เปิดแล้ว! ศูนย์จัดการน้ำส่วนหน้าฯ รับมือภัยพิบัติชายแดนใต้

เดินหน้าวิเคราะห์ คาดการณ์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำ เตือนภัย พื้นที่เสี่ยงภาคใต้ หลังคาดว่าปีนี้ สถานการณ์หนักกว่าที่ผ่านมา

วันนี้ ( 22 ต.ค. 67) สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานน้ำแห่งชาติ (สนทช.) เปิด ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ โดยใช้สถานที่ในการดำเนินการที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จ.ยะลา โดยเป็นครั้งแรกของการมีศูนย์ฯ ลักษณะนี้

โดยศูนย์ฯ นี้ตั้งขึ้นภายหลัง ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะกรรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ กนช. ตั้งอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำขึ้นมา และมีมติให้ตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) โดยมอบหมายให้รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เป็นประธานคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) เนื่องจากมีการคาดการณ์สภาพอากาศภาคใต้ มีแนวโน้มปริมาณฝนค่อนข้างมาก จึงมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดน้ำป่าหลาก น้ำท่วมฉับพลัน ดินโคลนถล่ม

โดยเป้าหมายและบทบาทหน้าที่สำคัญ ในการติดตามและประสานแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินการตามมาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567, บูรณาการ เชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคาดการณ์และวิเคราะห์สภาพอากาศ ปริมาณน้ำในลำน้ำ แหล่งเก็บกักน้ำ พื้นที่น้ำหลาก และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้, อำนวยการ บูรณาการ ติดตาม และตรวจสอบการบริหารจัดการน้ำ และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก ดิน โคลนถล่มและอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยจะเป็นการบริหารจัดการน้ำร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชนและเครือข่ายภาคประชาชน

“ไม่ว่าจะเป็น พื้นที่เสี่ยง มีการชี้เป้า ในการที่จะจัดศูนย์พักพิงชั่วคราวให้ สอดรับกับพื้นที่เสี่ยงเหล่านั้นด้วย ก็จะมีการวิเคราะห์ในส่วนนั้น และก็เป็นการกำหนดนโยบาย กำหนดมาตรการ ตลอดจนในเรื่องของกาที่จะมีการประสานหน่วยงานต่างๆในเรื่องการจัดเตรียม เครื่องไม้เครื่องมือในการที่จะรองรับ ในการดำเนินการช่วยเหลือ รับมือในเรื่องของฤดูฝนที่จะมาในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มที่“

สุรสีห์ กิตติมณฑล

พร้อมทั้ง ทำหน้าที่วิเคราะห์และประเมินสภาพอากาศ สถานการณ์ฝน สถานการณ์น้ำ เพื่อสนับสนุนข้อมูลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับ กนช. และศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามหลักวิชาการที่เหมาะสมต่อ กนช.

จากนั้น เลขาธิการ สนทช. ได้เดินทางไปประชุมและรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา พร้อมทั้งย้ำถึงเหตุผลสำคัญของการที่ตั้งศูนย์ฯ จ.ยะลา เพราะประเมินแล้วว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนจำนวนมาก และปีที่แล้วก็ประสบเหตุน้ำท่วมหนักมาก

เลขาธิการ สนทช. บอกอีกว่า จ.ยะลา มีเขื่อนบางลาง ที่เป็นเขื่อนสำคัญในพื้นที่นี้ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลางก็ต้องสอดรับกับระดับน้ำ ปริมาณน้ำในแม่น้ำปัตตานี ในแต่ละจุดที่ระบายน้ำจากเขื่อนบางลางไป ตรงนี้ต้องดูให้เกิดความสัมพันธ์กัน เพราะจะมีอิทธิพลในเรื่องน้ำทะเลหนุนด้วย ในส่วนนี้จึงมีความจำเป็นสำคัญอย่างยิ่ง

“ในเรื่องการระบายน้ำจึงมีความจำเป็นให้สัมพันธ์ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน บริเวณท้ายเขื่อน ณ วันนี้ เขื่อนบางลางได้มีการลดการระบายลงเหลือวันละ 14 ล้าน ลบ.ม./วัน จากเดิมระบาย 16 ล้าน ลบ.ม./วัน เนื่องจากมีการประเมินสถานการณ์ในเรื่องของการคาดการณ์ ว่า ปริมาณฝนที่จะลงมาที่เขื่อนบางลาง มีปริมาณแนวโน้มค่อนข้างที่จะมาก โดยเฉพาะเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป จึงจำเป็นที่จะพร่องน้ำในเขื่อนบางลางออกไปก่อนที่จะรับปริมาณฝนปริมาณน้ำชุดใหม่ แต่ย้ำว่าอยู่บนหลักการระบายที่จะต้องไม่ส่งผล กระทบกับพี่น้องประชาชน“

สุรสีห์ กิตติมณฑล

เลขาธิการ สทนช. ย้ำด้วยว่า พื้นที่ภาคใต้ จังหวัดอื่น ๆ ก็ยังคงดูแลและใช้กลไกศูนย์ฯ ส่วนหน้า ที่ จ.ยะลา เป็นส่วนกลาง เชื่อมโยงไปในส่วนของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ทุกลุ่มน้ำในพื้นที่ภาคใต้ เป็นการทำงานร่วมกันในการดูแลพี่น้องประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active