รับสภาพ อาจต้องพึ่งงบฯ จากองค์กรการกุศลเข้ามาช่วย เผยเงื่อนไขใช้งบฯ เพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น นำไปใช้สร้างบ้านเฉพาะบุคคลไม่ได้ ขณะที่ การเวนคืน สร้างเขื่อนป้องกันแม่น้ำสาย ยังต้องรอรัฐบาลเคาะ ก่อนไปสื่อสารกับชาวบ้าน
จากกรณีผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ตำบลเวียงพางคำ และตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย บางครอบครัวยังไม่สามารถกลับบ้านได้เนื่องจากบ้านเสียหายทั้งหลัง และต้องพักอาศัยในศูนย์พักพิงชั่วคราวนั้น
วันนี้ (7 พ.ย. 67) ชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย เปิดเผยกับ The Active เกี่ยวกับการเยียวยาผู้ประสบภัย ที่บ้านพังทั้งหลัง โดยระบุว่ามีงบประมาณเยียวยา 2 ส่วน
- งบประมาณจากกองทุนจังหวัด ระหว่าง 50,000 – 100,000 บาท ซึ่งอยู่ในกระบวนการอนุมัติ
- เงินเยียวยาจากรัฐบาล จำนวน 230,000 บาท แต่ยังไม่มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน
สำหรับแนวทางการฟื้นฟู คาดว่าผู้ประสบภัยอาจจะได้รับบ้านน็อคดาวน์แทนบ้านเดิม หากมีความต้องการ โดยเทศบาลจะประชาสัมพันธ์ให้องค์กรการกุศลเข้ามาช่วยเหลือเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เทศบาลไม่สามารถใช้เงินงบประมาณสร้างบ้านให้รายบุคคลได้ เพราะต้องจัดสรรงบเพื่อสาธารณประโยชน์เท่านั้น
นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย บอกอีกว่า ปัจจุบันมีองค์กรการกุศลเข้ามาช่วยเหลือในรูปแบบของวัสดุก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์และประตู อย่างไรก็ดี การสร้างบ้านทั้งหลังอาจต้องใช้งบประมาณสูง จึงไม่อยากให้ผู้ประสบภัยคาดหวังมากจนเกินไป เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือในพื้นที่สาธารณะ
สำหรับบางครอบครัวยังไม่ได้รับเงินเยียวยากรณีบ้านเสียหาย เนื่องจากต้องรอการตรวจสอบจากวิศวกรอาสา ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสอบแต่ละหลังประมาณ 20 นาที ตอนนี้ดำเนินการไปเกินครึ่งแล้ว
ขณะที่ ฉัตรชัย ชัยศิริ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพางคำ บอกว่า ขณะนี้มีบ้านที่เสียหายทั้งหลังจำนวน 5 หลัง และอีก 10 หลังอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถอาศัยได้ ต้องรื้อถอน รวมแล้วมีบ้านที่ต้องรื้อถอนทั้งหลังเกือบ 20 หลัง
เบื้องต้น หน่วยงานรัฐได้ให้การช่วยเหลือในรูปของเงินก่อสร้างจำนวน 49,500 บาท ตามระเบียบของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นอกจากนี้ ยังอาจได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรการกุศล ซึ่งเทศบาลจะคัดเลือกและประเมินก่อนส่งต่อให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการเพิ่มเติม
สำหรับความคืบหน้าในระดับชุมชน เทศบาลดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว โดยเป็นชุมชนแรกที่ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเรียบร้อยแล้ว จำนวน 20 ครัวเรือน โดยผู้ได้รับสิทธิจะได้รับเงินเยียวยาภายในปีนี้แน่นอน
ส่วนกรณี 3 ครอบครัวที่ไม่สามารถกลับบ้านได้และยังอาศัยในศูนย์พักพิงวัดถ้ำหาจม ซึ่ง The Active ได้เคยนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ จะมีการประเมินเพื่อนำไปสู่การช่วยสร้างบ้านใหม่อย่างเร่งด่วน ขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเตรียมเข้าไปตรวจสอบข้อมูล
เวนคืนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาย รอ ครม. เคาะ
