวสูงขึ้น ต้นเหตุสำคัญมาจากการบริหารจัดการและนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาล ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการประมาณการความต้องการไฟฟ้าที่สูงเกินไป หรือการเซ็นสัญญา PPA เพื่อซื้อไฟฟ้าจากเอกชนที่มากเกินไป รวมถึงนโยบายการันตีกำไร หรือ Take or Pay ที่ต้องจ่ายให้เอกชน เป็นตัวการที่ทำให้ค่าไฟฟ้าของเราสูง

“เหตุผลที่สำนักงาน กกพ. กล่าวมาว่าทำไมค่าไฟจึงขยับตัวขึ้นมานั้น เป็นเพียงเหตุผลที่อยู่บนยอดเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง เพราะถึงแม้เหตุการณ์เหล่านี้ไม่เกิด ค่าไฟก็ต้องราคาเท่านี้อยู่ดี ตั้งแต่ก่อนสถานการณ์โควิด-19 เรามีปัญหาเรื่องการขึ้นค่าไฟผันแปร หรือ Ft แต่สถานการณ์โควิด ทำให้ต้องกดราคาเอาไว้ก่อน จน กฟผ. ตอนนี้เป็นหนี้มากกว่า 80,000 ล้าน”

สาเหตุหลักสำคัญอีกประการหนึ่ง รศ.ชาลี กล่าวว่า มาจากการจัดการราคาก๊าซของประเทศไทยในอ่าวไทย ในอดีตก๊าซในอ่าวไทย เป็นสมบัติของชาติ ดังนั้น ต้องให้ประชาชนใช้ก่อน หมายถึง การผลิตไฟฟ้า ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก แต่ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ โดย มติ ครม. ที่กำหนดให้ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และการผลิตไฟฟ้ามีความสำคัญเท่ากัน จึงเป็นที่มาของ “การแย่งใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย” ที่มีต้นทุนราคาถูก ทำให้ราคาของพูลก๊าซ (Poll Gas) ที่รวมก๊าซจาก 3 แหล่งที่มา คือ อ่าวไทย เมียนมา และนำเข้า มีราคาแพง

“เอกชน ควรบริหารจัดการในส่วนของต้นทุนของตนเองให้เสมอภาค เท่าเทียมกัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศไทย มีอยู่ 2 กลุ่มที่สำคัญ คือ ปตท. สผ. กับบริษัท SCG ทั้งสองกลุ่มนี้ได้ราคาต้นทุนก๊าซไม่เท่ากัน เพราะ ปตท. ได้ราคาถูกจากอ่าวไทย ในขณะที่ SCG ได้ราคานำเข้าก๊าซในราคาตลาดโลก ถ้าจะให้ยุติธรรมอย่างน้อยทั้ง 2 กลุ่มก็ควรต้องใช้ราคาก๊าซตามตลาดโลกเหมือนกัน จะสามารถประหยัดเงินค่า Ft ต่อปี ได้กว่า 40,000 ล้านบาท ใช้เวลาเพียง 2 ปี ก็สามารถใช้หนี้ กฟผ. ได้โดยที่ไม่กระทบต่อประชาชนเลยด้วยซ้ำ…”

เมื่อก๊าซในอ่าวไทยไม่เพียงพอในการผลิตไฟฟ้า แล้วต้นทุนของเมียนมา และที่นำเข้า มีราคาสูงกว่าในอ่าวไทยถึง 1.5 – 4 เท่าตัว  ดังนั้น เมื่อรวมเป็นราคาพูลก๊าซทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ของแพงมีจำนวนมากขึ้น ของถูกมีจำนวนลดลง จึงทำให้ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายสูงขึ้นตามไปด้วย นึ่งจึงเป็นประเด็นสำคัญ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายแฝง ที่เป็นต้นทุนพลังงานในการผลิตไฟฟ้า เป็นจำนวนมาก

หยุดการเซ็นสัญญาสร้างโรงไฟฟ้า ชี้ เป็นภาระประชาชน!

เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าผลิตล้นเกิน ที่เกิดจากการประมาณการการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาด จุดแรกที่ต้องทำ คือ ลดหรือหยุด การเซ็นสัญญาสร้างโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาในระบบ รศ.ชาลี ยกตัวอย่างถึงโรงไฟฟ้าหินกอง ที่เซ็นแล้ว แต่ยังไม่สร้าง ต้องหาวิธีการว่าจะหยุดได้หรือไม่ หรือโรงไฟฟ้าบูรพาเพาเวอร์ ที่กำลังจะเซ็น หาวิธีการไม่เซ็นได้หรือไม่ เพราะ ยิ่งเข้ามายิ่งเป็นภาระ ตอนนี้เรามีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ อีก 6 โรง ที่ยังไม่ได้เดินเครื่องผลิต ที่ประชาชนต้องร่วมจ่ายคำนวนแล้วคนละ 2,000 บาทต่อปี  

