20 ปี มหันตภัย ‘สึนามิ’ สู่ โลกเดือด ‘ภัยพิบัติเชียงราย’ ไทยเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ?

บทเรียนสึนามิ สะท้อนกระบวนการเรียนรู้ การจัดการช่วยเหลือทั้งในประเทศ – ต่างประเทศ พบ ไทยยังรับมือภัยพิบัติล้มเหลว ขณะที่ภาคีเครือข่ายภัยพิบัติ ย้ำ ถึงเวลาต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

หากย้อนไปก่อนหน้านี้ ทุกวันที่ 5 พฤศจิกายนของทุกปี สหประชาชาติกำหนดให้เป็น วันสึนามิโลก นอกจากตระหนักรู้แล้ว ก็เพื่อให้ร่วมกันแบ่งปันแนวทางใหม่ ๆ ในการลดความเสี่ยง อย่างไทยเอง เหตุการณ์สึนามิ เมื่อ 20 ปีก่อน ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติต่อกรณีการจัดการภัยพิบัติ

แต่จากภาวะโลกรวน และอุทกภัยล่าสุด เช่นที่ จ.เชียงราย, เชียงใหม่, น่าน, สุโขทัย ก็พบว่า การจัดการภัยยังทำได้ไม่ดีพอ เวที สัมมนาวิชาการ “ขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะการจัดการภัยพิบัติ โลกเดือด จากสึนามิ ถึง เชียงราย 20 ปี” หลายภาคส่วน จึงได้ร่วมกันสรุปบทเรียนทั้งของไทย และนานาชาติ เพื่อให้เกิดนโยบายจัดการภัยพิบัติ ชุมชนและท้องถิ่น ในหลายมิติ

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ระบุว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิชุมชนไท ได้ดำเนินงานด้านภัยพิบัติมาเป็นเวลานาน ทำให้เกิดการการทำงานกับ ภาคีความร่วมมือหลาย ๆ ด้าน เช่น น้ำป่าไหลหลาก, น้ำท่วม, ดินโคลนถล่ม, ไฟป่า, ไฟไหม้, ภัยแล้ง, หมอกควัน, ภาวะโลกร้อน และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตหลาย ๆ ด้าน เช่น สังคม เศรษฐกิจ อาชีพ ที่อยู่อาศัย ที่ดินทำกิน

ถอดกระบวนการเรียนรู้ หลังสึนามิ 2547

สำหรับการเกิดเหตุธรณีพิบัติภัยสึนามิเมื่อ ปี 2547 ในพื้นที่อันดามันของไทยและในประเทศเพื่อนบ้าน ไทยเกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบในระดับต่างๆ รวม 407 หมู่บ้าน จำนวน 12,480 ครอบครัว 6,824 หลังคาเรือน ในจำนวนนี้มีที่ประสบเหตุรุนแรง 47 หมู่บ้าน จำนวน 5,448 ครอบครัว

ภายหลังการเกิดสึนามิ กระบวนการเรียนรู้ของสังคมในหลายด้านจึงเกิดขึ้น เช่น ความร่วมมือช่วยเหลือกันของทุกภาคส่วนและของคนไทยทั้งประเทศ, การจัดการค้นหาศพและผู้สูญหาย, การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ, การบริหารจัดการศูนย์พักพิงชั่วคราวในยามวิกฤต, การจัดการของบริจาคจำนวนมาก, การระดมกำลังและจัดการอาสาสมัคร, การสร้างบ้านแบบมีส่วนร่วม, การสนับสนุนเพื่อการฟื้นฟูชุมชนของแหล่งทุนทั้งในและต่างประเทศ, การมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของนักศึกษา นักวิชาการ หลายสาชาวิชา ฯลฯ

กระบวนการหนึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าวมีการฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยโดยความร่วมมือหลายฝ่ายเกิดกระบวนการ พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เป็นเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิที่มีความร่วมมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ไปพร้อม ๆ กัน ทั้งการ สร้างบ้านโดยการมีส่วนร่วมของสมาชิกและสถาปนิกชุมชนมาหนุนช่วย การแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินโดยรัฐบาลตั้ง คณะกรรมการฯ ที่มีภาคประชาชนและประชาสังคมเข้าร่วม การพัฒนาองค์กรการเงินของชุมชนโดยการนำเงินบริจาคมาตั้ง เป็นกองทุนหมุนเวียนมีการออมทรัพย์และจัดสวัสดิการชุมชนเพิ่มเติม

