ภาครัฐ ธุรกิจ วิชาการ ระดมความเห็นร่วมหาออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด

TDRI ห่วงเศรษฐกิจโลกเสี่ยงสูง แนะเร่งสร้าง-ซ่อมประเทศไทย ยกระดับนโยบายอัพสกิลแรงงาน คู่ขนานเพิ่มสภาพคล่องภาคธุรกิจเร่งด่วน สหพันธ์ขนส่ง แนะรัฐปรับโครงสร้างราคาพลังอย่างเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ

โควิด19 ส่งผลกระทบทำให้หลายกิจการต้องปิดตัว หลายคนเจอกับวิกฤตครั้งใหญ่ในชีวิตโดยเฉพาะเรื่องปากท้อง วันนี้จึงเกิดเวทีรับฟังเสวนา “ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด” โดยมีภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาครัฐ มาร่วมพูดคุย-แลกเปลี่ยนความคิด มองหาทางรอด เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้องให้คนไทย โดยถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์ของไทยพีบีเอส

“ทางรอดปากท้อง ทางออกเศรษฐกิจฝ่าคลื่นโควิด : โอกาสหรือความเสี่ยง? “

มองผลกระทบภาคการท่องเที่ยว หลังโควิด-19

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) ระบุว่า แม้รัฐจะพยายามเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ยังมีข้อติดขัด ขั้นตอนทำให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวยังไม่ดีมากนัก ล่าสุดมาตรการผ่อนคลายยกเว้นตรวจ RT-PCR 72 ชั่วโมง เป็นมาตรการที่ดี แต่ขอเสนอให้ยกเลิกทั้งหมด และให้รัฐสื่อสารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน เพราะหากไม่ปลดล็อกมาตรการ หรือไม่มีความชัดเจน จะส่งผลต่อการฟื้นเศรษฐกิจที่ช้าเกินไป โดยคุณมาริสา ให้ข้อมูลว่า

ปี 2019 มีนักท่องเที่ยวกว่า 8 ล้านคน รายได้ 3 ล้านล้านบาท
ปี 2020 มีนักท่องเที่ยวเพียง 6.7 ล้านคน ซึ่งเป็นช่วง 3 เดือนแรกที่เจอโควิด-19
ปี 2021 มีนักท่องเที่ยว 4.2 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยมาก

เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวไทยภายในประเทศ เริ่มมีกำลังซื้อน้อยลง ประกอบกับล็อกดาวน์หลายรอบทำให้ ปี 2021 มีนักท่องเที่ยวน้อยลงกว่าปี 2019 เกินครึ่ง แม้ภาครัฐจะออกมาตรการช่วยเหลือแต่ก็ยังมีตัวเลขนักท่องเที่ยวที่น้อยอยู่ดี โดยรวมแล้วรอบนี้ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งองคาพยพ และรุนแรงมากกว่า วิกฤตต้มยำกุ้ง


“คนที่อยู่ได้ตอนนี้ คือ คนมีหนี้น้อย กระเป๋าหนัก สายป่านยาว หรือ โรงแรมขนาดใหญ่ แต่ที่ดูจะได้รับผลกระทบหนักสุด คือโรงแรมขนาดกลาง เช่น กลุ่มธุรกิจครอบครัว หรือ โรงแรมที่รองรับตลาดทัวร์ที่หายไป ทำให้มี โรงแรม 5-6% ที่ปิดตัวไปเลย ส่งผลถึงพนักงานที่ขาดรายได้ ขณะที่โรงแรมก็จ้างต่อไม่ไหว

อยากให้รัฐหันมาพยุงธุรกิจท่องเที่ยว อย่าให้ต่างชาติมาช้อนซื้อไปทั้งหมด เพราะมองว่าหลังจากนี้ ธุรกิจจะฟื้นตัว และไทยเองก็มีจุดแข็งเรื่องนี้”

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA)

