ชาวแม่สาย ขอบคุณทุกภาคส่วนช่วยเหลือฝ่าวิกฤตภัยพิบัติใหญ่ ‘มท.1’ สั่งศึกษาผลกระทบเวนคืนที่ดินริมแม่น้ำสาย มองคุ้มค่าใช้งบฯ 3,000 กว่าล้านแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาวได้ ขณะที่นายกฯ เตรียมหอบรัฐมนตรี ลุย ครม.สัญจรเชียงใหม่-เชียงราย 29 พ.ย. – 1 ธ.ค.นี้
วันนี้ (29 ต.ค. 67) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า เป็นช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนแล้วที่ จิรวัฒน์ นาสังข์ ชาวชุมชนถ้ำผาจม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไม่ได้นั่งกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว หลังต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วม และดินโคลน
จิรวัฒน์ เล่าว่า วันแรกหลังน้ำลดได้กลับมาดูบ้าน ไม่คิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะรุนแรงขนาดนี้ เพราะข้าวของที่คิดว่าจะพ้นน้ำ แต่สุดท้ายกลับเสียหายทั้งหมด จนมาถึงวันนี้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ช่วยกันฟื้นฟูเมืองแม่สาย และนำโคลนออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ ส่งผลให้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวชุมชนถ้ำผาจม ทยอยกลับเข้าบ้าน แม้ว่าบางหลังจะยังไม่มีประตูหน้าต่าง และของใช้ภายในบ้านจะไม่พร้อมมากหนัก แต่การได้กลับเข้ามาอยู่อาศัยภายในบ้านของตนเอง ช่วยสร้างความอบอุ่นใจ และนอนหลับสนิทมากขึ้น
“เดิมคาดการณ์ว่าหลังน้ำลด จะใช้ระยะเวลานานกว่า 3 เดือน ถึงจะฟื้นฟูเมืองแม่สาย แต่ด้วยพลังจากทุกคนที่ร่วมด้วยช่วยกัน ทำให้ฟื้นเมืองแม่สายเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ จนกลายเป็นต้นแบบถ้ำผาจมโมเดล”
จิรวัฒน์ นาสังข์
สำหรับชุมชนวัดถ้ำผาจม ล่าสุดมีชาวบ้านกลับเข้าอยู่อาศัยภายในบ้านได้แล้ว 80 ครอบครัว และมีบ้านเรือนประชาชนอีก 21 หลังที่พังเสียหายทั้งหมดอยู่ระหว่างการช่วยเหลือซ่อมแซม
ขณะที่ ชุมชนไม้ลุงขน ซอย 4 อ.แม่สาย ในระยะเวลาหลังน้ำท่วมผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว จิตอาสาจากสภาพระสังฆราชคาทอลิคแห่งประเทศไทย ยังต้องช่วยกันขุด และขนย้ายดินโคลนออกจากบ้านเรือนของประชาชน
รุ่ง ชาวชุมชนไม้ลุงขน ซอย 4 ขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มาช่วยเหลือฟื้นฟูแม่สาย ให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง แต่ก็รู้สึกใจหายหลังเจ้าหน้าที่เตรียมส่งคืนพื้นที่ เพราะแม้ว่าภายในบ้านจะทำความสะอาดเอาโคลนออกไปหมดแล้ว แต่ก็ยังกลับเข้ามาอยู่อาศัยไม่ได้ เนื่องจากข้าวของเครื่องใช้ลอยไปกับน้ำ บางส่วนที่ยังอยู่ก็จมน้ำพังเสียหาย และยังไม่มีน้ำใช้อุปโภคบริโภค
เช่นเดียวกับ ทิพย์ ชาวชุมชนไม้ลุงขน ซอย 4 ก็ยอมรับว่า เพิ่งเคลียร์โคลนออกจากบ้านได้ เพราะตัวบ้านอยู่ต่ำกว่าผิวถนน เดิมทีโคลนท่วมสูงกว่า 1 เมตร ข้าวของเครื่องใช้ที่เหลือมีเพียงที่นอนและหมอนเท่านั้น ส่วนสภาพบ้านก็ไม่เหมือนเดิม กระจกหน้าต่างแตกร้าว ประตูบ้านพักเสียหายทั้งบาน แต่เธอก็ต้องกลับมาอาศัยอยู่ที่บ้านเพราะต้องส่งลูกไปโรงเรียน
