นักวิจัยทีดีอาร์ไอ ยก 9 เหตุผล เก็บภาษีที่ดินฯ ได้น้อย

ไม่เห็นด้วยมาตรการรัฐลด 90% ไร้การชดเชย แนะท้องถิ่นจัดโซนผังเมือง แก้ปัญหาปลูกกล้วยเลี่ยงภาษี ชี้เพดาน 50 ล้าน ไม่ตรงสัดส่วนผู้ถือครองที่ดิน สุดท้ายเก็บได้ไม่เข้าเป้า

ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565 ที่จะถึงนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ มีกำหนดจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเต็มจำนวน หลังจากที่ผ่านมา 2 ปี รัฐบาลออกมาตรการลดการเก็บภาษีไป 90% เพื่อลดผลกระทบจากสถานการณ์โควิด – 19 เป็นเหตุที่ทำให้รายได้ของ อปท. ลดฮวบ ส่งผลต่อการจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน

The Active ชวนมองปัญหา และส่งต่อข้อเสนอในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กับ นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ หรือ TDRI ที่ถอดบทเรียนจากการเก็บข้อมูลการเก็บภาษีของ อปท. ทั่วประเทศ พบ 9 ช่องว่าง ที่หากสามารถพัฒนาได้ อาจทำให้ท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ

1. ปัญหาความรู้ ความเข้าใจในการจัดเก็บภาษีดินและสิ่งปลูกสร้าง เนื่องจากเป็นภาษีใหม่ ประกอบกับมาตรการรัฐที่ออกมาลดภาษีไป 90% ก่อนหน้านี้ จึงทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร พอถึงคราวที่จะต้องเก็บเต็มจำนวน จึงเริ่มมีการวางแผนการเสียภาษี ในขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่แน่ชัดในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากยังมีปัญหาในทางปฏิบัติอยู่มาก อย่างที่เห็นกันบ่อยๆ คือ การปลูกกล้วยในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า หรือการแบ่งซอยที่ดิน ทำให้อีกแปลงเป็นพื้นที่ตาบอด เพื่อให้มูลค่าประเมินต่ำลง

2. ประชาชนขาดแรงจูงใจในการจ่ายภาษี โดยต้องยอมรับว่า อปท. อาจไม่ได้โชว์ผลลัพธ์การทำงานของท้องถิ่น ให้ประชาชนมั่นใจว่าภาษีที่จ่ายไปจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นอย่างไร ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจ ไม่มีจิตสำนึกในการรักท้องถิ่น จึงทำให้มีความพยายามในการหนีภาษีอยู่เสมอ

3. ราคาประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ำกว่าความเป็นจริง เพราะ ภาษีที่ต้องจ่ายแปรผันตามมูลค่าที่ดิน ซึ่งจากการเก็บข้อมูลพบว่ากรมธนารักษ์ ประเมินต่ำกว่าราคาซื้อขายจริงค่อนข้างมาก ส่งผลให้ภาษีที่ได้รับน้อยตามลงไปด้วย

4. กำหนดเพดานเก็บภาษีไม่ตรงกับความเป็นจริง โดย นณริฏ มองว่าเพดานมูลค่าทรัพย์สินจำนวน 50 ล้านบาทแรก ที่ต้องเสียภาษีนั้น สูงเกินไป เพราะจะทำให้พื้นที่จำนวนมากไม่ต้องเสียภาษี เนื่องจากบริบทในประเทศไทย จะพบว่าคนร้อยละ 70 ไม่ได้ถือครองที่ดิน มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น ที่ถือครองที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศ สะท้อนว่า มูลค่าของเพดานไม่ควรมากเกินไป เนื่องจากบ้านทั่วไปราคาไม่ถึง 50 ล้านบาท หากคำนวณตามหลักวิชาการน่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 – 10 ล้านบาทเท่านั้น