นายกสมาคมโรงแรมไทย ย้ำว่า สิ่งสำคัญ คือ ต้องสร้างความต้องการ (Demand) กลับมาให้มากที่สุดจึงจะรอดได้ พยุงให้ธุรกิจการท่องเที่ยวอยู่รอด เพราะเป็นกลไกสร้างงานและทำให้เศรษฐกิจเดินได้ในอนาคต ทั้งนี้ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวกว่า 80% เป็น SMEs ควรจะสนับสนุนให้ยืนอยู่ได้ ไม่ควรให้ธุรกิจใหญ่หรือต่างชาติมาช้อนซื้อไปทั้งหมด เพราะส่วนตัวมองว่า 2-3 ปีหลังจากนี้ธุรกิจเหล่านี้จะกลับมาฟื้นตัว และไทยก็มีจุดแข็งเรื่องนี้

วิกฤตพลังงาน ซ้ำเติมโควิด-19 แนะรัฐปรับโครงสร้างราคาพลังอย่างเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นมีทางออก และสามารถทำให้ราคาน้ำมันเป็นธรรมกับผู้บริโภค เสนอแนะให้ภาครัฐใช้วิกฤต เร่งปรับโครงสร้างราคาน้ำมันทั้งระบบ เพราะปัจจุบันเห็นโครงสร้างราคาน้ำมันไม่เป็นธรรม

เช่น น้ำมันดิบที่ราคาพุ่งไปกว่า 100 เหรียญต่อบาเรลล์ รัฐบาลก็จำเป็นต้องปรับลดภาษีสรรพสามิตรลงด้วย อีกตัวแปรสำคัญ คือ โรงกลั่นน้ำมัน ที่รัฐต้องอุดหนุน แต่ประชาชนกลับต้องแบกรับภาระหนัก ​ดังนั้นเสนอให้รัฐเลิกอุ้มโรงกลั่น และหันกลับมาให้ความเป็นธรรมกับราคาน้ำมันสำหรับผู้บริโภค

โครงสร้างราคาน้ำมันต้องเกิดความเป็นธรรม สำหรับประชาชนทั้งประเทศ ไม่ให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์จาก พลังงาน

ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย

ดร.ทองอยู่ ย้ำว่าหากไม่ปรับปรุงแก้ไขในช่วงวิกฤตนี้รัฐบาลจะแก้ได้ยาก และเกิดผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้น สิ่งสำคัญที่รัฐต้องให้ความสำคัญคือ การเปิดเผยข้อมูลให้ชัด โดยเฉพาะข้อมูลน้ำมันในประเทศ และข้อมูลการนำเข้าประเทศ ในขณะเดียวกันรัฐก็มีกองทุนน้ำ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพน้ำมัน

แต่ปัจจุบัน กองทุนน้ำมัน และกองทุนอนุรักษ์พลังงาน ใช้หลักการผู้ใช้เป็นผู้จ่าย และต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงิน (subsidize) ผู้ที่ไม่ได้จ่าย เช่น น้ำมันเบนซิน ที่เก็บจากคนใช้น้ำมันทั้งประเทศ เอาไปช่วยเหลือ LPG ฯลฯ ดังนั้นจึงเห็นว่า กองทุนฯ จะต้องมีความชัดเจน เปิดเผยในที่สาธารณะ ราคาต้องเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำได้จริง

ความเชื่อมั่นตลาดแรงงาน หลังเกิดวิกฤตโควิด19

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ไทย (อีคอนไทย) ระบุว่า วิกฤตโรคระบาดทำลายโครงสร้างเศรษฐกิจ เกิดเป็น supply shock หรือ ภาวะอุปทานช็อค เปลี่ยนแปลงราคาสินค้าฉับพลัน กระทบต่อภาวะเงินเฟ้อที่ทำลายสถิติโลก ขณะที่ เศรษฐกิจ เป็นภาพเดียวกับ แรงงาน ซึ่งเวลานี้ตลาดแรงงานกำลังสะท้อนความเปราะบางอย่างรุนแรง จากแรงงานทั่วประเทศ 37.6 ล้านคน มีแรงงานตกงาน และจบใหม่ที่ยังไม่มีงานทำ เพราะไม่ตอบโจทย์การตลาด

