เสวนา “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” เวทีคนจนเมือง “ สะท้อนปัญหาคนจนหลุดพ้นจากความยากจนยากขึ้นจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อการแข่งขัน เสนอ กทม. มีนโยบาย อุดหนุนห้องเช่าราคาถูก
วันนี้ (8 ก.ค. 2565) ในงาน “เปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ” ในเวทีเสวนา “คนจนเมือง” ได้มีการร่วมกันนำเสนอข้อมูลระดับวิชาการสู่ข้อเสนอในการแก้ปัญหาคนจนเมืองในมิติต่าง ๆ โดย ศ.ดร. นฤมล นิรากร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงสถานการณ์คนจนว่า คนจนใหม่จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 ทั่วโลก การว่างงานระยะยาวเพิ่มขึ้น และพร้อมจะตกสู่ระดับ “เฉียดจน” มากขึ้น ขณะที่คนจนอยู่แล้วโดยเฉพาะรุ่นพ่อแม่ จะหลุดพ้นจากความยากจนยากขึ้นเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อ การแข่งขัน
“หากจะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ให้หลุดพ้นความยากจนถือว่ายากมากและต้องช่วยในเชิงลึก เน้นไปที่กลุ่มลูกหลานของเขาให้ได้รับการศึกษาจะยกระดับคุณภาพชีวิตได้ง่ายกว่า”
ผศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า มีสัดส่วนคนจนเมืองในกรุงเทพฯ ประมาณร้อยละ 20 คนไม่มีเงินซื้อบ้านมากขึ้น คนเช่ามากขึ้น คนที่ประกอบอาชีพหาบเร่แผงลอย ทำมาหากินยากขึ้น เนื่องจากนโยบายการจัดการเมืองมีความยืดหยุ่นน้อยลง ตั้งแต่ ปี 2557 ทุกวันนี้คนจนเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้เพราะอยู่ใกล้แหล่งงาน ซึ่งยอมแลกกับคุณภาพชีวิตที่ต่ำกว่ามาตรฐาน
“ทำให้ต้นทุนที่อยู่อาศัยถูกลงและได้อยู่ใกล้แหล่งงาน มองให้ครอบคลุมคนเช่าบ้านที่เพิ่มมากขึ้น”
ด้าน นพพรรณ พรหมศรี เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สะท้อนว่า คนจนเมืองไม่ใช่ภาระและไม่ใช่คนที่อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่อย่างผิดกฎหมาย แต่เพราะข้อจำกัดและการถูกบีบจากการพัฒนาเมือง แรงงานกลุ่มนี้คือคนที่ร่วมพัฒนาเมืองให้เติบโต และการมีอยู่ของพวกเขา ทำให้ต้นทุนของคนในเมืองถูกลง
“กทม. อาจสำรวจและทำให้การเช่าถูกกฎหมาย เพื่อที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ เพราะงบประมาณกทม จะไม่สามารถพัฒนาได้ ชุมชนถูกไล่รื้อต้องหาที่ดินรองรับแห่งใหม่ ทำให้เขาไม่ต้องดิ้นรน ส่วนกลุ่มคนที่ต้องเช่าห้องจะเป็นนโยบายกทม. ที่ต้องอุดหนุนห่องเช่าราคาถูก โดยสำรวจตึกร้างประสานหน่วยงานรัฐ หรือเอกชน เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยราคาถูกในเมือง และใช้กลไกที่มีของภาครัฐและภาคประชาชนให้มีหน้าที่อำนาจการจัดการพื้นที่อยู่อาศัยให้เป็นรูปธรรม”
ขณะที่ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า เข้าใจและมองเห็นปัญหาของคนจนเมืองหลายนโยบายพยายามที่จะช่วยลดภาระต้นทุนของการใช้ชีวิต และสร้างโอกาส แต่หลายเรื่องยอมรับว่า กทม. ไม่มีอำนาจ เป็นเพียงผู้ประสานกับหน่วยงานอื่นๆ แต่สิ่งที่เดินหน้าทันทีในเวลานี้และเห็นเป็นรูปธรรม เช่น
“การฉายหนังกลางแปลง เป้าหมายนอกจากกิจกรรมบันเทิงแล้ว ก็หวังกระตุ้นเศรฐกิจหมุนเวียน ให้ผู้ค้าในแต่ละพื้นที่ที่มีการฉายหนังได้ค้าขาย เน้นผู้ค้าเดิมที่อยู่ในละแวกนั้น ซึ่งการตอบรับเริ่มต้นดี”
สำหรับงานเสวนาครั้งนี้ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณแห่งประเทศไทย(ส.ส.ท.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.) จัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูล องค์ความรู้เพื่อต่อยอดจากงานวิจัยนในการสื่อสารสู่สังคมในหลากหลายรูปแบบ โดยครอบคลุมความเหลื่อมล้ำในทุกมิติอาทิ “เวทีคนจนเมือง” “เวทีปลดล็อคความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” “เวทีคนไร้สถานะ” “เวทีคนพิการยากจน” และ”เวทีผู้สูงอายุโดดเดี่ยว”