พบข้อมูล ค่าเดินทางที่ผ่านขนส่งสาธารณะตกเกือบเดือนละ 5,000 บาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของเงินเดือน ขณะที่ รถเมล์ และ รถสองแถว ใช้เวลาเดินทางนาน หวังขนส่งสาธารณะเข้าถึงง่าย เชื่อถือได้ เพื่อไม่ใช้รถส่วนตัว ภาคีทำงานเตรียมสรุปข้อมูลเสนอผู้ว่าฯ กทม.
วันนี้ (24 ก.ค. 2565) สหภาพคนทำงาน ร่วมกับภาคีเครือข่าย ดินสอสี เครือค่ายสลัม 4 ภาค จัดกิจกรรมปิกนิกในสวนสาธารณะ ชวนประชาชนคนทำงานรวมวงพูดคุยกันในหัวข้อ “ขนส่งขนสุขสาธารณะ” ในฐานะคนวัยทำงานที่ใช้รถโดยสารสาธารณะในการเดินทาง ทั้งนี้ ภายในกิจกรรม มีการระบุถึง การรณรงค์หยุดต่ออายุสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว การหยุดค่ารถไฟฟ้าราคาแพงหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ และรถไฟฟ้าทุกสีราคาเดียว รวมถึงพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่ทุกคนเข้าถึงได้
กษิดิษ ปานหร่าย สหภาพคนทำงาน ระบุว่า กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อที่จะพูดถึงปัญหาขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะเรื่องบริการรถไฟฟ้า กลุ่มเป้าหมายที่เลือกเข้าร่วมในกิจกรรมนี้คือกลุ่มคนวัยทำงานที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางไปทำงาน ซึ่งภายในกิจกรรมพบว่า เสียงส่วนมาก อ้างถึงราคาที่แพงของการใช้บริการ บางคนเงินเดือน 15,000 บาท จะต้องจ่าย ค่าเดินทางที่เป็นขนส่งสาธารณะตกเกือบเดือนละ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 1 ส่วน 3 ของเงินเดือนทั้ง ซึ่งไม่สมดุลกับรายรับ
ทั้งนี้ การจัดรูปแบบบเป็นการปิกนิในสวนเพื่อให้บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปอย่างผ่อนคลายเรียบง่าย ไม่เครียด และทำให้เหมือนกับว่าทุกคนมาพักผ่อน จากการทำงาน มีการเอาอาหารมาแบ่งกัน มีการเล่นดนตรีเพื่อสร้างบรรยากาศการพูดคุยให้เป็นกันเองมากขึ้น
ด้าน จันทนี ปันทรส คนวัยทำงาน ที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ระบุว่า ด้วยอาชีพที่เป็นฟรีแลนซ์ จำเป็นต้องออกเดินทางไปคุยงาน และบางช่วง บางจังหวะที่ต้องใช้ขนส่งสาธารณะ อย่างรถไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซต์ และเมื่อเทียบความสมดุลระหว่างรายได้กับค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายไปกับค่าเดินทาง จะเห็นว่าไม่มีความสมดุล
“ด้วยรายได้ของเราเป็นรายได้แบบฟรีแลนซ์ รายได้แต่ละเดือนจะไม่เท่ากันบางครั้งบางเดือนเงินออกช้า แต่พอมาเจอระบบขนส่งที่เราจะต้องใช้ตลอด แค่ออกจากบ้านไป BTS ก็ 50 บาทแล้ว ยิ่งต้องไปต่อกันหลาย ๆ ที่ เคยรวมแล้วเยอะสุดคือ 400 บาทต่อวันก็มี ซึ่งวันหนึ่งได้เงินโปรเจค 1,500 บาท เราจะเหลือกินแค่ไม่เท่าไรเอง และเราก็ต้องเก็บด้วย ซึ่งมันก็ไม่พอ”
สอดคล้องกับ ธัญวรัตม์ สมบัติวัฒนา ฟรีแลนซ์ โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ ซึ่งระบุว่า แม้ตอนนี้จะไม่ได้ใช้ขนส่งสาธารณะบ่อย แต่มีประสบการณ์ที่เคยใช้รถเมล์ และ รถสองแถว โดยไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของราคา แต่ยังรวมไปถึงระยะเวลาในการเดินทาง จึงมีข้อเสนอว่าอยากให้มีขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่าย และเชื่อถือได้ เพื่อที่จะไม่ได้ใช้รถส่วนตัว
ที่ผ่านมามีการสำรวจเก็บข้อมูลปัญหารายทางของประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการทำโพล ตามสถานีรถไฟสถานีต่าง ๆ กว่า 20 สถานี และ มีการจัดลิเกเร่ ลงไปแสดงในชุมชน คนจนเมือง ที่ได้รับผลกระทบจากการทำรถไฟ แต่พวกเขากลับเข้าไม่ถึงการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งข้อมูลปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะจากการทำกิจกรรมทั้งหมดจะถูกรวบรวมโดยภาคีเครือข่ายที่ทำงาน และเสนอไปยังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต่อไป