​ธนิต วิเคราะห์ว่า วิกฤตการระบาดสะเทือนถึงเศรษฐกิจ 2 ระดับทั้งมหภาค และจุลภาค แต่ที่ผ่านมาโลกไม่เคยเจอวิกฤต และรัฐ ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับเอกชนได้มากพอ จึงไม่สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจระดับจุลภาคได้ เช่น การปล่อยเงินกู้ (soft loan) หลายครั้งลงไปไม่ถึงธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหมด

ไทยมีแรงงานว่างงาน 6.3 แสนคน และว่างงานแฝง (ทำงาน 1 อาทิตย์ไม่ถึง 1 ชม.) อีกกว่า 6 ล้านคน รวมแล้วนับล้านคน

อีกตัวเลขคือ แรงงานประกันสังคมหายไปหลังโควิด-19 อีก 596,000 คน

เร็วๆนี้จะมีเด็กจบใหม่กว่า 4 แสนคน ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่จบในระดับ อุดมศึกษา ที่ไม่สามารถจับคู่งานกับตลาดได้ เพราะทักษะไม่ตรง…

ถึงเวลาต้องอัพสกิล-รีสกิลแรงงานกลุ่มนี้เช่นกัน…”

ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ไทย (อีคอนไทย)

สร้าง-ซ่อมประเทศไทยเร่งด่วน รับมือโลกหลังวิกฤต

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า หลังเกิดภาวะสงครามระหว่างประเทศ ทำให้เศรษฐกิจเปลี่ยนไปจากฉากทัศน์เดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่า หลังโควิด-19 สภาพเศรษฐกิจทั่วโลก และแรงงานจะเติบโตขึ้น แต่ทุกอย่างกลับแย่ลงไปหลังเกิดสงคราม

ล่าสุด การพูดคุยระหว่างประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ – จีน ก็ดูเหมือนจะส่งสัญญาณไม่ดีนัก และมีผลทางลบ ด้วยการข่มขู่ให้จีน งดให้ความช่วยเหลือรัสเซีย และหยุดลดทอนการแซงชันรัสเซียทุกรูปแบบ ซึ่งก็ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตากันต่อไป ดร.สมชัยอธิบายว่า เกือบทุกครั้งที่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย จะกระจายความรุนแรงนี้ไปทั่วโลก ภาวะเศรษฐกิจโลกจึงยังไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูง

ภาวะเงินเฟ้อ ในช่วงเวลานี้ ยังทำให้ราคาพลังงาน ต้นทุนสินค้าหลายประเภทปรับตัวสูงขึ้น สิ่งที่นักวิชาการกังวลมากที่สุด คือ ภาวะคาดการณ์เงินเฟ้อ หรือ inflation expectation เพราะจะส่งผลให้เกิดการกักตุนสินค้า เรียกร้องค่าแรง เช่นช่วงที่ผ่านมาเรียกร้องค่าแรงสูงถึง 492 บาท/วัน ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่เห็นได้เมื่อภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

“ที่น่ากลัว คือ ภาวะ inflation expectation อาจจะทำให้ประชาชนคาดการณ์เงินเฟ้อ เกิดพฤติกรรมบางอย่าง เช่น กักตุนสินค้า ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานก็จะเรียกร้องค่าแรงที่เกินจริง

ถึงเวลานั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็อาจจะไม่มีทางเลือก และปรับเพิ่มดอกเบี้ย

เราจึงเหมือนเดินอยู่บนขอบเหว จึงต้องมั่นใจจริงๆ ว่า นโยบายต่างๆ นั้น เดินมาถูกทาง”