ไมตรี ยังระบุว่า นอกจากเกิดภัยพิบัติในพื้นที่อื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เครือข่ายอาสาสมัครภัยพิบัติ ผู้มีจิตอาสา องค์กร ภาคธุรกิจองค์กรภาครัฐ สถาบันวิชาการ โดยเฉพาะผู้ที่มีประสบการณ์จากพื้นที่สึนามิได้ร่วมมือร่วมใจกันหนุนช่วยพื้นที่ ต่าง ๆ เช่น การไปช่วยฟื้นฟูพื้นที่ดินโคลนถล่มที่จังหวัดอุตรดิตถ์, การไปช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมทุกภาค, การไปช่วยสร้างบ้านผู้ประสบภัยภูเขาถล่มที่อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่, การไปช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้ประสบภัย จากพายุนาร์กิสที่ประเทศเมียนมา, การระดมทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ประเทศเฮติ และ การระดมทุน กิจกรรม ส่งกำลังใจช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งการติดตามนโยบายการจัดการน้ำเพื่อให้นโยบายจัดการภัยพิบัติ เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ ฯลฯ

ความร่วมมือเครือข่ายฯ สู้น้ำท่วมเหนือ 2567

ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยังระบุถึง ความล้มเหลวในการจัดการภัยพิบัติโดยรัฐ เช่น ระบบการแจ้งเตือนภัยที่ไม่ถึงประชาชนและ สามารถรับมือได้ทัน การบริหารจัดการในภาวะวิกฤติที่ขาดประสิทธิภาพในการจัดการของรัฐและประชาชน รวมทั้งการ ช่วยเหลือฟื้นฟูที่เป็นอุปสรรค์ไม่สามารถบูรณาการการทำงานได้อย่างเป็นระบบและทันต่อความต้องการของประชาชน

กลุ่มชาติพันธุ์เป็นกลุ่มเปราะบางที่มีข้อจำกัดจากอคติของสังคม ที่กล่าวอ้างว่าเป็นผู้ลายบุกรุกป่า และปลูก ข้าวโพด ประกอบกับขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชน ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า รวมถึงความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ช้ากว่าทั่วไป เช่น กรณีน้ำท่วม ภาคเหนือ ปี 2567

อย่างไรก็ดีชุมชนที่มีองค์กรสนับสนุน หรือองค์กรพี่เลี้ยง จากเหตุการณ์น้ำท่วมเชียงราย พบว่า สามารถฟื้นตัวจากภัยพิบัติอย่างเป็นระบบและเร็วกว่าชุมชนทั่วไป องค์กรชุมชน สภาองค์กรชุมชน และเครือข่ายองค์กรชุมชนระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด มีบทเรียนรู้ที่หลากหลาย ประสบการณ์ทั้งผลกระทบจากภัยพิบัติที่ต่างกัน หนัก และรุนแรงต่างกัน รวมไปถึงวิธีการตั้งรับปรับตัว การจัดการ บริหารในขณะเกิดภัย และการฟื้นฟูภัยพิบัติในพื้นที่

“บทเรียนที่ทรงคุณค่าที่ผ่านกระบวนการ เรียนรู้ท่ามกลางการทำของผู้คนที่แตกต่าง หลากหลาย จากบทเรียนข้างต้น กับสภาพการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โลกเดือดในปัจจุบันที่มีแนวโน้มว่าภัยพิบัติจะเกิดถี่และรุนแรงขึ้นเรื่อยนั้น จำเป็น อย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐาน แต่อย่างไรก็ดีพบว่ายังมีข้อจำกัดทั้งทางนโยบาย กฎหมาย และวิธีการปฏิบัติที่ยังขาดการเชื่อมโยงให้เกิดการสนับสนุน หนุนเสริม ทั้งความรู้และนโยบายให้ท้องถิ่น สามารถปฏิบัติได้ ทันท่วงทีต่อการรับมือภัยพิบัติที่จะมาถึง”

ไมตรี จงไกรจักร์

ข้อเสนอปิดช่องว่างภัยพิบัติรับมืออนาคต

กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. บอกว่า ที่ผ่านมาบทเรียนภัยพิบัติของไทยมีจำนวนมาก ตั้งแต่เจอ สึนามิ แผ่นดินไหว หรือน้ำท่วมจากเชียงราย ทำให้เห็นว่ากระบวนการหลายส่วน ยังมีข้อจำกัด ความไม่คล่องตัว เช่น งบประมาณ จึงเสนอทางเลือก ให้มีการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาเพื่อใช้รับมือกับภัยพิบัติในทุกมิติ พอช. เป็นหน่วยงานที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการทำงานบนฐานของความคิดชุมชนเข้มแข็ง เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิแล้วจึงต้องมีการถอดบทเรียน จัดทำชุดองค์ความรู้และนำไปใช้จริง

