ยืนยัน ‘ภาคเหนือ’ ไม่น่ากังวล ผลกระทบแผ่นดินไหวในเมียนมา

‘ผอ.กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว’ เผย แผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 4.7 เกิดผลกระทบกับไทยเพียงแค่แรงสั่นสะเทือน เหตุจุดศูนย์กลางห่างไกลพื้นที่ภาคเหนือ

เมื่อเวลาประมาณ 23.30 น. ของวันที่ 7 พ.ย. 67 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 4.7 ลึกลงไปใต้ดิน 7 กิโลเมตร ในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็ก เมืองชายแดนภาคตะวันออกของประเทศเมียนมา และแผ่นดินไหวต่อเนื่องติดกันในวันที่ 8 พ.ย. 67 เวลา 01.03 น. ขนาด 3.5 และลึกลงไปประมาณ 10 กิโลเมตร ส่งผลให้ประเทศไทยในพื้นที่บริเวณ จ.เชียงใหม่, เชียงราย และแม่ฮ่องสอน เกิดแรงสั่นสะเทือน จนประชาชนรับรู้ได้ ที่อยู่อาศัยโยกและสั่น สร้างความหวาดหวั่นให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก

พุธ ใจวงศ์ ชาวบ้านในชุมชนแม่สาย เล่าว่า เมื่อคืนรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนขณะนอนอยู่บนเตียง จนทำให้ครอบครัวสะดุ้งตื่นขึ้นมาดูว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่มีความเสียหายใด ๆ เกิดขึ้นกับบ้าน

เช่นเดียวกับ สิริลักษณ์ สีเหลือง ชาวชุมชนตลาดสายลมจอย เล่าว่า พี่ชายของเธอซึ่งอยู่ที่บ้านในตลาดสายลมจอยก็รู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนเมื่อช่วงกลางดึกเช่นกัน

ที่มา : กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

ขณะที่ นัฐวุฒิ แดนดี ผอ.กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลกับ The Active ว่า แม้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้จะมีขนาดใหญ่พอสมควร แต่ด้วยจุดศูนย์กลางที่เกิดแผ่นดินไหวอยู่ในพื้นที่ประเทศเมียนมา อีกทั้งระยะทางจากจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหวที่สร้างผลกระทบโดยตรงมีระยะประมาณ 10-20 กิโลเมตร จึงทำให้บริเวณใกล้เคียงอย่าง อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้รับผลกระทบเพียงแค่การรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแรงส่งที่เกิดจากแผ่นดินไหวใต้พื้นดินบริเวณศูนย์กลางเท่านั้น

“แม่สายอยู่ค่อนข้างไกลจากศูนย์กลาง ผลกระทบก็จะลดลงไป แต่พอเกิดในช่วงกลางคืน เวลานั้นเป็นเวลาที่เงียบ จึงทำให้ชาวบ้านรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนค่อนข้างมาก ไม่เหมือนกลางวันที่มีกิจกรรมให้ทำ การรับรู้แรงสั่นไหวจึงรู้สึกได้น้อยกว่าเวลากลางคืน”

นัฐวุฒิ แดนดี

สำหรับเรื่องของการเกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ทางภาคเหนือ นัฐวุฒิ บอกด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถพยากรณ์ได้ แต่ด้วยความเสี่ยงของภาคเหนือที่เป็นเขตพื้นที่ซึ่งมีรอยเลื่อนที่มีพลังประมาณ 10 รอยเลื่อนหลัก และเป็นพื้นที่ที่มักจะมีโอกาสเกิดเหตุแผ่นดินไหวสูงอยู่แล้ว หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรับมือกับเหตุแผ่นดินไหวในอนาคตไว้ เช่น การออกข้อบังคับหรือกฎหมายเพื่อควบคุมอาคารที่จะสร้างใหม่ โดยต้องผ่านการเซ็นรับรองจากวิศวกรด้านแผ่นดินไหวเพื่อก่อสร้างอาคาร ซึ่งเมื่อประชาชนอยู่ในอาคารที่มีการรับรองมาตรฐานแล้ว จึงไม่ต้องกังวลมาก อย่างไรก็ตามประชาชนยังจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active