เสนอ ศธ. บรรจุ “ความรู้เท่าทันการเงิน” เป็นวิชาการเงินขั้นพื้นฐาน

นักวางแผนลงทุน ผุดแคมเพน ผ่าน Change.org เสนอกระทรวงศึกษาฯ แก้ปัญหาคนไทยถูกหลอกด้านการเงิน หลังตลาดหลักทรัพย์ฯ เคยสร้างคู่มือ และหลักสูตรสอนการเงินในโรงเรียนมาแล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบมาใช้ในโรงเรียน

หลังเกิดเหตุการณ์ เน็ตไอดอล หลอกนักลงทุนเทรด 2,000 ล้านบาท หนีออกนอกประเทศ, เหตุการณ์ผู้ได้รับกระทบจาก Forex ให้ตำรวจติดตามดาราสาวจำคุก และเหตุการณ์แก๊งค์คอลเซนเตอร์หลอกลวงครูวัยเกษียณ มีผู้ใช้ Chang.org คือ คุณปั้น-จิตรกร แสงวิสุทธิ์ เจ้าของเพจ นายปั้นเงิน ฟรีแลนซ์ผู้ให้ความรู้เรื่องวางแผนการเงินการลงทุน มาแชร์วิธีตั้งเป้าหมาย การสร้างพอร์ตสำคัญอย่าง การเกษียณ และการจัดสรรเงินลงทุนให้เหมาะสมในทุกช่วงวัยของชีวิตฟรีแลนซ์ สร้างแคมเพนรณรงค์ ต้องมีหลักสูตร “รู้เท่าทันทางการเงินในโรงเรียน” หวังผลักดันให้เกิดความรู้ด้านการออม การลงทุนในสถานศึกษา

ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แชร์ลูกโซ่รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแชร์บ้านออมทอง ชักชวนคนไปลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเกิจริง แชร์ธุรกิจที่ไม่มีสินค้าจริงแต่เน้นเรื่องของระบบการหลอกสมัครสมาชิก ในฐานะคนที่ทำงานด้านการเงินและการลงทุน รวมถึงให้ความรู้ทางการเงินผ่านสื่อไม่ว่าจะเป็นเพจ นายปั้นเงิน และพอดคาสต์การเงิน Money Armageddon รู้สึกเศร้า ไม่สบายใจทุกครั้งที่ยังมีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก ซ้ำร้าย เหยื่อหลายคนเองก็ไม่สามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างถูกต้อง ใช้เงินที่กู้ยืมมาเพื่อการลงทุน จนเกิดหนี้เสีย ซึ่งถ้ามองไปที่สาเหตุหลักก็จะพบว่า คนไทยที่ตกเป็นเหยื่อหลายคนยังขาดความรู้เรื่องการวางแผนการเงินที่ดี ขาดกระบวนการคิดวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในการลงทุน มองด้านผลตอบแทนมาก่อนความเสี่ยง

คนไทยบางส่วนขาดความรู้เท่าทันทางการเงิน ซึ่งในหลายประเทศ เรื่องของการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ถูกบรรจุอยู่ในระบบการศึกษาภาคบังคับ ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา

เพื่อให้มีพื้นฐานความรู้ทางการเงินที่แข็งแกร่ง รู้เท่าทันกลลวงในทุกช่วงเวลา ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หาประโยชน์จากความไม่รู้ และสามารถต่อวางแผนการเงินเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ต้องการได้…

จิตรกร แสงวิสุทธิ์ เจ้าของเพจ นายปั้นเงิน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเคยสร้างคู่มือการเงิน แต่ไม่ถูกหยิบมาใช้ประโยชน์ในโรงเรียน

คุณปั้น อธิบายเพิ่มในแคมเพนว่า ก่อนหน้านี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เคยสร้างคู่มือ และหลักสูตรสอนการเงินในโรงเรียนมาแล้ว แต่ยังไม่ถูกหยิบมาใช้และไม่มีใครเป็นแกนนำหลักอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของทรัพยากรบุคคลภายในประเทศว่าควรมีความเข้าใจในการจัดการหนี้ และการเงิน ก็เริ่มวางรากฐานสอนเรื่องเหล่านี้ให้แก่เยาวชนในประเทศของตนแล้ว ส่วนใหญ่เป็นประเทศกลุ่มที่เจริญแล้ว อาทิ สเปน จัดหลักสูตรการเงินในสถาบันการศึกษา 3 ช่วง ในปี 2008, 2013 – 2017, 2018 – 2021, โปรตุเกส เริ่มในปี 2011, อินโดนีเซีย จัดหลักสูตรในปี 2013 – 2014, เอสโตเนีย จัดหลักสูตรการเงินในแผนยุทธศาสตร์ ในปี 2013-2020, แคนาดา แต่งตั้ง Financial Literacy Leader เป็นเวลา 5 ปี ตั้งเป้าหมายให้ความรู้แก่ชาวแคนาดามากขึ้น เพื่อจัดการหนี้ได้ดีขึ้น รัสเซีย ออสเตรเลีย และเปรู ก็เริ่มในปี 2018

จึงอยากจะขอเรียกร้องให้ กระทรวงศึกษาธิการ เข้ามารับหน้าที่เป็นหัวเรือในการบรรจุเรื่อง “ความรู้เท่าทันทางการเงิน” เป็นอย่างน้อย ในการศึกษาภาคบังคับไทยตั้งแต่ระดับประถม-มัธยมศึกษา จัดทำหลักสูตรความรู้เรื่องการเงิน หรือ “วิชาการเงินขั้นพื้นฐาน” โดยสอนตั้งแต่ การป้องกันตัวเองจากการหลอกลวงทางการเงิน การออมเงิน การบริหารค่าใช้จ่ายและบัญชีรายรับรายจ่าย ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการลงทุน สินเชื่อและการกู้ยืม ความรู้เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย

หวังว่าในโลกยุคดิจิทัล เราจะสามารถส่งต่อความรู้ความเข้าใจเรื่องการเงินเพื่อเป็น ภูมิต้านทานที่ดีให้กับคนไทยได้แต่ด้วยแรงของสื่อ หรือองค์กรเอกชน อาจจะยังไม่เพียงพอที่จะช่วยให้คนไทยทุกคนเอาตัวรอดได้ เพราะการหลอกลวงของมิจฉาชีพนับวันก็มีการพัฒนารูปแบบตามยุคสมัย เกราะป้องกันขั้นพื้นฐานที่แข็งแกร่งควรมาจากการเรียนรู้ทางการเงินในระบบการศึกษาตั้งแต่ในระดับโรงเรียน…

ใครสนใจกับแนวคิดนี้ลงชื่อได้ที่ https://chng.it/f9bdd4VNX8

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active