“นบพิตำ” พร้อมรับมือ ภัยพิบัติน้ำป่าไหลหลาก คาดฝนตกหนัก พ.ย.-ธ.ค.

อาศัยกลไกทำงานร่วม ระหว่าง เจ้าหน้าที่รัฐ พระสงฆ์ ประชาชน นำบทเรียนน้ำป่าไหลหลากครั้งใหญ่ปี 2559 มาเป็นต้นแบบ สู่ การวางแผนรับบมือ

วันนี้ (20 ต.ค. 2567) The Active ลงพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทุกภัยจากน้ำป่าไหลหลาก ซึ่งในอดีตเมื่อปี 2559 เคยเกิดภัยพิบัติครั้งใหญ่ที่เกิดความสูญเสียอย่างมาก แต่นับตั้งแต่นั้นมาพื้นที่เกิดการเรียนรู้ เข้าใจ กลไล ของธรรมชาติ ที่นำมาสู่การเตรียมพร้อมเพื่อรับมืออยู่เสมอ

พระครูภัทรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเขาเหล็ก

พระครูภัทรธรรมาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดภูเขาเหล็ก อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า น้ำป่าไหลหลากเมื่อปี 2559 เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้ง เดือนมีนาคม ซึ่งขณะนั้นทั้งหน่วยงานภาครัฐ และชาวบ้าน กำลังทำแผนรับมมือภัยแล้งอยู่ แต่เมื่อวันที่ 12 มี.ค. จนถึงวันที่ 24 มี.ค. กลับมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ทำให้สะพานขาดไป 7 จุด ปริมาณน้ำฝนที่วัดได้ 300 มิลลิเมตร ทำให้ดินอุ้มน้ำไม่ไหว เกิดเหตุการณ์ดินสไลด์ น้ำป่าไหลหลาก ผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก หลังภัยครั้งใหญ่ในปีนั้น ทำให้ชาวบ้านเกิดความตระหนักรู้ได้ว่า พื้นที่แห่งนี้มีโอกาสที่จะเกิดได้อีก นำมาสู่การสร้างเครือข่ายตั้งแต่ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ และจังหวัด 

พระครูภัทรธรรมาภรณ์ ระบุว่า วัดเป็นหนึ่งกลไกสำคัญ ที่คอยเตือนภัย ให้ความช่วยเหลือประชาชน และยังเป็นหน่วยที่เชื่อมประสานชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ มีการติดตั้งเสาวิทยุ สำนักสงฆ์ป่าประนิมิต ซึ่งเป็น “ส่วนหน้า” ในการทำหน้าที่แจ้งเตือนภัยพิบัติ โดยผู้นำชุมชนในแต่ละบ้านต้องคอยเตรียมพร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสาร และพยายามสื่อสารให้ชาวบ้านเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการเตรียมเอกสารสำคัญไว้ในที่ปลอดภัย เตรียมอาหารจำเป็น และการอพยพย้ายออกจากพื้นที่

แก้มลิง ที่ขุดขึ้นบริเวณวัดภูเขาเหล็ก

“ปี 2559 เป็นบาดแผลของคนที่นี่ ตอนนั้นผู้คนเสียชีวิตลอยมาข้างวัดตรงนี้ นี่คือร่องรอยความทรงจำ หลังจากนั้นอาตมาได้ขุดแก้มลิงเอาไว้ เพื่อชะลอการไหลของน้ำลงไปสู่ชุมชนด้วย”

ระครูภัทรธรรมาภรณ์
พระสาโรจน์ ปัญญาวโร เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าประนิมิต