เรื่องถัดมา เนื่องจาก LNG เป็นต้นทุนการผลิตที่แพงมาก ถ้าเราผลิตไฟฟ้าจาก LNG อย่างเดียว ต้นทุนอาจจะถึง 8 – 8.50 ต่อหน่วย ซึ่ง ยิ่งผลิตยิ่งขาดทุน เราต้องลดการใช้ LNG ลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ต้องหยุดการสร้างท่าเรือ LNG เพื่อนำก๊าซเข้ามาผลิตไฟฟ้า เพราะ ต้นทุนการสร้างท่าเรือจะบวกเข้าไปในต้นทุน LNG เช่นเดียวกัน 

วิกฤตค่าไฟแพง โอกาสพลังงานหมุนเวียน

รศ.ชาลี กล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เป็นการผลิตไฟฟ้าสะอาด ติดตั้งเองได้โดยครัวเรือนและกิจการ รัฐส่งเสริมให้มากที่สุด ณ ตอนนี้ เนื่องจากระบบการจ่ายไฟฟ้าบ้านเราล้นและเต็ม จึงต้องถอยการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลลง เพื่อให้มีพื้นที่จากการผลิตพลังงานสะอาดเข้าไปใส่ได้มากขึ้น ถ้าเรายังยืนยันที่จะผลิตจากฟอสซิลอยู่ เติมมาเท่าไหร่ก็ไม่เข้า เราต้องถอยสิ่งที่สกปรกที่สุด อย่างถ่านหิน ที่มีมลพิษเยอะ และสร้างคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าฟอสซิลอื่น ๆ 

“การตัดสินใจเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่แม่เมาะ เครื่องที่ 8 และ 9 ใหม่ อีกครั้ง เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด สวนทางกับกระแสโลก ในการทำ Carbon neutrality 2050 หรือ การลด Carbon footprint ของประเทศไทยให้ได้ 40% ในปี 2030 ที่นายกฯ ได้ประกาศเอาไว้ในเวทีกลาสโกว์ สิ่งเหล่านี้ต้องหยุดทันที…”

สิ่งที่ภาครัฐควรทำ คือ การเพิ่มพอร์ตการผลิตพลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น โดยภาคประชาชน เพื่อให้เขามีรายได้มากขึ้น มีเศรษฐกิจที่หมุนเวียนภายในท้องถิ่น เงินตราไม่ไหลออกนอกประเทศ ส่งเสริมโซลาร์รูฟท็อป แต่ปัญหาสำคัญ คือ กระบวนการขออนุญาตยุ่งยาก ต้องมีวิศวกรในการลงนามรับรอง และต้องติดมิเตอร์ 2 ตัวในกรณีที่ต้องการขายไฟออกด้วย คือ มิเตอร์ขาย และมิเตอร์ซื้อ ถ้าไม่ติดเพิ่มไม่สามารถขายออกไปได้ ต่างประเทศใช้การหักลบกลบหน่วย หมายความว่า คุณผลิตไฟได้เท่าไหร่ ให้ลบออกจากไฟที่คุณใช้ไป แล้วจ่ายเฉพาะหน่วยส่วนเกินเท่านั้น นั่นหมายความว่า ราคาขาย และราคาซื้อจากการไฟฟ้า จะมีราคาเท่ากัน สร้างความยุติธรรมให้ประชาชน

รศ.ชาลี กล่าวต่อว่า ต้นทุนการติดตั้งโซลาร์เซลล์ตอนนี้ถูกมาก 1 หน่วย ไม่ถึง 2 บาท ในการติดตั้งบนหลังคา ลงทุน 30,000 บาท 1 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟได้ 600 บาท/เดือน นั่นหมายความว่า ใช้เวลา 4 ปี ก็คืนต้นทุนได้แล้ว โซลาร์เซลมีอายุ 25 ปี นั่นหมายความว่า ลงทุนครั้งเดียว หลังจากนั้น คือ เวลาที่เราได้กำไรไปตลอดทุกเดือน รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ครัวเรือนติดตั้งโซลาร์เซลล์ แต่หากไม่มีตอนนี้มีธนาคารพาณิชย์ที่ให้เงินกู้ในการติดตั้ง เราสามารถเอาค่าไฟฟ้าที่ประหยัดผ่อนกลับไปที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินได้เลย นอกจากช่วยลดค่าไฟในระดับครัวเรือนแล้ว เพิ่มเสถียรภาพด้านพลังงานของประเทศด้วย

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแบกรับภาระค่าไฟฟ้า โดยไม่มีมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐออกมาในตอนนี้ สิ่งที่ประชาชนทำได้ คือ การลด หรือประหยัดการใช้ไฟของเราให้มากที่สุด ต้องลองสำรวจดูว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บ้าน อยู่ในมาตรฐานที่ประหยัดไฟหรือไม่ปรับกิจกรรมที่ต้องใช้ไฟมาก อาจจะเลื่อนกิจกรรมไปทำตอนกลางคืนที่ค่าไฟถูกกว่าได้หรือไม่ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ ในยุคที่ค่าครองชีพแพงอย่างปัจจุบัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active