พร้อมบรรจุสู่แผนยุทธศาสตร์จังหวัด ปลดล็อกข้อจำกัดกฎหมาย – นโยบาย ที่เป็นอุปสรรค ชื่นชมคนเชียงราย เปลี่ยนจากผู้ประสบภัย เป็นผู้มีส่วนร่วมตัดสินใจเชิงนโยบาย ยกระดับเชียงราย สู่ต้นแบบการจัดการรับมือภัยพิบัติ
เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 67 นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, ดำรงศักดิ์ ยอดทองดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยตัวแทนหน่วยงานราชการต่าง ๆในจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมรับฟังข้อสรุป “ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน“ Build Back Greener Chiang Rai
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย บอกว่า ด้วยจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยง หรือเป็นเมืองภัยพิบัติ ประสบปัญหา ทั้ง น้ำท่วม ดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก แผ่นดินไหว และ PM2.5 หลายภาคส่วน ทั้ง ประชาชน ผู้ประสบภัยพิบัติในชุมชนต่าง ๆ ไม่ว่าจะในเมือง พื้นที่สูง และ อ.แม่สาย ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้ง ภาควิชาการ ในจังหวัดเชียงราย จึงได้รวมตัวกันมากกว่า 70 คน เพื่อจัด Work Shop ระดมข้อเสนอ โดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบายกันอย่างเข้มข้น ในช่วงวันที่ 7-8 พ.ย.ที่ผ่านมา จนออกมาเป็นข้อสรุป ข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อนำไปสู่การเป็นแผนเดียวของจังหวัดเชียงราย
ประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์ ที่ปรึกษาหลักสูตรนวัตกรรมเชิงนโยบาย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ( องค์การมหาชน ) นำเสนอข้อสรุป และข้อเสนอเชิงนโยบายจากการระดมของชาวเชียงราย ว่า หลังจากที่มองไปยังนโยบายใหม่ ชัดเจนว่า มี 3 เรื่องสำคัญ คือ
- ควรจะมีเรื่องบทบาทของภาคชุมชน ภาคประชาชนที่เข้ามาเป็นคนขับเคลื่อน เป็นคนสร้างนโยบายเอง สร้าง solution หรือทางออกเอง ในเรื่องการบริหารจัดการกับภัยพิบัติให้ชุมชนมีส่วนร่วม
- ระบบต่าง ๆ ทั้งเทคโนโลยี กับ คน ต้องประสานเป็นเนื้อเดียวกัน เพราะตอนนี้เมื่อเทคโนโลยี และคนไม่ต่อกัน และหลายครั้งเทคโนโลยี มีปัญหา คนไม่สามารถรู้ข้อมูล ทำให้ระบบลดความเสียหายก็ลดลง จึงต้องมีกลไกกลางเชื่อมรอยต่อระหว่างเทคโนโลยี กับชุมชน เพื่อส่งเริมความสามารถในการรับมือภัยพิบัติ
- ที่เห็นตรงกัน คือ ชาวเชียงรายต้องอยู่กับธรรมชาติให้ได้ โดยไม่ฝืนธรรมชาติ
โดย การพัฒนาเชียงรายให้เป็นต้นแบบการแก้ปัญหารับมือภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน จะต้องเกิดขึ้นใน 3 ระยะ ประกอบด้วย
- ระยะเร่งด่วน : สร้างต้นแบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน ใน 3 พื้นที่ อ.แม่สาย อ.เวียงป่าเป้า และ อ.เทิง ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งต้นแบบนี้ก็จะปรับเปลี่ยนทั้งในเรื่องของรูปแบบการเยียวยาที่ตรงไปที่ผู้ได้รับความเสียหาย การจัดโซนนิ่งพื้นที่ การใช้พื้นที่ว่าพื้นที่ไหนควรทำอะไรเพื่อรับมือกับภัยพิบัติ และการกระจายอำนาจ ว่าได้มีการกระจายอำนาจลงไปในพื้นที่ ควรจะมีระบบกระบวนการอำนาจหน้าที่ของชุมชนอย่างไร