พระสาโรจน์ ปัญญาวโร เจ้าอาวาสสำนักสงฆ์ป่าประนิมิต ซึ่งสำนักสงฆ์แห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านทับน้ำเต้า ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ พระสาโรจน์ กล่าวว่า หมู่บ้านแห่งนี้มีบ้านเรือนราว 600 หลังคาเรือน เป็นหมู่บ้านใหญ่ ซึ่งสำนักสงฆ์ทำหน้าที่เป็นทั้งด่านหน้าในการเฝ้าระวังและเตือนภัย รวมถึงเป็นจุดอพยพ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ หลังเหตุการณ์เมื่อปี 2559 สำนักสงฆ์ ได้รับเงินบริจาคของชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธาร่วมสร้าง ที่พักไว้สำหรับรับรองผู้ที่ ประสบอุทกภัย และได้มีผู้บริจาคสร้างเสาวิทยุ ซึ่งใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เนื่องจากในอดีตการสื่อสารทำได้ยากลำบาก ยังไม่มี LINE แบบปัจจุบันนี้ โดยวิทยุจะใช้รับข้อมูลข่าวสารจากทางอำเภอ และ ใช้ในการสื่อสารกับชาวบ้านในบริเวณที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งจะมีวิทยุสื่อสารอยู่ตามกลุ่มหมู่บ้าน เมื่อได้รับแจ้งก็จะเกิดการเตรียมความพร้อม 

อย่างไรก็ตาม พระสาโรจน์ มองว่าน่าเป็นห่วงว่าถ้าฝนตกปริมาณใกล้เคียงกับปี 2559 จะทำให้เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากว่าในอดีตพื้นที่บนภูเขาเป็นป่ายาง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสวนทุเรียน เนื่องจากสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านดีกว่า ซึ่งสวนยางจะสามารถอุ้มน้ำได้ดีกว่าต้นทุเรียน

การก่อสร้างสะพานในพื้นที่หมู่บ้านทับน้ำเต้า ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

ขณะที่ปัจจุบันในพื้นที่ได้มีการการสร้างสะพานบริเวณทางคลองซึ่งเป็นทางไหลผ่านของน้ำในหลาย ๆ จุด เพื่อให้เกิดความแข็งแรงมากขึ้นเมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลาก จะได้ไม่พังเสียหาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าพื้นที่ให้การช่วยเหลือ หรือการย้ายคนออกจากพื้นที่

ด้าน วิลาวัลย์ สาครสูงเนิน ชาวบ้านทับน้ำเต้า หมู่ที่ 8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ. นครศรีธรรมราช กล่าวว่า พึ่งตัดสินใจ ออกจากงานที่กรุงเทพฯ มาปลูกบ้านอยู่ในพื้นที่ เมื่อไม่นานมานี้ แม้จะทราบดีว่าในพื้นที่เป็นจุดเสี่ยงภัยพิบัติ และเคยได้รับทราบข่าวช่วงปี 2559 ว่าบริเวณนี้เจอน้ำป่าไหลหลาก ที่พื้นที่ถูกตัดขาดจากข้างนอก แต่ต้องมาอยู่เพราะว่าต้องเฝ้าสวน และได้วางแผนไว้ว่า ในช่วงฤดูน้ำหลาก คือ เดือน พ.ย. ถึง ธ.ค. หรือหากได้รับการแจ้งเตือน ว่าฝนตกหนัก จะออกไปอยู่ข้างนอก ซึ่งเป็นบ้านอีกหลังที่ปลอดภัยกว่า ส่วนบ้านก็คงต้องปล่อยไว้ให้เป็นไปตามธรรมชาติ

วิลาวัลย์ สาครสูงเนิน ชาวบ้านทับน้ำเต้า

“ก่อนสร้างบ้านตรงนี้ก็เตรียมใจเอาไว้แล้ว โดยขยับพื้นที่บ้านออกห่างจากห้วย และปลูกแบบยกสูง เพื่อให้น้ำสามารถไหลผ่านได้ ส่วนคนก็คงต้องอพยพไปอยู่ข้างนอกก่อน”

