ชาวบ้าน ‘ห้วยหินลาดใน’ จี้รัฐปลดล็อก สร้างโรงเรียนใหม่ หลังน้ำป่าซัดพัง

หวั่น สร้างโรงเรียนใหม่ล่าช้า กระทบนักเรียน ขณะที่ ชาวบ้าน เรียกร้องรัฐ อนุโลมข้อจำกัดที่ดินในเขตป่า พลิกวิกฤตความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก เป็นโอกาส สร้างโรงเรียนที่มีความพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต 

วันนี้ (18 พ.ย. 67) เข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ที่นักเรียน โรงเรียนบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้กลับมาเรียนตามปกติ แต่เป็นการเรียนในศาลาประชาคมหมู่บ้าน และห้องสมุดชุมชน ที่ถูกปรับเป็นห้องโรงเรียนชั่วคราว ภายหลังเกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา ส่งผลให้โรงเรียนเสียหายเกือบ 100% 

The Active ลงพื้นที่พูดคุยกับนักเรียน บางส่วนยอมรับว่า ยังรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และหวังว่าเหตุการณ์เช่นนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีก ทั้งนี้อยากให้มีการเร่งสร้างโรงเรียนใหม่ในจุดที่มีความปลอดภัย มีความแข็งแรงสามารถรับมือภัยพิบัติได้

ชัยธวัช จอมติ กรรมการหมู่บ้านห้วยหินลาดใน เปิดเผยว่า ขณะนี้มีประชาชน เอกชน ระดมทุนเพื่อมาสมทบในการก่อสร้างโรงเรียนกว่า 7 ล้านบาท ซึ่งจากการประเมินของคณะกรรมการหมู่บ้าน คาดว่าเพียงพอต่อการสร้างโรงเรียนใหม่ที่มีความปลอดภัย  ตอนนี้ทางชุมชนได้ขยับและปรับปรุงพื้นที่สร้างโรงเรียน โดยถมที่ให้สูงขึ้นจากเดิม 2.50 – 3 เมตร ซึ่งประเมินแล้วว่า หากเกิดภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลากรุนแรง เช่นที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลกระทบต่อโรงเรียน 

พื้นที่ที่ปรับสภาพเตรียมไว้สำหรับสร้างอาคารเรียนใหม่

นอกจากนั้นยังได้วางแผน ออกแบบแปลนกับทางสถาปนิค ที่จะสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น ให้มีความมั่นคงแข็งแรง รับแรงน้ำหลากรวมถึงรองรับแผ่นดินไหว เพราะเชียงรายเป็นพื้นที่รอยเลื่อน มีความเสี่ยง จึงต้องออกแบบอาคารและโครงสร้างให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติเพื่อความปลอดภัย

ชัยธวัช ยังชี้ถึงข้อกังวล ว่า ทั้ง ๆ ที่มีงบประมาณพร้อมเพื่อการสร้างโรงเรียนใหม่ให้กับนักเรียนที่เสียหายอย่างหนัก ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่สุดในช่วงการฟื้นฟู แต่จนถึงตอนนี้ที่ยังมีความล่าช้า เพราะเมื่อได้แบบแปลนโรงเรียนแล้ว ต้องให้เขตพื้นที่การศึกษารับรอง ต้องขออนุญาตการก่อสร้าง เนื่องจากพื้นที่ก่อสร้าง รวมถึงพื้นที่ชุมชน พื้นที่ทำกินของหมู่บ้านห้วยหินลาดในอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ของกรมป่าไม้ ทั้งหมด

ชัยธวัช จอมติ กรรมการหมู่บ้านห้วยหินลาดใน

“เอาง่าย ๆ หมู่บ้านอยู่มาเป็น 100 ปี ถึงตอนนี้ยังไม่มีไฟฟ้าใช้เลย เพราติดขัดอยู่ในพื้นที่ของรัฐ เขตป่าสงวนฯ และไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญมาก การที่ผู้รับเหมาก่อสร้างจะขนเอาเครื่องจักรต่าง ๆ มาสร้างโรงเรียน ต้องใช้ไฟฟ้า ตรงนี้เป็นข้อจำกัด ส่วนเรื่องโรงเรียน ก็ต้องขออนุญาตอีกหลายขั้นตอน มีผลกับการเบิกจ่ายงบฯ ด้วย ก็จะทำให้การสร้างโรงเรียนล่าช้า ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องเร่งด่วน อนาคตของเด็ก ๆ และชุมชน”

ชัยธวัช จอมติ

ชัยธวัช ย้ำว่า เวลานี้ที่ทำได้ก่อนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน คือ การซ่อมแซมอาคารเรียนเดิมที่ยังเหลืออยู่ 1 หลัง เป็นห้องเรียนชั่วคราวให้กับนักเรียน เพราะหลังจากนี้ศาลาประชาคมที่ใช้อยู่ จะต้องนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น ๆ  

ขณะที่ ประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ บอกว่า แม้ในสมัยรัฐบาล พลอ.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ปลดล็อกอนุโลม อนุญาตให้มีการสร้างก่อน แล้วมาขออนุญาตในภายหลังเพื่อลดขั้นตอน แต่เป็นเพียงแค่การก่อสร้างต่อเติม หรือการซ่อมแซมเล็ก ๆ น้อย แต่การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ถาวรแบบโรงเรียน ต้องมีการขออนุญาตจากระดับอธิบดี และต้องใช้เวลานานมาก

“ที่จะล่าช้าไปอีก คือ ข้อจำกัด ว่า การสร้างสิ่งปลูกสร้างในพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน อยู่ในเขตคุณภาพลุ่มน้ำ 1,2 จะต้องมีการจัดประชาคมรับฟังความเห็น รวมไปถึงการทำ EIA ซึ่งหลายขั้นตอน ส่งผลต่อความล่าช้าในการสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ให้กับนักเรียนอย่างแน่นอน”

ประยงค์ ดอกลำใย

ชาวบ้านห้วยหินลาดใน จึงเรียกร้องให้ภาครัฐปลดล็อกข้อจำกัดนี้ ด้วยการเปิดช่องทางพิเศษ เพราะในทางกฎหมายที่มีอยู่เดิม ตาม พ.ร.บ. ป่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า นั้นไม่เปิดช่องอยู่แล้ว จึงต้องมีมติ ครม. รองรับกรณีเฉพาะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ไม่ใช่แต่เฉพาะกรณีห้วยหินลาดใน แต่จะมีผลต่อการพัฒนาโรงเรียนในเขตป่า และการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคทั่วประเทศ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active