หวังสร้างกลไกความร่วมมือ เพื่อความยั่งยืน พร้อมสรุปเป็นข้อเสนอ ยื่นต่อ ครม.สัญจร ปลายเดือนนี้
วันนี้ (7 พ.ย. 67) ที่โรงแรมแกรนด์ วิสต้า จ.เชียงราย ได้มีการนัดรวมตัว เพื่อระดม “ข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน“ Build Back Greener Chiang Rai ซึ่งถือเป็นครั้งแรก ของการเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม การรวมตัวเพื่อระดมความเห็นของภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งประชาชนผู้ประสบภัยพิบัติในชุมชนต่าง ๆ ภาคประชาสังคม หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้ง ภาควิชาการ ในจังหวัดเชียงราย โดยใช้เครื่องมือนวัตกรรมเชิงนโยบาย ระดมข้อเสนอฟื้นฟูจังหวัดเชียงรายหลังภัยพิบัติเพื่อความยั่งยืน
โดย เริ่มต้นด้วยการแบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วมตามลักษณะพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 5 กลุ่ม คือ
- กลุ่มพื้นที่สูง
- กลุ่มลุ่มแม่น้ำ
- กลุ่มชุมชนเมือง
- กลุ่มชุมชนธุรกิจ แหล่งท่องเที่ยว
- กลุ่มประชาชนใน อ.แม่สาย เมืองเศรษฐกิจชุมชนชายแดน
เพื่อร่วมกันออกแบบชุมชนของแต่ละกลุ่ม ระบุ “ความสำเร็จ“ ของชุมชนเมืองที่ต้องการในระดับชุมชน กำหนดวัตถุประสงค์ ความสำเร็จ ที่เมืองและชุมชนต้องการ และส่งผลให้ทั้งระบบสามารถจัดการภัยพิบัติได้ดีขึ้น ทั้ง ความพร้อมเพื่อรับมือ ลดความสูญเสีย บรรเทาความเดือดร้อน ก่อนนำเสนอข้อสรุปแต่ละกลุ่ม
ผู้เข้าร่วมต่างสะท้อนในทิศทางเดียวกัน ว่า การเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในจังหวัดเชียงรายเพื่อระดมข้อเสนอในครั้งนี้ เป็นความหวังและโอกาสให้จังหวัดเชียงรายเป็นต้นแบบและสามารถรับมือภัยพิบัติที่ยั่งยืน
นพรัตน์ กันทะวงศ์ ในฐานะผู้ประสบภัย และผู้มีส่วนร่วมในการสำรวจความเสียหาย และฟื้นฟูภัยพิบัติน้ำท่วม ดินโคลนถล่ม ในชุมชนเกาะทราย อ.แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า เป็นกระบวนการที่ดี ที่ทำให้หลายฝ่ายได้นำประสบการณ์จริงที่เพิ่งเผชิญมา มาระดมเพื่อจัดทำข้อเสนอนโยบาย เพื่อเสนอต่อภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งในจังหวัด และคณะรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางในการป้องกันภัยพิบัติในครั้งต่อไป
“อุทกภัย หรือภัยพิบัติต่างๆที่มันจะเกิดขึ้น เราอาจจะห้ามไม่ได้ หรือ เราอาจจะป้องกันไม่ได้ 100% แต่อยากให้มันเสียหายน้อยที่สุด หรือเกิดขึ้นจริงๆ ก็อยากให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาให้มีประสิทธิภาพรวดเร็วมากยิ่งขึ้น“
นพรัตน์ กันทะวงศ์
นิทัศน์ ศรีรัตนประสิทธิ์ ประธานกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเครือข่ายสมาชิกและธุรกิจ จังหวัดเชียงราย หรือ YEC เชื่อว่า กระบวนการที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะนำมาสู่การได้เครื่องมือเพื่อนำไปพัฒนาต่อยอด เพื่อให้จังหวัดเชียงรายพัฒนา โดยเฉพาะกรณีหากเกิดภัยพิบัติ ผลกระทบในครั้งหน้าเชียงรายสามารถรับมือได้ดีขึ้น ทำให้ผู้ประสบภัยไม่ได้รับผลกระทบหนักเท่าครั้งนี้
“เชียงราย ถือเป็นเมืองภัยพิบัติ เจอทุกรูปแบบ เชื่อว่า หลังจากได้ไอเดียจากการระดมครั้งนี้ ก็จะเห็นภาพชัดมากขึ้น แล้วยื่นให้ ครม. ก็จะเห็นถึงปัญหาในภาพรวม และสิ่งที่ชาวเชียงรายอยากพัฒนาแก้ไขให้ดีขึ้น ก็หวังว่ารัฐบาลจะตอบสนองต่อแนวคิดนี้“