‘อนุทิน’ สั่งศึกษาเขื่อนกันน้ำแม่น้ำสาย อ.แม่สาย
ขณะเดียวกันวันนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความชัดเจนหลังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจะเวนคืนพื้นที่ 40 เมตร บริเวณริมแม่น้ำสาย อ.แม่สาย เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ว่า เรื่องนี้จะไปดูเรื่องของการบุกรุกพื้นที่มากกว่า ว่า จะแก้ไขอย่างไร ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองกำลังไปวางแนวอยู่ โดยการเวนคืนครั้งนี้ ไม่ได้ไปมองถึงเรื่องของการบุกรุกที่ดินเพียงอย่างเดียว แต่กรมโยธาฯ กำลังไปศึกษาการวางแผนงานทำเขื่อนกันน้ำกันดิน ซึ่งจะทำพาดผ่านตามแนว อ.แม่สาย คาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ซึ่งตนมองว่า หากศึกษาดี ๆ โครงการนี้จะคุ้มค่า หากเสีย 3,000 กว่าล้าน แต่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีทีเดียว เพราะทุกวันนี้หากปล่อยเป็นเช่นนี้รัฐบาลเสียเงินมากกว่า 3,000 กว่าล้านบาทอีก และได้แต่เยียวยา ซึ่งปีหน้าก็อาจจะต้องเสียงบฯ อีก
อนุทิน บอกด้วยว่า หลังจากนี้ต้องไปจัดการเรื่องการรุกล้ำพื้นที่ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งต้องไปจัดการให้เรียบร้อย และมีเรื่องการเวนคืนที่ดินด้วย ซึ่งต้องไปสำรวจให้เรียบร้อยก่อน
เมื่อถามว่าการรุกล้ำและการเวนคืนจะมีการเยียวยาหรือไม่ รมว.กระทรวงมหาดไทย บอกว่า การรุกล้ำไม่มีการเยียวยา แต่ต้องแนะนำให้บุคคลเหล่านั้นไปหาที่อยู่ใหม่ ส่วนเรื่องการเวนคืนต้องไปดูว่าหากสามารถแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้ รัฐบาลก็มีความจำเป็นที่ต้องเยียวยา ซึ่งเมื่อวานนี้ (28 ต.ค. 67) ทางกรมโยธาฯ เพิ่งมารายงานผลการศึกษา แต่ตนให้ไปศึกษาเพิ่มเติมว่าจะมีครัวเรือนกี่ครัวเรือน ประชากรกี่คน ธุรกิจกี่อย่าง ซึ่งบริเวณนั้นมีตลาดสายลมจอยอยู่ และเชื่อว่า จะใช้เวลาศึกษาไม่นานแต่จะใช้เวลาของบฯ นาน โดยต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. เนื่องจากเรื่องนี้ใช้งบฯ กลางไม่ได้ เพราะเกิน 1 ปี จึงต้องผลักดันให้ใช้งบฯ ปกติ ซึ่งต้องไปพูดคุยกับ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ด้วย อย่างไรก็ตามตนได้เร่งรัดเรื่องนี้ เพราะถือว่าเป็นปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไขในระยะยาว
สั่ง รองนายกฯ – รมต. ทุกกระทรวง ลุย ครม.สัญจร เชียงใหม่-เชียงราย
ล่าสุด จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นายกรัฐมนตรีได้แจ้งกับที่ประชุม ครม. เพื่อให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีทุกกระทรวง วางแผนล่วงหน้าในการเดินทางไปประชุม ครม.สัญจร เป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และเชียงราย ซึ่งนายกฯ ได้สั่งการให้จัดตารางลงพื้นที่ให้กระจายครอบคลุม อำเภอ และตำบลต่าง ๆ
โดยการประชุม ครม.สัญจร จะมีขึ้นในวันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายนนี้ และนายกฯ จะลงพื้นที่ในวันเสาร์ ที่ 30 พฤศจิกายน ที่ จ.เชียงใหม่ จากนั้นจะลงพื้นที่ จ.เชียงราย ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธันวาคมนี้
Quick Win ฟื้นแม่สาย ส่งไม้ต่อพื้นฟูระยะที่ 2
ก่อนหน้านี้ มีรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วม จ.เชียงราย ที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น 14 อำเภอ 66 ตำบล โดยมี 2 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมีดินโคลนตกค้างในพื้นที่เกินกว่าศักยภาพที่พื้นที่สามารถจัดการได้
โดย ศปช.ส่วนหน้า ระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วน 135 หน่วยงาน มีทรัพยากรและเครื่องจักรกลเข้าร่วมปฏิบัติภารกิจ 1,724 หน่วย และกำลังพล 8,826 นาย ทำให้สามารถปฏิบัติงานฟื้นฟูพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินการในระยะเร่งด่วน (Quick Win) ได้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ศปช. กำหนดแบ่งพื้นที่รับผิดชอบกู้คืนบ้านกว่า 2,300 หลังคาเรือน ฟื้นฟูเส้นทางต่าง ๆ ทั้งสายหลักสายรองกว่า 24 เส้นทาง มอบเงินเยียวยาอีกกว่า 300 ล้านบาท และหลังจากนี้ จะเร่งดูแลเรื่องลำน้ำ, พิจารณาทำเขื่อน, ขุดลอกคูคลอง เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว
ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ย้ำว่า ได้ส่งภารกิจฟื้นเมือง คืนแม่สายให้ท้องถิ่นรับไม้ต่อ พร้อมส่งกำลังใจให้ชาวแม่สายฟื้นฟูระยะ 2 โดยเน้นสร้างความแข็งแรงให้กับโครงสร้างพื้นฐานป้องกันภัยพิบัติในอนาคต ส่งเสริมการท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวหลังน้ำลด
ภูมิธรรม เคยระบุว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมแม่สายระยะยาว จะต้องขุดลอกแม่น้ำสาย โดยเสนอแนวทางให้กองบัญชาการกองทัพไทย กรมสนธิสัญญา และกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับ รัฐบาลเมียนมา หารือผลักดันพื้นที่รุกล้ำของทั้ง 2 ฝ่าย หรือ อาจจะถึงขั้นย้ายเมือง
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า ปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มแม่สายไม่ใช่เรื่องเล็ก และมีหลายปัจจัยที่เป็นตัวเร่ง ทั้งภาวะโลกเดือด, การเปลี่ยนแปลงสภาพป่า, และการวางผังเมือง พร้อมย้ำให้ทุกส่วนช่วยกันสำรวจ และสร้างความเข้าใจร่วมกัน
ขณะที่ ประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานสำรวจและออกแบบการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง และการขุดลอกในแม่น้ำสาย-แม่น้ำรวก ขณะนี้ได้เริ่มออกสำรวจพื้นที่แล้ว โดยมีแนวคิดว่า จะกันพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำสายออกมาประมาณ 40 เมตร เพื่อก่อสร้างแนวกั้นตลิ่งและให้น้ำระบายได้สะดวกขึ้น
คณะทำงานจากหลายส่วน เช่น นายอำเภอแม่สาย, ธนารักษ์, ที่ดินจังหวัด, ป่าไม้, ชลประทาน และเจ้าท่า รวมถึงคณะทำความเข้าใจ กับ ผู้ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้าง หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ในปีหน้า (ปี 2568)