“สำหรับกลุ่มคนที่จะจัดการได้รวดเร็วที่สุดคือชุมชนท้องถิ่นหน้าด่านที่อยู่ในพื้นที่ ยกตัวอย่าง จังหวัดแพร่ได้มีการช่วยเหลือในชุมชนจากเงินในกองทุนสวัสดิการ กองทุนวันละบาท ซึ่งเป็นกองทุนที่สมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนวันละ 1 บาท โดยมีรัฐบาลและภาคเอกชนสมทบเงินผ่าน พอช.หรือ อปท.เพื่อให้กองทุนเติบโต แล้วนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกได้ทันที โดยรัฐบาลไม่ต้องอนุมัติงบ ปัจจุบัน ทั้งประเทศมีกองทุนนี้ 5,900 กว่ากองทุน รวมเป็นเงินกว่า 20,000ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานสมาชิก และอนาคตจะนำมาพัฒนาในส่วนจังหวัดให้ได้เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น”

กฤษดา สมประสงค์

ปลุกชุมชนเข้มแข็ง พร้อมรับมือภัยพิบัติ

โกมินทร์ อินรัสพงศ์ ผอ.กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น

โกมินทร์ อินรัสพงศ์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ในปีหน้าจะมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ การฝึกซ้อมในชุมชนเฉพาะแห่ง เดิมมีเกณฑ์กำหนดมาตรฐานแต่ยังขาดความตระหนักในเรื่องกลไก กฎหมาย และจะยกระดับมากขึ้นในปีหน้า ทั้งวางซ้อมแผนเผชิญเหตุและการฝึกซ้อม เรื่องงบประมาณ การจัดอบรมหลักสูตรสำหรับผู้บริหาร มั่นใจว่าในปีหน้ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะมีบทบาทมากขึ้น

สำหรับ บุญธรรม เลิศสุขีเกษม กรรมการการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย บอกว่า ภัยพิบัติเกิดขึ้นได้ทุกที่ เราหนีภัยธรรมชาติไม่ได้และความเสี่ยงไม่ได้มีทุกชุมชน แล้วแต่พื้นที่ชุมชนเสี่ยงมากหรือน้อย ชุมชนต้องมีการรู้รับปรับตัว ปรับเปลี่ยนวิธีการรับมือ พื้นที่ด่านหน้าคือชุมชน จึงต้องผลักดันและทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้ชุมชนรู้เท่าทันการรับมือกับภัยพิบัติ หัวใจสำคัญคือชุมชน หากชุมชนมีความพร้อมมากพอจะสามารถลดความสูญเสียลงได้  ราชการและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง สนับสนุนชุมชนเพียงพอแล้วหรือยัง ทำยังไงให้ทุกชุมชนตระหนัก รับรู้ และเข้าใจเท่ากัน

ผศ.เนรมิตร จิตรรักษา  คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
ม.ราชภัฎเชียงราย

ผศ.เนรมิตร จิตรรักษา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฎเชียงราย บอกว่า ทุกคนต้องเรียนรู้การบริหารจัดการเมื่อน้ำท่วมแบบไม่ได้ตั้งตัว และมีการตื่นรู้ตลอดเวลาหลังความแปรปรวนสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้น และจะมีวิธีเตรียมตัวและรับมือยังไงในเมื่อคนไทยไม่เกิดการตื่นตัว จังหวัดเชียงรายเคยน้ำท่วมมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้มีโคลนมากกว่าปกติ ภาครัฐบางกรณียังล่าช้า แต่ต้องเลือกมองเห็นความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง มีความรู้ เป็นเหมือนฮีโร่ จะช่วยให้การรับมือภัยพิบัติทำได้ดีขึ้น