นิทัศน์ ศรีรัตนประสิทธิ์
ขณะที่ ปรีชา ศิริ ผู้อาวุโส ชุมชนกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย กล่าวว่า การให้ชุมชนต่าง ๆ รวมทั้งภาครัฐ เอกชนมาเจอกัน ร่วมกันสะท้อนระดมความเห็นครั้งนี้ จะทำให้สกัดข้อเสนอสำคัญให้รัฐบาลได้เห็นอย่างตรงประเด็น สอดคล้องกับบริบทแต่ละพื้นที่ รัฐบาลจะสามารถทำงานหรือขับเคลื่อนนโยบายได้ง่ายขึ้น
“คาดหวังว่า เมื่อประชาชนที่ประสบปัญหา อยู่กับปัญหา ขอมีส่วนร่วมในทางนโยบายก็คาดหวังว่ารัฐบาลจะรับไป และเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เป็นต้นแบบของชุมชนจังหวัดรับมือภัยพิบัติ ลดความสูญเสียทุกมิติในอนาคต“
ปรีชา ศิริ
กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA บอกว่า NIA ร่วมกับ Thai PBS โดย The Active และ ภาคีเครือข่าย เช่น สภาหอการค้าจังหวัดเชียงราย, สภาอุตสากรรมจังหวัดเชียงราย, กลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาเครือข่ายสมาชิกและธุรกิจ จังหวัดเชียงราย หรือ YEC ตลอดจนภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการ หน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้เห็นวาระสำคัญของประเทศ คือ “ปัญหาภัยพิบัติ” โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่ประสบปัญหาภัยพิบัติหลายรูปแบบ ทั้ง แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม ฝุ่นควันและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
จึงได้จัดเวทีรับฟังแนวทางการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติ และในเวทีเห็นพ้องกันว่า จังหวัดเชียงรายที่ได้รับผลกระทบของภัยพิบัติ จำเป็นต้องมีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วม ในการออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่ครอบคลุมปัญหาและสร้างความยั่งยืน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน
“จำเป็นต้องมีการระดมความเห็นของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะคนในพื้นที่ ทำอย่างไรให้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีทางออก มีแนวทางแก้ปัญหา ทั้งการฟื้นฟูภัยพิบัติที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่การคิดวางแผนอนาคต ทั้งการแจ้งเตือน การรับมือ การเยียวยา การป้องกัน ที่มีความเกี่ยวเนื่องในอนาคต และขอย้ำว่า เป็นความตั้งใจจริง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ขอทุกคนอย่าเพิ่งถอดใจ ข้อเสนอทั้งหมดที่เราระดมครั้งนี้ จะถูกเสนอและติดตามความคืบหน้าใน ครม. อะไรดี ๆ นวัตกรรมดี ๆ จะถูกนำมาใช้ในจังหวัดเชียงรายแน่นอน”
กริชผกา บุญเฟื่อง
ดังนั้นการประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ จึงถูกจัดขึ้น โดยให้ทุกท่านได้เห็นภาพอนาคต และสร้างฉากทัศน์ร่วมกัน เพื่อสร้างแผนงานและออกแบบนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดยนำเอาจังหวัดเชียงรายเป็นพื้นที่นำร่อง
สำหรับการจัดทําข้อเสนอนวัตกรรมเชิงนโยบายในวันนี้ จะรวบรวมข้อสรุป เพื่อเสนอต่อฝ่ายนโยบายในระดับจังหวัด ทั้งผู้ว่าราชการ จังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันพรุ่งนี้ (8 พ.ย. 67) ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่จะสัญจร ในจังหวัดเชียงใหม่ – เชียงราย ปลายเดือนนี้