The Active ยังได้สอบถามถึงความชัดเจนในกรณีการเวนคืนพื้นที่ริมแม่น้ำสายที่รุกล้ำเข้ามา 40 เมตร เพื่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันน้ำท่วม ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย ยังสับสนบางส่วนตั้งคำถามว่าควรจะซ่อมบ้านต่อไปหรือพอแค่นี้รอเวนคืนจากรัฐ ซึ่ง นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ให้คำตอบว่า มีการประชุมร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งพบว่า พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอาจมีมากกว่านี้ แต่จำเป็นต้องรอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อดำเนินการขั้นตอนเวนคืนพื้นที่ เมื่อยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน จึงไม่สามารถเจรจากับชาวบ้านได้
“ถ้าจะให้สื่อสารกับชาวบ้านตอนนี้ ก็เอาให้อยู่ได้ไปก่อนนะ จนกว่าจะมีความชัดเจน หรือมีแนววิธีการที่จะคุยว่าบ้านหลังนี้ได้เท่านี้ ๆ”
ชัยยนต์ ศรีสมุทร
นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย บอกด้วยว่า เทศบาลจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนกรมโยธาธิการฯ ในการสื่อสาร ไม่ใช่ในนามของเทศบาล เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ทั้งในส่วนของเขตชายแดนที่ต้องปรึกษากับกรมแผนที่ทหาร พื้นที่ติดแม่น้ำที่ดูแลโดยกรมเจ้าท่า และพื้นที่ตลาดสายลมจอยที่เป็นของกรมธนารักษ์ ไม่รวมถึงพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ต้องการการตรวจสอบจากกรมที่ดินและพื้นที่ป่าไม้ที่ต้องอาศัยกรมป่าไม้เข้ามาช่วยเหลือ
ในกรณีที่ต้องหาที่ดินใหม่เพื่อย้ายชาวบ้าน นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย ระบุว่า เทศบาลมีอำนาจครอบคลุมพื้นที่เพียง 5 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ไม่สามารถดำเนินการนอกเขตเทศบาลได้ พื้นที่ที่ถูกเสนอ เช่น โรงบ่มใบยาที่ตำบลเวียงพางคำ ก็เป็นของกระทรวงการคลัง จึงไม่ใช่พื้นที่ที่เทศบาลสามารถเข้าจัดการได้โดยตรง
สำหรับเส้นเวนคืน 40 เมตร ที่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกำหนดนั้น ยังเป็นเพียงเส้นสมมติที่อาจแตกต่างจากข้อมูลของกรมโยธาธิการ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถระบุแน่ชัดได้ว่าจะกระทบกับตลาดหรือพื้นที่ใดบ้าง จนกว่าจะผ่านการพิจารณาของ ครม.
ขณะที่ นายกเทศมนตรีตำบลเวียงพางคำ บอกด้วยว่า การเวนคืนจะมีความกว้าง 40 เมตรในทั้ง 2 ฝั่งประเทศ ไทยและเมียนมา โดยมีกรมโยธาธิการฯ และกรมชลประทานเป็นผู้ดำเนินการ แต่ไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยเฉพาะผู้ที่เสียประโยชน์ ซึ่งหลายคนอาศัยอยู่ในพื้นที่มายาวนาน จึงอยากให้ภาครัฐเข้าไปทำความเข้าใจเพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวล
“จุดยืนคือเพื่อให้ชาวบ้านพึงพอใจ แต่อาจต้องทำความเข้าใจในบางส่วน และยอมรับว่ามีการบุกรุกพื้นที่บางส่วนจริง จึงต้องมีการเยียวยาที่สมประโยชน์กันทั้งชาวบ้านและรัฐ”
ฉัตรชัย ชัยศิริ
สำหรับการจัดหาที่ดินใหม่เพื่อย้ายชาวบ้านนั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งอย่างชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร เทศบาลจึงเน้นให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในเรื่องการอยู่อาศัยและส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
ส่วนความชัดเจนล่าสุดนั้น คาดว่าจะต้องรอการประชุมระหว่างรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากฝั่งประเทศไทยและเมียนมา เพื่อทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกันในการศึกษาและกำหนดแนวทางต่อไป