ดร. สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ดร.สมชัย มีข้อเสนอให้ สร้างและซ่อมประเทศไทยด้วยนโยบายอัพสกิล-รีสกิล อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ซึ่งต้องไม่อยู่ในมือกระทรวงแรงงานเพียงอย่างเดียวโดยยกตัวอย่าง “Skill future ของสิงคโปร์” ที่เอากลไกตลาดเข้ามาอัพสกิล รีสกิล ด้วยการแจกคูปอง 6,000 บาท เป็นคูปองจ่ายค่ารีสกิลให้ประชาชนทุกๆ 3 ปี โดยแนะให้เอกชนเป็นคนทำเพราะจะมีความเชี่ยวชาญ และอัพสกิลได้ตอบโจทย์ความต้องการของโลกมากกว่า ถ้าใช้นโยบายนี้อาจจะใช้งบประมาณอยู่ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท เยอะกว่าเงินสวัสดิการแห่งรัฐไม่มาก แต่เป็นการพัฒนาสกิลอย่างแท้จริง

ส่วนระยะยาวควรเพิ่มสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจซึ่ง อาจไม่ใช่แค่การเยียวยา แต่ต้อง ปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจกันขนานใหญ่ และรัฐควรทำให้การเปลี่ยนผ่านมีต้นทุนน้อย และปรับตัวได้อย่างราบรื่นมากที่สุด คู่ขนานไปกับการทำ อัพสกิล-รีสกิล เพื่อให้ทั้งธุรกิจ และแรงงานฟื้นตัวได้อย่างคู่ขนาน รวมถึง การบรรเทาปัญหาการชะงักงันของการเรียนรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กจนเปราะบางที่เจอกับ ภาวะ Learning loss สูงมาก หากไม่มีนโยบายแก้ปัญหาตรงนี้อาจจะกลายเป็นแผลเป็นที่ติดอยู่ในสังคมไทย และเป็นผลระยะยาวไปถึงศักยภาพของแรงงานไทยในอนาคต

ขณะที่ตัวแทนจากภาครัฐ ดร.พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ระบุว่า วิกฤตโควิด ทำให้เศรษฐกิจชะงัก ซึ่งแผนที่ภาครัฐได้ทำ ปี 2563 ออกเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และปี 2564 ออก พ.ร.ก.เงินกู้อีก 5 แสนล้านบาท เบ็ดเสร็จนอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินที่ทำรายปีจะมีเงิน 1.5 ล้านล้านบาท ที่มีหน่วยงานหลักพยายามเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจ และการจัดการวัคซีน สาธารณสุข ซึ่งจะเห็นว่าโครงการต่างๆ ช่วยประชาชนไปได้อย่างน้อยๆ 40 ล้านคน เช่นโครงการเราไม่ทิ้งกันช่วยเหลือแรงงานได้ประมาณ 15.35 ล้านคน เกษตรกร เกือบ 10 ล้านครัวเรือน

ดร.พิสิทธิ์ ยังได้หยิบยก ข้อมูลสภาพัฒน์ฯ ทำให้เห็นการใช้เม็ดเงินเยียวยาวช่วยเหลือของภาครัฐกว่า 13,400 ล้านบาทต่อปี โดยย้ำว่าเป็นนโยบายที่ช่วยลดตัวเลขคนจน หากไม่มีนโยบายนี้ก็อาจจะมีคนจนเพิ่มขึ้นกว่าตัวเลขเดิม 4.8 ล้านคน เป็น 11 ล้านคน ซึ่งหากจะต้องแก้ปัญหาก็ยังจำเป็นหารือพูดคุยร่วมกับคณะรัฐมนตรีก่อนจะออกนโยบายการช่วยเหลือ

ขณะที่ ดร.ทองอยู่ คงขันธ์ ประธานที่ปรึกษา สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า หลายโครงการที่รัฐเข้ามาบรรเทาความเดือดร้อน ยังมีความล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ความเดือดร้อนของประชาชน

เช่นเดียวกับ คุณธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรม ไทย (อีคอนไทย) ที่มองว่า ช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ ​ไม่ควรแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการผูกขาดคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ควรเป็นช่วงเวลาเฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข ลดความเหลื่อมล้ำ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน