ประเมินปีนี้ ‘ภัยพิบัติ’ ภาคใต้ ของจริง! เผชิญภาวะ ‘สังคมเสี่ยงภัย’ ตลอดฤดูฝน 3 เดือน

หวั่นน้ำท่วม-น้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม เสนอรัฐหนุนชุมชนเสี่ยงภัยซ้อมรับมือ เร่งใช้ข้อมูลภาครัฐแจ้งเตือนแม่นยำให้ชาวบ้าน-ท้องถิ่นเข้าถึงได้ง่าย เตรียมพร้อมแจ้งเตือนล่วงหน้า พร้อมแผนจัดการภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม ลดความสูญเสีย

เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 67 ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง เวที Policy Forum ครั้งที่ 23 เตรียมพร้อม “ภาคใต้”  รับมือภัยพิบัติ เน้นโจทย์สำคัญเพื่อประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติในช่วงฤดูฝนที่จะมาถึง ว่า ภาคใต้ปีนี้หนักแค่ไหน ? จะต้องหนีเมื่อไร ? หนีอย่างไร ? และหนีไปไหน ? เมื่อภัยพิบัติมาถึงตัว

โดยเป็นเวทีที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมคุย จากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้ง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย, มูลนิธิชุมชนไท, เครือข่ายจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), มหาวิทยาลัยทักษิณ, สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี และ เขต 12 สงขลา, สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน), ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ, สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ภาคใต้ ปีนี้หนัก! เสี่ยง น้ำท่วมฉับพลัน-น้ำหลาก-ดินโคลนถล่ม

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี และสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) บอกว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะลานีญา และเข้าสู่ลานีญาสูงสุดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูมรสุมภาคใต้ฝั่งตะวันออก ภาคใต้ปีนี้ จึงมีสถานการณ์ที่ค่อนข้างจะต้องเฝ้าระวังพิเศษ เพราะจะมีฝนเยอะ โดยต้องเฝ้าระวังฝนตกจาก 4 พฤติกรรม หรือ 4 ปัจจัย  คือ

  • ร่องมรสุม ที่จะแช่ตัวที่ภาคใต้ เปรียบเทียบที่ก่อนหน้านี้เห็นร่องมรสุมแช่ตัวทางภาคเหนือค่อนข้างยาวนาน จึงชัดเจนว่ามีแนวโน้มร่องมรสุมแช่ตัวที่ภาคใต้

  • ทุกครั้งที่ประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาว ลมหนาวพัดมา และจะพัดผ่านทะเล จะหอบความชื้นมาด้วย มีแนวโน้มค่อยฝนข้างแรงและมาบ่อย

  • ทุกครั้งที่ทีมรสุมเคลื่อนตัวเข้ามา จะมีกระแสลมพัดไปปะทะเกาะบอเนียว หมุนตัวพัฒนาหย่อมความกดอากาศต่ำ กลายเป็นมินิพายุ

  • ยังมีปัจจัยการก่อตัวพายุในทะเลแปซิฟิกค่อนข้างบ่อย และ 2-3 ลูกที่เข้ามามีอิทธิพลกับประเทศไทยตอนบน อย่างพายุซูริกที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย  โดยการก่อตัวนี้ยังก่อตัวอยู่ และเห็นก่อตัวเรื่อย ๆ หากก่อตัวในช่วง 3 เดือนนี้ ก็จะเคลื่อนพายุมาทางภาคใต้
วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสน.

“อยากเน้นย้ำพื้นที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช ลงมาถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ เพราะตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาฝนมากกว่าปกติ ตกต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ดินอิ่มตัวแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าพื้นที่อื่น เช่น จ.ชุมพร, สุราษฎร์ธานี จะไม่ต้องเฝ้าระวัง เพราะแค่มีหย่อมความกดอากาศต่ำเข้ามา ก็พลิกสถานการณ์ได้ทันที รวมทั้งภาคใต้ฝั่นตะวันตก ภูเก็ต, พังงา ยังต้องเฝ้าระวังด้วย”

วรรธนศักดิ์ สุปะกิ่ง

ผอ.ฝ่ายส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สสน. ยังย้ำเตือนประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพิเศษ เพราะจากการที่ฝนตกหนัก น้ำหลากปีที่แล้ว สิ่งกีดขวาง หรือสัมปสิทธิ์ทางหน้าดินหายไป เมื่อฝนตกลงมาก็ทำให้ท่วมหลากง่ายมากขึ้น ดังนั้นการประเมินสถานการ์ต้องประเมินกรณีสูงสุด หรือ worst case scenario ดังนั้นการเตรียมการจะทำให้ความเสียหายความสูญเสียลดน้อยลง

สุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ระบุถึงสาเหตุดินถล่ม มีอยู่ 2 ปัจจัย ทั้งเรื่องภูมิอากาศ ความแปรปรวน แต่อีกปัจจัยที่เป็นฐานสำคัญ คือ ดินที่อยู่ในพื้นที่นั้น เป็นตัวเร่งที่ทำให้ เมื่อไรที่มีฝน ดินโคลนจะถล่ม

สำหรับพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม 1. เป็นพื้นที่ซ้ำ หรือพื้นที่เคยเกิดดินถล่มมาแล้ว 2. ปัจจัยทางธรณีวิทยา ซึ่งพื้นที่เสี่ยง คือพื้นที่หินแกรนิต เพราะมีแร่ดิน เมื่อโดนน้ำจะบวม จะขยายตัวและอุ้มน้ำ เป็นปัจจัยว่าตรงไหนที่มีหินแกรนิต ก็จะเสี่ยงดินถล่ม

สุวภาคย์ อิ่มสมุทร รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี

“อย่างพื้นที่ภูเก็ตที่เพิ่งถล่มไป ที่ อ.เบตง จ.ยะลา ทั้งหมดตรงนี้เสี่ยงมาก ๆ เพราะเป็นหินแกรนิต เทือกเขาสันกาลาคีรี และเทือกเขาหลวงทั้งลูกก็หินแกรนิต อาจไม่ใช่พื้นที่ทั้งหมด 100 % แต่เป็นการแจ้งให้รับทราบ ว่า โซนที่อยู่เป็นพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ จุดเสี่ยงสำคัญง่าย ๆ คือ เคยเกิดดินถล่มมาก่อน ก็จะเกิดซ้ำ เช่น ร่อนพิบูลย์, นบพิตำ,   นราธิวาส พูดง่าย ๆ 3 จังหวัดชายแดนใต้เสี่ยงมาก ถ้าฝนตกหนัก คือ พินาศทั้งสิ้น”

สุวภาคย์ อิ่มสมุทร

เวลานี้สิ่งที่กรมทรัพยากรทางธรณีทำเพื่อช่วยเหลือประชาชน ในการแจ้งเตือน คือ แผนที่พื้นที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินถล่ม พร้อมบอกระดับความเสี่ยง และมีแผนที่เจาะในระดับชุมชน โดยมีพื้นที่เสี่ยงภาคใต้  14 จังหวัด 531 ตำบล และระดับชุมชน

“ผมเสียดายมากเลย แผนที่ที่ผมทำ ทำทั้งภาคเหนือภาคใต้ ตรงและแม่นมาก อย่างในพื้นที่ปางช้าง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พื้นที่ที่โดนถล่มพอดี คือมีการทำแผนที่เตือนได้ตรงจุด แต่เสียดายไม่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อแจ้งเตือนประชาชน”

สุวภาคย์ อิ่มสมุทร

ข้อมูลแจ้งเตือนแม่นยำ แต่ชาวบ้าน-ชุมชน กลับเข้าไม่ถึง ?

ด้าน ชาวบ้าน ซึ่งเป็นอาสาสมัครศูนย์เตือนภัยพิบัติชุมชนชายแดนใต้ เมื่อได้ฟังข้อมูลจากการประเมินสถานการณ์ภัยพิบัติ รวมทั้งแผนที่เสี่ยงดินถล่มนี้ มองว่า เป็นชุดข้อมูลที่ดีมาก ๆ มีข้อมูลถึงระดับชุมชนชัดเจน ตนในฐานะต้องเฝ้าระวังเตือนภัย ต้องการข้อมูลนี้ ประกอบกับข้อมูลเรดาร์ และระดับน้ำจากชลมารคของ สสน.

แต่เมื่อประชาชนร้องขอข้อมูลนี้ ซึ่งอยู่ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เมื่อไปขอข้อมูลบอกว่าอยู่ที่ ปภ.จังหวัด และไม่สามารถที่จะส่งมอบให้คนที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่ใช่ราชการได้ นี่จึงเป็นข้อจำกัด

“ถ้าข้อมูลดี ๆ แบบนี้ ไปอยู่ที่ อบต. ซึ่งมีหัวหน้าชุด อปพร. หรือ นายก อบต. ที่สามารถบัญชาการ บอกกับเครือข่ายแจ้งเตือนประชาชนว่าต้องระวัง หรือต้องย้ายนะ อันนี้จะเป็นประโชน์มาก คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไร ให้ข้อมูลเหล่านี้ลงไปที่ท้องถิ่น รวมถึงทำอย่างไรให้ชุมชนพื้นที่เสี่ยงมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการรับมือภัยพิบัติ”

ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยมีแล้ว แต่จะหนีเมื่อไร ? หนีอย่างไร ? หนีไปไหน ?

ขณะที่ โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช เชื่อมั่นว่า การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่น ตัวหลักที่ต้องตัดสินใจคือชุมชน เพราะหากไม่เร่งเราก็ตาย เพราะหน่วยงานไม่ได้อยู่ หรือเวลาเกิดภัยพิบัติเข้าพื้นที่ไม่ได้ ชุมชนต้องอยู่ให้รอดให้ได้ 

โกเมศร์ ทองบุญชู เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติจังหวัดนครศรีธรรมราช

ดังนั้นการมีแผนรับมือ ตั้งแต่การทำแผนที่ชุมชน จำนวนประชากร กลุ่มคนเปราะบางที่ต้องอพยพก่อน ไปจนถึงการวางพื้นที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่สูงเพื่อใช้เป็นจุดอพอพของชุมชน ที่เชื่อมการส่งต่อการรักษา รพสต. ไปจนถึงการทำครัวกลาง และการซักซ้อมแผนเผชิญเหตุปีละ 3 ครั้ง ถือเป็นหัวใจสำคัญของการรับมือ เมื่อเกิดภัยพิบัติ ที่สำคัญอย่าติดข้อจำกัดระเบียบข้อกฎหมาย ในเวลาที่เผชิญเหตุภัยพิบัติ ชุมชนสามารถที่จะวางแผนและบัญชาการเหตุการณ์ได้เองก่อน

“ปัญหาสำคัญตอนนี้ คือชุมชนที่เป็นชุมชนเข้มแข็ง ผ่านการฝึกซ้อมแผนรับมือ หรือเป็นเครือข่ายจัดการภัยพิบัติ 60 ชุมชน หรือ 10% ของภาคใต้ แต่พื้นที่เสี่ยงมีทั้งหมด 531 ตำบล  ดังอยากจะฝากทุกหน่วยงานว่า ชุมชนไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ พัฒนาทักษะ จริง ๆ หลักสูตร ปภ.ก็ดีนะ แต่ปี ๆ นึงอนุมัติงบฯ แค่ 20 ชุมชน ประเทศไทยมีอยู่กว่า 20,000 ชุมชน”

โกเมศร์ ทองบุญชู

ขอรัฐหนุนงบฯ แผนรับมือจัดการภัยพิบัติแบบมีส่วนร่วม

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท มองว่า ตอนนี้มักจะยัดทุกอย่างไปที่ชุมชน แต่ตนกลับมองว่าต้องพลิกใหม่ ว่าใครจะเข้าไปทำให้ชุมชนเติบโตเข้มแข็ง นี่เป็นคำถาม เพราะในกฎหมายไม่ไม่ได้เขียนว่า ปภ. มีหน้าที่ส่งเสริมชุมชนในการจัดทำระบบมือภัยพิบัติ มีแค่โครงการจัดการภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน หรือ CBDRM ซึ่งรัฐบาลในบางปีให้แค่ 6 ชุมชน ในขณะที่พื้นเสี่ยงภัยทั่วประเทศมากกว่า 40,000 หมู่บ้าน ดังนั้นจึงมีศูนย์ป้องกันบรรเทาสาธารณภัยแค่ไม่กี่ชุมชน จึงต้องคุยเรื่องนี้ในทางนโยบายด้วย

ไมตรี จงไกรจักร์ ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท

“คือรัฐบาลให้งบฯ ปภ.มา เป็นงบฯ ให้ชุมชนเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ ให้มาชุมชนละ 30,000 บาท แต่หลายปีมาแล้วที่ให้มาแค่  6 ชุมชน หรือ ไม่เกิน 10 ชุมชนเท่านั้น”

ไมตรี จงไกรจักร์

ด้าน ณีชนนท์ สนประเสริฐ ผอ.ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 12 จ.สงขลา ยอมรับว่า เรื่องจัดสรรงบประมาณก็ขึ้นอยู่ที่รัฐบาลนั้น ๆ ว่าให้ความสำคัญกับเรื่องไหน แต่ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ก็ให้ ปภ.จังหวัด เสนองบฯ ยุทธศาสตร์จังหวัดเข้าไป หรืองบฯ ยุทธศาสตร์ขององค์กรปกครองท้องถิ่น ก็สามารถตั้งงบประมาณสนับสนุนในหลายจังหวัด

ข้อเสนอรับมือ ‘สังคมเสี่ยงภัย’ ภาคใต้

ขณะเดียวกัน รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ยอมรับจากข้อมูลที่ได้ตอกย้ำชัดเจนว่าภาคใต้กำลังเข้าสู่ “สังคมเสี่ยงภัย” หรือ ภัยพิบัติเต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ ดังนั้นเฉพาะหน้า มีความเห็นว่า

รศ.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
  1. จะทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และเป็นข้อมูลที่ถูกส่งต่อจากหน่วยงาน และกลไกที่เกี่ยวข้องได้ โดยไม่ต้องร้องขอ ไม่ต้องทำหนังสือถึง ทำอย่างไรให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสาธารณะ ที่ทำความเข้าใจได้ง่ายที่สุด

  2. ความรู้ในการรับมือภัยพิบัติ ซึ่งเป็นความรู้ 2 ระดับ คือ ระดับปัจเจกบุคคล ทำอย่างไรให้รู้ว่าเมื่อเกิดภัยพิบัติต่าง ๆ จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรให้ถูกต้อง และ ความรู้ระดับกลุ่ม หรือ ชุมชน ครอบครัว คือ ปัญญารวมหมู่ การจัดการเมื่อภัยมาจะง่ายมากขึ้น โดยมีการเชื่อมหรือส่งต่อความรู้จากชุมชนหนึ่งไปยังชุมชนหนึ่ง

  3. ระบบปฏิบัติการเพื่อรับมือภัยพิบัติ ทั้งก่อน ระหว่างเผชิญเหตุ ชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่เสี่ยง จะใช้กลไกไหน ท้องที่ท้องถิ่น หรือต้องมีกลไกเข้าไปเชื่อมร้อยกระบวนการทำงาน ซึ่งเข้าใจว่ากลไกแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน  ส่วนที่ 2 คือ มีเครื่องมือ ทั้ง hardware พวกอุปกรณ์พื้นฐานต่าง ๆ เสื้อชูชีพ เชือก เรือ และ software ความรู้เครื่องมือเตือนภัย จุดอพยพ จุดพักพิงต่าง ๆ รวมถึงทรัพยากรอื่น ๆ ที่จำเป็น พร้อมวางกลไกเชื่อมต่อภายนอก ที่จะให้การช่วยเหลือ ทั้ง รัฐและเอกชน

  4. ต้องมีหน่วยเคลื่อนที่เร็ว hotline รวดเร็ว ผ่านความเป็นเครือข่าย ระดมอาสาสมัครเข้ามา  ผลักดันให้เกิดนโยบายการแก้ไขปัญหา หรือ ที่เกี่ยวข้องภัยพิบัติ ทั้งนโยบายท้องถิ่น ระดับจังหวัด เพราะจังหวัดมีงบประมาณมหาศาล แล้วทั้งหมดนี้ผลักสู่นโยบายชาติ คือขยับฐานนโยบายให้กว้างขึ้น ทำให้เกิดนโยบายจัดการรับมือภัยพิบัติ ก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ

  5. ภัยพิบัติเกี่ยวข้องหรือยึดโยงสถานการณ์ปัญหาโครงสร้างอื่น ๆ ด้วย เช่น คอนแทคฟาร์ม การสร้างเขื่อน หรือโครงสร้างพื้นฐานที่ขาดการมีส่วนร่วม จึงต้องมีกระบวนการพูดคุยกันในพื้นที่ ทบทวนนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น

สอดคล้องกับ รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านดินถล่ม ศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ม.เกษตรศาสตร์ ยกตัวอย่างทิ้งท้ายว่า เรื่องภัยพิบัติ ไม่เหมือนเราโยนลูกบอล แล้วจะค่อย ๆ ลดการกระเด้งลง แต่มันต้องเหมือนการเล่นบาส เคาะไปเรื่อย ๆ เบา ๆ สิ่งที่มีผลทำให้กระเด้งขึ้นลง เพราะการเมือง โดยการเมืองเกี่ยวข้องกับงบประมาณ ซึ่งตัดการเมืองออกไม่ได้ ดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความมั่นคงกับการกระเด้งของลูกบอล

“ภาคประชาสังคม ภาคเครือข่าย สสส. สช. มารวมกันให้ตัวใหญ่ และคุยกับการเมือง เพื่อวางนโยบายการสนับสนุนที่ตอบโจทย์ เพราะสิ่งที่เราเห็นวันนี้ ถ้าเราพร้อมกันขนาดนี้ ก็สามารถจัดการลดผลกระทบได้ และเห็นแล้วว่าภัยพิบัติแรงขึ้น แต่ความเสียหายก็ลดน้อยลงด้วยการจัดการรับมือ จึงเชื่อมั่นการสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติแบบนี้ และใน 10-20 ข้างหน้าจะดีกว่านี้ “

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active