- ระยะกลาง : การพัฒนากระจายอำนาจสู่ชุมชน ลงไปจากจังหวัด ลงสู่ระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และลงสู่ระดับชุมชน ให้มีทั้งอำนาจหน้าที่ และงบประมาณ ในการทำ ซึ่งอันนี้ก็จะเป็นนโยบาย อันที่เสนอนอกจากสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบันให้เปลี่ยนเป็นแบบนี้ เมื่อเปลี่ยนเป็นแบบนี้ พอทำอะไรได้ ก็จะทำให้ชุมชน คนในเชียงรายทั้งหมด สามารถเรียนรู้การอยู่กับภัยพิบัติตลอดชีวิต ตื่นรู้ตลอดชีวิต
- ระยะยาว : การปรับผังเมืองใหม่ แต่จะเป็นการปรับผังเมืองที่ใช้เกณฑ์ตามลักษณะของภัยพิบัติ ให้เมืองสามารถรับมือภัยพิบัติได้
“เรามองว่า จังหวัดมีบทบาทหน้าที่โดยตรง การที่ภาคประชาชน และก็ผู้มีส่วนได้เสียได้ร่วมกันเสนอนโยบาย ท่านควรจะเห็นชอบ และมีแนวทางในการทำงานร่วมกัน แต่เพื่อให้ท่านสามารถทำงานได้ ก็จะเป็นแผนที่เสนอขึ้นไปยังระดับคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ปลดล็อกหลายเรื่อง เพราะด้วยกรอบอำนาจหน้าที่ของจังหวัดเอง หลายเรื่องในนโยบายใหม่ท่านก็ทำไม่ได้ เพราะว่า กฎหมายไม่เอื้อให้ทำ เจ้าหน้าที่ไม่เอื้อให้ทำ การที่ท่านจะขับเคลื่อนได้ เราจะเสนอไปปลดล็อกในระดับมติ ครม. อันนี้คือแนวทาง”
ประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์
ส่วนการขับเคลื่อนแผนนี้ ถ้าได้รับการอนุมัติ จังหวัดก็แน่นอนว่าเป็นกลไกสำคัญที่จะต้องเป็นแม่งานในการขับเคลื่อนครั้งนี้ แต่ท่านสามารถจะขับเคลื่อนตามแนวทางใหม่ ซึ่งได้รับการปลดล๊อกเงื่อนไขต่าง ๆ มาเรียบร้อยแล้ว ก็จะชวนท่านคิด ไม่ใช่แค่ในกรอบอำนาจปัจจุบัน
“อะไรที่จังหวัดทำได้ ปลดล็อกทำได้เลย อะไรที่นอกเหนือต้องใช้อำนาจนายกฯ หรือรัฐบาล มติ ครม. หรืออำนาจนโยบายส่วนกลางมาหนุนเสริมจะได้มีการเสนอให้ท่านขับเคลื่อนได้ ไม่ติดข้อจำกัดเหล่านี้ คือทำจากข้างล่างขึ้นมา และข้างบนลงมา“
ประดิษฐ์ รัตนวิจิตราศิลป์
ข้อเสนอเชิงนโยบาย ‘ฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน’ สู่ แผนยุทธศาสตร์จังหวัด
ขณะที่ นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วน ตื่นตัวต่อสถานการณ์อุทกภัย ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ผ่านมา ที่ทุกคนมีความเป็นเจ้าของ และอยากเข้ามามีส่วนร่วม ในการแก้ปัญหากับทางราชการ ทางจังหวัด ซึ่งมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ทางภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือพี่น้องชาติพันธุ์ที่อยู่บนพื้นที่สูง ออกมาแสดงความรู้สึก ความคิดเห็นว่าได้รับผลกระทบอะไร อยากให้ทำอะไร ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี ได้รับทราบปัญหา ได้รับข้อเสนอนี้ ที่มาจากความต้องการของชาวเชียงรายจริง ๆ ก็จะรวบรวมประมวลในส่วนปัญหา และข้อเสนอแนะ รวมทั้งแนวทางที่อยากให้ราชการทำอะไร เอกชนทำอะไร เชียงรายทำอะไร เพื่อจังหวัดเชียงรายได้มีทิศทางเดียวกัน เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
“จะนำไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์จังหวัด เพราะว่าเป็นข้อเสนอจากทุกภาคส่วน ซึ่งในการทำแผนจังหวัดเรารับฟังทุกภาคส่วนอยู่แล้ว วันนี้เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายทำให้ก่อน เป็นเรื่องดีที่เราจะได้หยิบยกมา ในการทำแผนพัฒนาจังหวัดต่อไป“
นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์
ในส่วนของการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะสัญจรจังหวัดเชียงใหม่ ทราบว่านายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีบางท่าน จะลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งกำหนดการตรงนี้ ไม่ได้กำหนดว่าจะมีการประชุมร่วมกันหรือไม่ แต่ก็จะรวบรวม แล้วทำเป็นสรุปปัญหาความต้องการ นำเสนอไปตามลำดับขั้นถึงคณะรัฐมนตรีต่อไป