5. ปัญหาการลดหย่อนภาษี หลักการทางภาษีที่ดี ท้องถิ่นไม่ควรเสียรายรับจากภาษีตัวใหม่ แต่ภาษีที่ดินและสิ่งปลุกสร้างให้ข้อยกเว้นหลายประการ เช่น เกษตรกรสมัยก่อน จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ 5 บาทต่อไร่ หรือธุรกิจให้เช่าพื้นที่ ก่อนหน้านี้ถ้าปล่อยเช่า จะเสียภาษีบำรุงท้องที่ร้อยละ 12.5 ตอนนี้กลับคิดรวมมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงทำให้ห้างสรรพสินค้าจ่ายภาษีน้อยลงกว่าเดิมมาก

6. มาตรการจากรัฐส่วนกลาง กระทบรายได้ท้องถิ่น เช่น มาตรการลดการเก็บภาษีที่ดินลงไป 90% และบังคับใช้มานาน 2 ปี กระทบต่อรายได้ อปท. ทั่วประเทศ แม้รัฐบาลมีความพยายามในการคืนเงินภาษี แต่จากการสำรวจพบว่าไม่ได้รับคืนทุกที่ และหากได้คืน ก็ไม่ครบกับที่งดเว้นไป

7. ความสามารถของท้องถิ่นในการจัดเก็บภาษี อปท. ในฐานะผู้ประเมินและจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ต้องรู้ว่าทรัพย์สินของประชาชนในแต่ละพื้นที่ ถูกใช้ไปทำอะไรบ้าง แต่ในความเป็นจริงศักยภาพท้องถิ่นมีจำกัด ทั้งในแง่ของเทคโนโลยี และบุคลากร ในทางอุดมคติมีความคาดหวังว่า ท้องถิ่นจะสามารถใช้เครื่องมือทันสมัยที่ทำให้การจัดเก็บภาษีได้ง่ายขึ้น

8. การเก็บภาษีที่ไม่คุ้มค่า เพราะในทางปฏิบัติแล้ว ด้วยเพดานภาษีที่สูงเกินไป ทำให้เสียภาษีที่ดินจำนวนน้อย บางรายเสียแค่ 19 บาทเท่านั้น ในขณะที่การจะชำระภาษีแต่ละครั้ง ต้องมีกระบวนการส่งจดหมาย ลงทะเบียน ท้ายที่สุดจึงไม่คุ้มค่าที่จะจัดเก็บ

9. พื้นที่เฉพาะบางแห่งเสียภาษีสูงเกินไป เพราะ ในพื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่เมืองเก่า หรือพื้นที่ป่าชายเลน พบว่าเมื่อต้องจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พื้นที่เหล่านี้จะเสียภาษีในระดับสูง จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้วัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ และดูแลทรัพยากรหายไปด้วย

“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ฐานในการจัดเก็บบนสินทรัพย์ ไม่ได้จัดเก็บบนรายได้ จึงไม่ใช่เครื่องมือแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่เป็นการปรับสมดุลสินทรัพย์ในระยะยาว เพื่อไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะลดภาษีไป 90% เพื่อหวังจุนเจือภาระด้านเศรษฐกิจ… เพราะผิดหลักกการ”

ซึ่งหากพิจารณาจากทั้ง 9 เหตุผลที่ยกมานั้น นณริฏ กล่าวว่ามีหลายเรื่องที่ทั้งรัฐบาลส่วนกลาง และท้องถิ่นจำเป็นต้องอุดช่องว่าง เพื่อประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดีขึ้น เริ่มจาก อปท. ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดเก็บภาษี ปัญหาสำคัญ คือ ความพยายามอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการเลี่ยงภาษี โดยท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางในการจัดเก็บภาษีเฉพาะพื้นที่ได้