“สิ่งที่น่าสนใจคือการเกิดขบวนการการเตรียมตัวในการรับมือเหตุการณ์น้ำท่วม ชุมชนพยากรณ์ได้ น้ำลงพื้นที่ไหน หมู่บ้านไหน ถ้าปริมาณน้ำมากมาโซนไหน แบบไหน ผู้นำชุมชนต้องพยากรณ์ได้ ทุกคนต้องรู้และตื่นตัวกับการเตือนภัยพิบัติเรื่องการจัดการ การระดมกำลัง แต่ในครั้งนี้เราขาดคนบัญชาการในแต่ละพื้นที่เนื่องจากพื้นที่เสียหายเยอะ ดังนั้นผู้นำต้องแบ่งกันดูแลแต่ละพื้นที่”

ผศ.เนรมิตรจิตรรักษา

ขณะที่ ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยอมรับว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาการจัดการภัยพิบัติ ชุมชนเป็นด่านหน้าแต่ในความจริงชุมชนจะโดดเดี่ยวไม่ได้ อย่าง 20 ปีสึนามิที่ผ่านมามีหลายบทเรียน นี้จึงเป็นโอกาสในการมองลึกเข้าไปในจังหวัดเชียงราย ให้นำไปสู่จุดเปลี่ยนใหม่ที่ไทยต้องก้าวไปอีกระดับในการจัดการภัยพิบัติให้ดีขึ้นในอนาคต

วิสุทธิ์ ตันตินันท์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือและพันธกิจ UNDP ประเทศไทย

ไม่ต่างจาก วิสุทธิ์ ตันตินันท์ ที่ปรึกษาด้านความร่วมมือและพันธกิจ UNDP ประเทศไทย กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปในอนาคตปัญหาโลกรวนจะยิ่งทำให้เมืองใหญ่ ๆ เสี่ยงต่อผลผระทบรอบด้าน เมืองที่เสี่ยงน้ำท่วม เช่น กรุงเทพมหานคร, นครราชสีมา, เชียงใหม่, เชียงราย

จังหวัดเสี่ยงจากคลื่นความร้อน เช่น กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา สมุทรปราการ บุรีรัมย์ และชลบุรี เป็นต้น แต่สิ่งที่มักเห็นได้ชัดเมื่อเกิดภัยพิบัติกลุ่ม ผู้หญิง เด็ก หรือแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์ มักเปราะบางและช่วยเหลือตัวเองได้น้อยดังนั้นเมื่อมีการถอดบทรียนหรือออกแบบนโยบายอาจต้องคำนึงถึงความเป็นธรรมที่มองทุกคนอย่างเท่าเทียม

จัดการภัยพิบัติ สิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ

สอดคล้องกับ ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติล่วงหน้าเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสียหายและปกป้องชีวิตของประชาชน มีแนวทางหลักๆ ดังนี้การศึกษาและการให้ความรู้ รวมถึงการปฏิบัติตนเมื่อเกิดภัยพิบัติ
การจัดทำแผนฉุกเฉิน ที่ระบุวิธีการสื่อสาร การรวมตัว และการออกจากการฝึกซ้อมและการซักซ้อม การอพยพการเตรียมสิ่งของฉุกเฉิน เช่น อาหารแห้ง น้ำดื่ม ยารักษาโรค ไฟฉาย แบตเตอรี่ การติดตามข่าวสารและการแจ้งเตือนภัยการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร การจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยง การพัฒนาระบบเตือนภัย การสร้างเครือข่ายชุมชนและอาสาสมัคร การเตรียมพร้อมทรัพยากรและบุคลากร และสิทธิภัยพิบัติที่ประชาชนควรจะได้รับ

สิทธิที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับ หากเกิดภัยพิบัติ ได้แก่

  1. สิทธิในการได้รับข้อมูล ที่ถูกต้อง รวดเร็ว และครบถ้วน รวมการเตือนภัย และมาตรการป้องกันที่ควรปฏิบัติ

  2. สิทธิในการได้รับการช่วยเหลือฉุกเฉิน เช่น อาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ที่พักพิง และการรักษาพยาบาล อย่างเหมาะสม

  3. สิทธิในการได้รับความคุ้มครองด้านสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงโรคระบาด สุขภาพจิต การบาดเจ็บ

  4. สิทธิในการได้รับการชดเชยและการฟื้นฟูหลังจากภัยพิบัติ เช่น บ้านเรือน พื้นที่ทำกิน หรือทรัพย์สินที่สำคัญอื่น ๆ

  5. สิทธิในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ในกระบวนการวางแผนจัดการภัยพิบัติของภาครัฐเพื่อให้ตรงกับความต้องการในท้องถิ่น

  6. สิทธิในการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมและไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ศาสนา เพศ วัย หรือสถานะทางสังคม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active