สอดคล้องกับ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ที่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ บอกว่า เป็นข้อมูลที่ดีมาก ๆ เพราะสิ่งสำคัญที่สุด คือการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหลากหลายมากในพื้นที่ ตนในฐานะดูแลท้องถิ่น ตระหนักดีว่าจะต้องแก้ปัญหาอย่างไร
“วันนี้ต้องร่วมกันแก้ปัญหา ทั้ง ประชาชน เอกชน ภาครัฐ ภาคการศึกษา ดีใจที่จะนำข้อเสนอส่ง ครม.สัญจร ตรงนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง ให้เป็นข้อเสนอเป็นเล่มเดียวที่กลั่นจากทุกภาคส่วน ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาทุกมิติ ทั้ง ภาคบริการเกษตร ธุรกิจ ภาคงานสาธารณะต่าง ๆ การปรับผังเมือง เส้นทางคมนาคม เส้นทางน้ำ ป่า โดยให้ครอบคลุมเป็นโครงการต่าง ๆ ภายใต้เชียงรายเล่มเดียว“
อทิตาธร วันไชยธนวงศ์
ทั้งนี้ทาง อบจ. หรือท้องถิ่น วางแผนเรื่องของ ศูนย์บริหารจัดการสาธารณภัยแบบเบ็ดเสร็จ หรือ PDOSS ที่จะเป็นศูนย์กลางในการจัดการและประสานงานด้านสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างการตอบสนองต่อภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหาย และสร้างความมั่นคงให้กับประชาชนในพื้นที่
หนุน ติดตาม ขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายของชาวเชียงราย ให้เกิดขึ้นจริง
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้า จ.เชียงราย ระบุว่า จะทำงานกับภาคส่วนอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันให้ข้อเสนอที่ร่วมกันคิดจนเป็นข้อเสนอของคนเชียงรายเกิดขึ้นจริง ที่สำคัญและเป็นเรื่องใหม่ที่ทางภาคธุรกิจได้เรียนรู้จากการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับชุมชนชาติพันธุ์ ชุมชนบนพื้นที่สูงที่ได้มาร่วม Work Shop ในครั้งนี้ ทำให้ได้มองกว้างขึ้น ต่อการแก้ปัญหาภัยพิบัติ เพื่อสร้างรายได้เศรษฐกิจในจังหวัด ที่ต้องรวมถึงเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากของชุมชนบนพื้นที่สูงด้วย
“การประชุมครั้งนี้ ทำให้เรารับรู้ได้อย่างหนึ่งว่า การให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจชุมชน กับ เศรษฐกิจฐานราก บนพื้นที่สูง จริง ๆเป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน ทั้งด้านเศรษฐกิจ และภูมิคุ้มกันทางด้านภัยต่าง ๆ อย่างรองผู้ว่าฯ เอง ก็ได้บอกว่า การให้ชุมชนเฝ้าระวัง การเกิดภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็น PM2.5 อุทกภัยที่เกิดขึ้น ก็เป็นหนึ่งในมาตรการรับมือภัยพิบัติที่ดี เพราะถ้าภายในชุมชนมีเศรษฐกิจที่ดี เข้มแข็ง เขาก็ไม่อยากให้มี PM2.5 ไม่อยากให้มีไฟป่า ตัวชุมชนเองก็อยากปกป้อง เฝ้าระวังไม่อยากให้เกิดขึ้น นี่จึงตัวอย่างหนึ่ง ที่เราอยากลงไปทำให้เศรษฐกิจชุมชนมีความเข้มแข็ง เพื่อที่จะได้เป็นเศรษฐกิจฐานราก ผลักดันให้เศรษฐกิจเชียงราย เดินหน้าไปพร้อมกันได้“
ภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์
ทั้งนี้ภาคธุรกิจ จะสนับสนุนการทำเกษตรหลากหลายที่ไม่กระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมรับซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ ของชุมชนเพื่อนำมาใช้ในธุรกิจส่วนกลางของจังหวัด หรือ แม้แต่การเข้าไปช่วยเหลือการทำกการตลาดเชื่อมโยงธุรกิจภาคอื่น ๆ ในส่วนกลาง เพื่อผลักดันให้สินค้าท้องถิ่นมีตลาด สามารถพัฒนาเข้าไปสู่ตลาดโลกได้ด้วย
เช่นเดียวกันกับ เตือนใจ ดีเทศน์ ในฐานะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย และผู้ก่อตั้งมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา บอกว่า เพื่อให้ข้อสรุปข้อเสนอเชิงนโยบายที่มาจากการมีส่วนร่วมของคนเชียงรายครั้งนี้ ถูกยกระดับสู่การปฏิบัติจริง มีความคืบหน้า อยากจะให้มีการตั้งวงหารือเล็ก ๆ ของทุกฝ่ายในจังหวัดเชียงรายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสื่อสารมวลชน อย่าง ไทยพีบีเอส ที่เข้ามาเปิดพื้นที่และต้องเกาะติดให้เห็นความคืบหน้ากันอย่างต่อเนื่อง
ย้ำภาพจาก ‘ผู้ประสบภัย’ สู่ผู้เสนอ และตัดสินใจทางนโยบาย
สืบสกุล กิจนุกร สำนักนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง บอกว่า กระบวนการที่ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบายครั้งนี้เป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะสะท้อนถึง 4 เรื่องที่มีความสำคัญ
- เป็นประเด็นร่วมของเชียงราย และสังคมด้วย เพราะเรื่องของภัยพิบัติ น้ำท่วมล่าสุดก็มีดินโคลนมากับน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้งใหม่ และสด ยังอยู่ในระยะความสนใจของสังคม
- มีความแตกต่างหลากหลายของคนที่เข้ามาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสาขาอาชีพ คนมาตรหลาย ๆ พื้นที่ ทั้งในเมือง ในชนบท ลุ่มน้ำ พื้นที่สูงหรือ บนภูเขา มีความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม จึงทำให้เห็นและมีประสบการณ์ทั้งเหมือนและแตกต่างกัน สามารถมาสนทนาและหาจุดร่วมในการแก้ไขได้
- ในเวทีมีข้อเสนอแนะหลายแบบ ทำให้เห็นความซับซ้อนการจัดการปัญหา อย่าง ข้อเสนอแนะวงจรในการจัดการภัยพิบัติ ก่อนเกิด ระหว่างเกิด หลังเกิด และจะทำป้องกันให้มันดีขึ้นยังไง มีข้อเสนอแนะที่เป็นแบบในเชิงจัดความสัมพันธุ์เชิงอำนาจในชุมชนใหม่ เช่น ชุมชนควรจะมี อำนาจมากกว่านี้ไหม ท้องถิ่นมีข้อจำกัดยังไง มีความกระตือรือร้น แต่ทรัพยากรไม่พอ เขาอยากได้มีการเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นยังไง ชุมชนอยากให้มีการเสริมพลังยังไง ชุมชนอยากให้มีการเรียนรู้ยังไง คล้าย ๆ กับเป็นการปรับความสัมพันธ์ชุมชนด้วยกันใหม่ โดยมีเรื่องภัยพิบัติ เป็นแกนกลาง
- ไม่ใช่เป็นการจัดเวทีแล้วจบ แต่มีการเชิญผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจเข้ามาร่วม ในวงพูดคุยด้วย อันนี้มีความสำคัญมาก
“ถ้าเขามาร่วม เกิดบทสนทนา แน่นอนเขาอาจจะไม่มีอำนาจแก้ปัญหาทันทีทันใด อำนาจอาจจะเหนือจากสิ่งที่เขามีก็ได้ แต่มันเป็นบทสะท้อนการสนทนาในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย แล้วเราก็จะเอาข้อเสนอไปยื่นต่อรัฐบาลด้วย ก็จะเป็นเสียงสะท้อนการมีส่วนร่วมของประชาชน จากที่เป็นเหยื่อ หรือผู้ประสบภัย มาเป็นผู้ตัดสินใจทางนโยบาย“
สืบสกุล กิจนุกร
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง : คนเชียงราย สุดเจ๋ง! ใช้นวัตกรรมเชิงนโยบาย ระดมสมอง สู่ข้อเสนอหลังภัยพิบัติ
ทั้งนี้ข้อเสนอจากการระดมความคิดเห็นทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงราย และการประชุมร่วมกับทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดเชียงราย จะถูกสรุปรวบรวมนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีที่จะสัญจรในจังหวัด เชียงใหม่ – เชียงราย ในปลายเดือนนี้