เนื่องจาก สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หลายคนพยายามจะแปลงพื้นที่เปล่า ที่ไม่รู้จะทำอะไร มาเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เสียภาษีน้อยลง แต่หากดูกฎหมายให้ละเอียดขึ้น จะพบว่านอกจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ที่ต้องเก็บภาษีในอัตราสูงแล้ว ยังมีพื้นที่ที่เรียกว่า “ใช้ประโยชน์ไม่สมควรแก่สภาพ” ยิ่งในพื้นที่ย่านเศรษฐกิจ แต่มาปลูกกล้วย อาจถือเป็นการใช้พื้นที่อย่างไม่มีประสิทธิภาพด้วย

นณริฏ กล่าวว่า ที่ผ่านมายังไม่มีท้องถิ่นใด พยายามใช้เงื่อนไขข้อนี้ในการประเมินภาษี ซึ่งเป็นเรื่องของดุลยพินิจในแต่ละท้องถิ่น และการผลักดันจากส่วนกลางด้วยว่าเอาจริงเอาจังกับผู้ที่พยายามเลี่ยงภาษีแค่ไหน แต่เสียงสะท้อนจากผู้นำท้องถิ่น พบว่าถ้าใช้ดุลยพินิจกลัวว่าจะเสี่ยงถูกฟ้องร้องได้

จึงนำมาสู่ข้อเสนอให้ ท้องถิ่นสามารถกำหนดทิศทางเก็บภาษีในรูปแบบเฉพาะได้ คือ กำหนดเขตพัฒนา พื้นที่อนุรักษ์ พื้นที่ป่าชายเลน หรือพื้นที่เกษตรกรรม ให้เป็นโซนผังเมืองอย่างชัดเจน เพื่อแก้ปัญหาว่าพื้นที่นั้นใช้ตามควรแก่สภาพหรือไม่ และลดดุลยพินิจของท้องถิ่นได้เช่นกัน

แต่อย่างไรก็ตาม นณริฏ ยังมีข้อเสนอถึงรัฐบาลส่วนกลาง เพื่อสนับสนุนให้การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย โดยเริ่มต้นจากการสร้างความเข้าใจถึงข้อมูลการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะท้องถิ่นและประชาชนยังขาดข้อมูลอีกจำนวนมาก ภาครัฐควรสร้างแพลทฟอร์มกลาง ดึงเอา Influencer มาร่วมสร้างความเข้าใจ อีกทั้งต้องเปิดช่องทางในการให้คำปรึกษากับ อปท. ที่ยังไม่มั่นใจว่าสามารถทำสิ่งใดได้บ้าง

นอกจากนั้น กรมธนารักษ์ ต้องปรับราคาประเมินให้สอดคล้องกับราคาตลาดให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนในการจ่ายภาษีน้อยลง และแก้กฎหมายปรับเพดานภาษี ให้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท พร้อมทั้งการชดเชยงบประมาณอย่างเหมาะสม เมื่อต้องออกมาตรการมาลดหย่อนภาษี เพื่อไม่ให้กระทบกับรายได้ของ อปท.

นณริฐ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ต้องทำให้ได้ คือ การพัฒนาสู่รัฐบาลดิจิทัล ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชนให้เกิดประโยชน์ เพราะ ถ้าหากมีเว็บไซต์ที่ประชาชนสามารถกรอกเลขบัตร ฯ ของตนเอง แล้วสามารถรู้ภาระภาษีได้ทันที รวมถึงจ่ายแบบออนไลน์ได้ จะลดขั้นตอนลงได้มาก เพราะตอนนี้ยังใช้จดหมายลงทะเบียน ที่เป็นการเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น

“ถ้าหากยังมีวิกฤตอื่นอีก เสนอให้รัฐบาลลดการเก็บเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม แล้วขยายเวลาชำระออกไปแทน อาจจะให้ประชาชนผ่อนจ่าย 10 ปี จะทำให้รัฐจะได้เงินเท่าเดิม และเมื่อจะทำธุรกรรมซื้อขายทรัพย์สินใด ต้องให้ภาษีต่างๆ ถูกชำระจนเสร็จสมบูรณ์จึงจะทำได้ เพื่อให้การชำระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ถูกมองข้าม”

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้