“เราอยู่ในโลกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน” TDRI แนะแนวทางปรับตัว ยุคโลกเดือด!

ห่วงภาวะโลกรวน ไทยเผชิญ 4 ภัยพิบัติ ท่วมแรง-แล้งหนัก-ร้อนจัด-ทะเลกัดเซาะ ระบุ ผลกระทบเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เสนอ 4 ปรับ เพื่อรับมือ สร้างความได้เปรียบการแข่งขัน อยู่รอดภายใต้วิกฤต

วันนี้ (30 ต.ค. 67) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 โดยนำเสนอผลการศึกษา และทิศทางด้านนโยบาย และมาตรการเตรียมปรับประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจ และสังคมที่สามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 5 หัวข้อ ประกอบด้วย

  1. ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

  2. ช่วยภาคการผลิต…ไม่ติดปัญหาท่วม-แล้ง

  3. สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ

  4. รับมือภัยพิบัติ…จัดการวิกฤตภัยธรรมชาติ

  5. การเงิน-ประกันภัย…ปรับอย่างไรรับโลกรวน ?

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ ระบุในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” บอกว่า ทุกคนบนโลกนี้จะต้องเตรียมตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในโลกที่จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น โดยคาดว่าอุณหภูมิอาจเพิ่มขึ้นระหว่าง 2.7-3.1 องศาเซลเซียส ในปี ค.ศ. 2100 หากประเทศต่าง ๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามความตกลงปารีสที่ได้ประกาศไว้ แต่หากไม่มีการดำเนินการที่เหมาะสม อุณหภูมิของโลกอาจสูงถึง 4-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในระดับ โลกเดือด  

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน ทีดีอาร์ไอ

“พวกเราทุกคนจะอยู่ในโลกใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน เพราะโลกร้อนขึ้น ทำให้น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้น หลายประเทศต้องประสบภัยพิบัติ คนถึง 32 ล้านคนได้กลายเป็นผู้ลี้ภัยภูมิอากาศในปัจจุบัน ในอนาคตจะเกิดความแห้งแล้งจนอาจเกิดความรุนแรงจากการแย่งน้ำกัน ทั้งนี้ประเทศไทยจะเสี่ยงจาก 4 ภัยอันตราย คือ ระดับน้ำทะเลสูงและการกัดเซาะชายฝั่ง การเกิดอุกทกภัย ความแห้งแล้งในระดับที่รุนแรง และการที่หลายพื้นที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างมาก ”

สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

ประธาน ทีดีอาร์ไอ บอกอีกว่า ภาวะโลกรวนส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยผลกระทบหลัก คือ การสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตร สูญเสียผลิตภาพแรงงาน และสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ดังนั้นเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศดังกล่าว ประเทศไทยจะต้องเตรียมการ 4 เรื่องที่สำคัญคือ

  1. การสร้างงานใหม่ทดแทนงานกลางแจ้ง ซึ่งจะไม่สามารถทำได้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะเป็นงานเกษตรกรรม การก่อสร้าง การขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง 

  2. การปรับปรุงสภาพของเมือง เพื่อลดความร้อนและความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย ตลอดจนการรับมือกับน้ำทะเลสูงขึ้นในเมืองริมชายฝั่ง

  3. การพัฒนาระบบจัดการภัยธรรมชาติที่มีประสิทธิผลซึ่งสามารถป้องกันและลดความเสียหาย

  4. การเตรียมเงินทุนเพื่อการปรับตัว โดยทั้งหมดนี้จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มเปราะบางเป็นพิเศษด้วย

“เมื่อเราอยู่ในโลกที่เราไม่เคยเจอมาก่อน เราจะไม่สามารถคิดแบบเดิม ดังนั้นเราควรใช้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกระตุ้นให้เราทำสิ่งที่ควรทำมานาน เช่น ปรับนโยบายต่าง ๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคมเช่น ลงทุนด้านการวิจัย และพัฒนา ปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศและปรับแบบแผนในการใช้ที่ดิน ที่สำคัญคือปรับระบบบริหารประเทศ ซึ่งต้องกระจายอำนาจ และทำงานแบบบูรณาการในการแก้ปัญหา และลงทุนในการพัฒนาความสามารถในการปรับตัวของคนไทย ซึ่งหากประเทศไทยสามารถปรับตัวได้สำเร็จ เราจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อเทียบกับประเทศอื่นซึ่งปรับตัวได้ดีไม่เท่า ทั้งในด้านการผลิตอาหารซึ่งใช้น้ำน้อยแต่สามารถเพิ่มผลิตผลได้ การสร้างซัพพลายเชนของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีความยืดหยุ่นและปล่อยคาร์บอนต่ำ ตลอดจนการพัฒนาท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ซึ่งยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศมากยิ่งขึ้น”

โลกรวน…เสี่ยงสูญเสียผลผลิตการเกษตร
หนุนปรับตัว ‘เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ’

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในหัวข้อ “เร่งภาคการผลิตปรับตัว…รับมือโลกรวน” ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ไทยสูญเสียผลผลิตภาคการเกษตรมากเป็นอันดับ 3 จาก 48 ประเทศ ดังนั้นภาคเกษตรจะต้องปรับตัว โดยยึดแนวคิด เกษตรเท่าทันภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นการปรับตัวเพื่อสร้างความยืดหยุ่น ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มผลผลิต รวมทั้งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ

ตัวอย่างของการปรับตัวตามแนวคิดนี้ในระดับเกษตรกร คือ การกระจายการผลิตโดยปลูกพืชหลากหลายชนิดแบบเกษตรสวนผสม การปรับปฏิทินเพาะปลูกให้สอดคล้องกับภูมิอากาศ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีแบบต่าง ๆ เช่น การใช้น้ำหยด ขณะที่ในระดับนโยบาย ต้องสนับสนุนการทำวิจัยเพื่อปรับปรุงพันธุ์พืชให้ทนแล้ง-ทนน้ำท่วมได้ มีผลผลิตสูงขึ้น และสามารถตอบโจทย์ด้านสุขภาพที่จะทำให้สินค้าเกษตรไทยแข่งขันได้ ซึ่งประโยชน์ของเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ นอกจากจะช่วยลดความเสียหายจากภาวะโลกร้อนได้แล้ว ยังมีโอกาสเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน และยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศ ทำให้เกิดความหลากหลายด้านชีวภาพ  

รศ.นิพนธ์ บอกอีกว่า เกษตรกรไทยมีความจำเป็นต้องมุ่งพัฒนาให้ไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพรวมทั้งเกษตรกรรายใหญ่ หรือรวมตัวกันเป็นเครือข่ายที่สามารถจัดการเชิงธุรกิจได้ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนที่เก่งด้านการตลาด และภาควิชาการ ส่วนเกษตรกรรายเล็กที่ยังเปราะบาง มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวหารายได้นอกภาคเกษตร ดังนั้นนโยบายที่สำคัญจะต้องมีการจ้างงานนอกภาคเกษตรรองรับ รวมทั้งเร่งฝึกทักษะใหม่ ๆ ส่วนการให้เงินอุดหนุนเกษตรกรนั้น จะต้องจูงใจให้เกษตรกรใช้นวัตกรรมเกษตรเท่าทันภูมิอากาศ  

“ระบบการส่งเสริมเกษตรจะต้องเลิกทำแบบเสื้อโหล โดยต้องคำนึงถึงความต้องการที่แตกต่างของเกษตรกรและสภาพภูมิประเทศ มีวิธีการปรับตัวควบคู่กันหลายวิธี ซึ่งจะต้องอาศัยการคิดระบบส่งเสริมแบบ 4 ประสาน คือ เกษตรกร เอกชน วิชาการ และรัฐ ขณะเดียวกันควรลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัล พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับระบบข้อมูลเกษตรและลงทุนปรับปรุงระบบพยากรณ์อากาศ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวที่เหมาะสมให้กับเกษตรกร”

รศ.นิพนธ์ พัวพงศกร

แนะภาคอุตสาหกรรมตั้งรับภัยพิบัติ ย้ายโรงงานออกนอกพื้นที่เสี่ยง
ภาคท่องเที่ยว หันพึ่ง ‘เศรษฐกิจสร้างสรรค์’ ไม่อิงฤดูกาล  

ขณะที่ นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึงภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกันว่า ภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงทั้งภัยน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางอย่างในพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานี จะเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม

นพรุจ จินดาสมบัติเจริญ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ

ดังนั้นจึงควรลดความเสี่ยงด้วยการกระจายพื้นที่อุตสาหกรรม โดยกำหนดโซนนิ่งอุตสาหกรรม ห้ามตั้งโรงงานใหม่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตออกจากพื้นที่เสี่ยง พร้อมทั้งสนับสนุนกระจายการลงทุนและการพัฒนาไปยังพื้นที่นอกเขตภาคกลาง และเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งมีความเสี่ยงจากภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการ และอาจส่งผลให้โรงงานประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับการผลิต ดังนั้นพื้นที่ EEC จำเป็นต้องเพิ่มการใช้น้ำรีไซเคิล และทยอยปรับขึ้นราคาค่าน้ำดิบให้เหมาะสม โดยคิดราคาที่สะท้อนต้นทุน เพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำ

นพรุจ บอกด้วยว่า ขณะที่ภาคท่องเที่ยว ถือเป็นอีกภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยเสี่ยงที่จะสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นอันดับ 1 จาก 48 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากจะมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นและเกิดคลื่นความร้อน นอกจากนี้ยังจะมีการเสื่อมสภาพของทรัพยากรทางทะเล ซึ่งพื้นที่ชายหาดและแนวปะการังของไทยจะลดลงอย่างมากในอนาคต

ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ใน 2 รูปแบบ โดยปรับเวลาท่องเที่ยว ขยายกิจกรรมสู่ช่วงเวลากลางคืนเพื่อหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนจัด และปรับกิจกรรมท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลลดลง เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการใช้ศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพื้นที่ และมุ่งสร้างตลาดดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มธุรกิจไมซ์ (MICE) หรือ การท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะขององค์กรต่าง ๆ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ตลอดปี  

เตือน! เมืองใหญ่ ขาดความพร้อมรับมือภัย
เร่งวางแผน ลงทุนระยะยาว ปรับเมืองให้ยืดหยุ่น  

ส่วน สุเมธ องกิตติกุล รองประธานทีดีอาร์ไอ และผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่ง และโลจิสติกส์ กล่าวในหัวข้อ “สร้างเมืองใหม่…ให้ยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ” ว่า เมืองเป็นพื้นที่ที่มีการกระจุกตัวของประชากร และเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้หลายเมืองทั่วโลกได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น เช่นเดียวกับเมืองในประเทศไทย ที่กำลังเผชิญกับภัยจากความร้อน น้ำท่วม และน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะเมืองหลักอย่าง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีอุณหภูมิสูงขึ้นมาก

สุเมธ องกิตติกุล รองประธาน ทีดีอาร์ไอ

ส่วนปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะนั้น ในเขตบางขุนเทียน ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนผืนดินหายไปถึง 2,735 ไร่ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะอย่างรุนแรงนี้ยังเกิดขึ้นในหลายจังหวัดที่มีชายฝั่งทะเลด้วย โดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่ถูกกัดเซาะไปแล้วกว่า 1 แสนไร่  แม้จะมีความพยายามในการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่ได้ผล  

สุเมธ ระบุด้วยว่า หลายเมืองในประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวกับภัยเหล่านี้ เพราะขาดการวางแผนระยะยาวที่คำนึงถึงความเสี่ยงในอนาคต รวมทั้งขาดการประเมินโครงการที่ใช้ข้อมูลครบถ้วนรอบด้าน อีกทั้งการลงทุนในการตั้งรับปรับตัวยังไม่มากพอ

ทั้งนี้จากการศึกษาการปรับตัวของเมืองต่าง ๆ ในต่างประเทศ พบว่ามีแนวคิดที่สามารถนำมาปรับใช้กับเมืองในประเทศไทยได้ โดยหัวใจสำคัญคือ การวางแผน ประเมิน และลงทุนในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป และให้ความสำคัญกับมาตรการที่สร้างผลประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม  

“มาตรการที่ต้องมีในอนาคตจะต้องไม่ได้มุ่งจัดการความเสี่ยงภัยพิบัติเท่านั้น แต่ควรมุ่งสร้างผลประโยชน์เชิงเศษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไปพร้อมกันด้วย ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเชิงวิศวกรรม การก่อสร้างที่ใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ การเพิ่มสัดส่วนการใช้โครงสร้างพื้นฐานเชิงระบบนิเวศ เช่น พื้นที่สีเขียว และมุ่งสร้าง เมืองฟองน้ำ ที่มุ่งเน้นการจัดการน้ำท่วม โดยใช้บางพื้นที่ช่วยดูดซับและเก็บน้ำฝน รวมทั้งการกำหนดแนวถอยร่นและโยกย้ายสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่เสี่ยง โดยทั้งหมดนี้ต้องดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน บนพื้นฐานของความเข้าใจบริบทเฉพาะของเมือง กลุ่มเปราะบางในเมือง และความสามารถของเมืองในการตั้งรับปรับตัว”

สุเมธ องกิตติกุล

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active