วิลาวัลย์ สาครสูงเนิน

ขณะที่ สายัน กิจมะโน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครศรีธรรมราช เผยว่า ทางอำเภอนบพิตำ ได้ปฏิบัติการซ้อมแผนรับมือกับชาวบ้านไปก่อนหน้านี้ ส่วนข้อกังวลของพื้นที่ อ.นบพิตก คือ น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชัน แต่น้ำจะไม่ท่วมขัง เป็นลักษณะมาเร็วไปเร็ว แต่ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมามีฝนตกเพียงเล็กน้อย ถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าเป็นห่วง อีกทั้งพื้นที่รับน้ำยังรับได้อยู่

“ช่วงนี้ฝนตก ๆ หยุด ๆ ไม่ค่อยน่าห่วง และพื้นที่รับน้ำยังสามารถรับน้ำได้อยู่ ซึ่งมีหลายส่วน อย่างโซนลุ่มน้ำปากพะนัง ชะอวด เชียงใหญ่ หัวไทร เป็นพื้นที่รับน้ำ ซึ่งผมได้ลงพื้นที่ไป ยังไม่มีน้ำเลย ชาวบ้านเองก็ยังต้องการน้ำอยู่ช่วงนี้ เพราะยังไม่ถึงช่วงหน้าฝนของทางภาคใต้ คือ ประมาณเดือน พ.ย. เพราะมรสุมเข้ามาทางนี้”

สายัน กิจมะโน

สายัน กล่าวอีกว่า ทางจังหวัดแจ้งเตือนอยู่ตลอด ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงนี้ก็มีการแจ้งเตือนว่าจะมีฝนตกหนัก น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งชาวบ้านเองเขาก็จะรู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เพราะเขาอยู่ในพื้นที่เสี่ยง แต่ยอมรับว่าหากภัยพิบัติรุนแรงแบบที่ จ.เชียงราย อาจจะเกินกำลังที่ชาวบบ้านรับไหว แต่ได้เตรียมพร้อมจุดอพยพไว้เรียบร้อยแล้ว

“ความรุนแรงของภัย เราไม่สามารถรู้ได้ว่าจะแรงแค่ไหน แต่ชาวบ้านเขารู้ เขาพร้อมที่จะรับมือ เพราะเขาเคยเจอ แต่ถ้ารุนแรงแบบที่เชียงราย ก็จะเกินจากที่ชาวบ้านเขาคาดไว้ แต่ก็ต้องดูองค์ประกอบหลายเรื่อง แต่เราก็เตรียมพร้อมไว้หมดแล้ว จุดอพยพ ทางอำเภอเตรียมไว้แล้ว ในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยง ชาวบ้านก็พร้อมที่จะออกมาอยู่ในที่ปลอดภัยที่เราเตรียมไว้”

สายัน กิจมะโน

นอกจากนี้ ทาง จ.นครศรี​ธรรมราช​ได้ประกาศแจ้ง​เตือน​ประชาชน เฝ้าระวัง ฝนตกหนัก​ น้ำท่วม​ฉับพลัน​น้ำป่า​ไหลหลาก​ น้ำท่วมขัง ดินถล่ม และคลื่นลมแรง ในพื้นที่ อ.เมืองนครศรีธรรมราช อ.ปากพนัง​ อ.เฉลิม​พระ​เกียรติ​ อ.พระพรหม​ อ.ร่อนพิบูลย์​ อ.จุฬา​ภรณ์​ อ.ขนอม อ.ทุ่งสง อ.สิชล อ.นบพิตำ​ อ.ท่าศาลา​ อ.พรหมคีรี​ อ.ลานสกา​ อ.เชียรใหญ่​ อ.ชะอวด และ อ.หัวไทร​ ระหว่าง​วันที่ 19 -​ 23 ต.ค. 2567 ชาวเรือ เพิ่ม​ความระมัดระวัง​ในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยง​การเดินเรือบริเวณ​ที่มีฝนฟ้าคะนอง​

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active